สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่

เชียงใหม่ / สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หรือที่เรียกกันว่า โครงการหลวง ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ภายในสถานีฯ มีแปลงปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งไม้ดอกและไม้ผล และพืช ผัก ชนิดต่างๆ ผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดจะเป็นสตอเบอร์รี่พันธุ์ 80 ปลูกที่แปลงขั้นบันได เป็นแปลงที่เห็นวิวสวย ได้ผลผลิตที่มีรสชาติดี รสหวาน

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาวบนดอยอ่างขาง ยอดดอยที่ขึ้นชื่อว่าหนาวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และมาชมดอกไม้ในโครงการหลวง ดอกนางพญาเสือโคร่ง ภายในโครงการหลวงจะแบ่งเป็นแปลงต้นไม้แยกแต่ละชนิด เช่น สวน 80 เป็นสวนดอกไม้, สวนไผ่, สวนคำดอย, สวนหอม, สวนกุหลาบ, แปลงไม้ผล, สวนบอนไซ ฯลฯ การเข้าชมภายในโครงการหลวงดอยอ่างขาง ควรจะมีรถ เพราะภายในมีพื้นที่กว้าง

ประวัติดอยอ่างขาง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขา ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำการตัดไม้ ทำลายแหล่งน้ำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก

จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวง หรือ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดิน และไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ทำการวิจัยปลูกพืชเมืองหนาว และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเพาะปลูกพืชเมืองหนาว ทำงานในโครงการหลวง หลังจากนั้นมา ชาวบ้านก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าก็น้อยลง จนป่าฟื้นฟูจากภูเขาหัวโล้นกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของภาคเหนือ

สถานที่ท่องเที่ยวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สวน 80

เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวตั้งอยู่ใจกลางสถานีเกษตรฯ เป็นแหล่งรวบรวมไม้ดอกเมืองหนาวปลูกลงบนแปลงไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และยังมีต้นซากุระจากญี่ปุ่นให้ชื่นชมอีกด้วยซึ่งซึ่งออกดอกสวยงาม ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ส่วนไม้ดอกเมืองหนาวที่ปลูกลงบนแปลงชนิดอื่นมีการปลูกสับเปลี่ยนกันตลอด เพื่อให้มีดอกสวยงามตลอดทั้งปี

สวนไผ่

ตั้งอยู่ระหว่างทางก่อนขับรถไปถึงสโมสร ในสวนจะรวบรวมไผ่หลายชนิดจัดแสดงไว้ให้ชม

สวนคำดอย

เป็นสวนรวบรวมพันธุ์ไม้ตระกูลโรโดเดนดรอน สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในและจากต่างประเทศ และจะจัดเปลี่ยนไม้ดอกไม้ประดับ ประกอบเฉพาะบางส่วน ตามฤดูกาล

สวนหอม

รวบรวมพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมจากส่วนต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น หอมหมื่นลี้ มะโฮเนีย มิชิเลีย วิสทีเรีย ลาเวนเดอร์ เจอราเนียมเพลาโกเนียม ไวโอล่า นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรอีกด้วย

กุหลาบอังกฤษ

เป็นกุหลาบที่นำพันธุ์มาจากประเทศอังกฤษทั้งหมดเป็นพันธุ์ที่ปลูกประดับสวน 240 สายพันธุ์ 258 ต้น จะออกดอกสวยมากที่สุด ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี

แปลงไม้ผล

เป็นไม้ผลเขตหนาวที่ปลูกในสถานีฯ อ่างขาง ได้แก่ สตรอเบอรี่ กีวี บ๊วย พี้ช พลัม บูลเบอรี่ สาลี่ พลับ ซึ่งในการปลูกไม้ผลในพื้นที่ต่างๆ ของโครงการหลวง และเป็นที่ถ่ายละครเรื่องธรณีนี่นี้ใครครอง

โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว

เป็นที่รวบรวมพันธุ์ผักเขตหนาวต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีใหม่ และเป็นส่วนของการจัดแสดงงาน ด้านผักเขตหนาวให้ นักศึกษาฝึกงาน คณะเยี่ยมชมงาน นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปให้ได้เข้าชม และด้านหลังโรงเรือนจะจัดแสดงวิธีการปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิกส์ (ปลูกพืชในสารละลาย)

สวนบอนไซ

เป็นสวนที่จัดแสดงพันธุ์ไม้ในรูปแบบของบอนไซ ภายในสวนบอนไซอ่างขางได้จัดแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนจัดแสดงบอนไซไม้เมืองหนาว, โดมอนุรักษ์พันธุ์พืชภูเขาเขตร้อน , กลุ่มพืชทนแล้ง , พันธุ์ไม้ต่างถิ่น , สวนหินธรรมชาติ สวนบอนไซแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายจากการประกวดบอนไซ

แปลงสาธิตไม้ดอก

แปลงนี้จะอยู่หน้าโครงการหลวงติดบ้านคุ้ม ใกล้กับทางเข้า จะปลูกดอกไม้กลางแจ้งหลากหลายชนิด ซึ่งจะปลูกลงดินและแขวนเป็นกระเช้าตามฤดูกาล ในช่วงฤดูหนาวจะลงต้นไม้หลังจากที่ฝนหมดแล้ว จากตำแหน่งแปลงสาธิตดอกไม้จะมองเห็นวิวรอบๆ วิวภูเขาได้ไกล

เรือนดอกไม้

เป็นเรือนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไว้ตามฤดูกาล เช่น กล้วยไม้ซิมบิเดียม , กล้วยไม้รองเท้านารี , ดอกโคมญี่ปุ่น , ไม้ดอกกระถางตามฤดูกาล , ไม้ดอกตามฤดูกาลกลางแจ้ง และพืชกินแมลง พร้อมจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนได้ตามฤดูกาลที่ออกดอกตลอดทั้งปี ภายในโรงเรือนยังมีจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของทางสถานีไม่ว่าจะเป็น แบบแปรรูป หรือ ผักผลไม้สด และยังมีกาแฟสด จำหน่ายโดยใช้เมล็ดกาแฟจากทางโครงการหลวง

สวนสมเด็จ

อยู่ข้างกับสโมสรอ่างขาง เป็นสวนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยอ่างขาง และหลังจากเสร็จภาระกิจการทรงงานแล้วจะทรงเสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถใน สวนแห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อว่าสวนสมเด็จ ในสวนจะรวบรวมพันธุ์ไม้ประเภทฝิ่นประดับ ดอกป๊อปปี้ และ ไม้ประเภทไม้เมืองหนาวชนิดต่างๆ

สโมสรอ่างขาง

เป็นสถานที่พักผ่อนของเจ้าหน้าที่โครงการหลวง มีร้านกาแฟ จำหน่ายโปสการ์ด และร้านอาหารให้กับนักท่องเที่ยว เมนูขึ้นชื่อได้แก่ สลัดอ่างขาง ขาหมูหมั่นโถว ถั่วแดงกรอบยูนนาน

เปิดให้บริการ 7.30 น. – 22.00 น. ทุกวัน

แผนที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย) จากเวบไซต์ www.angkhangstation.com

การเข้าชม
เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-16.30 น.
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี, ช่วงปลายธันวาคมมีดอกนางพญาเสือโคร่งบาน และ มีแม่คะนิ้ง (น้ำค้างเป็นน้ำแข็ง) ในบางวัน
ค่าเข้าชม

  • คนละ 50 บาท
  • รถคันละ 50 บาท

พักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางไม่เสียค่าเข้า

ที่ตั้ง – ติดต่อสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ที่อยู่ :
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ. เชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์ : 053 450-107 – 9, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานีฯ อ่างขาง 053 450-077
เวบไซต์ : www.angkhangstation.com
ที่พักภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

ภาพบ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจากเวบ www.angkhangstation.com

** บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป โดยยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการ **

มีหอประชุม ที่พักหลายแบบไว้บริการนักท่องเที่ยว และมีที่กางเต็นท์ ในเดือนธันวาคม – มกราคม ที่พักจะเต็มเร็วมาก แนะนำให้จองล่วงหน้า 4-6 เดือน แต่ถ้าไม่สามารถจองที่พักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้ทัน แนะนำให้จองที่บ้านคุ้ม หน้าทางเข้าสถานี โดยดูรายชื่อที่พักจากในหน้านี้ ที่พักดอยอ่างขาง

ติดต่อจองบ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง : www.angkhangstation.com

รีวิวบ้านพัก สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

การเดินทาง
รถยนต์ : 1.ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงชัน

2.ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน

รถโดยสาร : จากจังหวัดเชียงใหม่มายังปากทางขึ้นดอยอ่างขาง สามารถไปขึ้นรถได้ที่

คิวรถช้างเผือก มีทั้งรถตู้ (ราคา 150 บาท) และรถบัสคันใหญ่ (ราคา 85 บาท) พิเศษตรงที่ ทางขึ้นอ่างขาง กม. 137 มีรถคิวสองแถว บริการ รับ-ส่ง นักท่องเที่ยวที่ไม่ขับรถขึ้นดอยเอง
รถคิวปากทางอ่างขาง (วัดหาดสำราญ)

แผนที่ดอยอ่างขาง

Post Views 8051

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *