เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ชมฟาร์มเกษตร และวัฒนธรรมอีสาน

ข่าวประชาสัมพันธ์. จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ 2013 เปิดให้เข้าชมแล้ว ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2556 ถึง 12 มกราคม 2557 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00 น.

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาทีมงาน Emagtravel เราไปเที่ยวกันที่นครราชสีมา ที่ จิม ทอมป์สันฟาร์ม เป็นฟาร์มเกษตรที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวอีสานเข้าด้วยกัน ฟาร์มแห่งนี้เปิดให้เข้าชมเพียงปีละครั้ง ในปีนี้เปิดให้เข้าชมในช่วง 18 ธันวาคม 2553 – 9 มกราคม 2554

การเดินทางนั้นสามารถมาทางถนน 304 วังน้ำเขียว หรือถนนมิตรภาพก็ได้ ถ้ามาทางถนนมิตรภาพก็จะผ่านเขื่อนลำตะคอง ที่ตั้งของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จะอยู่ใกล้ๆ กับตัวอำเภอปักธงชัย เราไปเที่ยวกันวันที่ 2 มกราคม เส้นทางที่ไปแทบจะไม่มีรถนักท่องเที่ยวเลย แต่พอมาถึงก็ต้องแปลกใจเพราะมีรถจอดอยู่เยอะมาก

ที่หน้าทางเข้าจะมีกระหล่ำประดับ และต้นไม้ตัวอักษรคำว่า “JIM THOMSON FARM” พร้อมแล้วก็ไปซื้อตั๋วเข้าชมกันครับ

ราคาตั๋วเข้าชม

– เด็ก 50 บาท

– ผู้ใหญ่ 80 บาท

ราคาตั๋วรวมค่ารถชมในฟาร์ม ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมอะไรเพิ่มอีกแล้ว

ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมตัวขึ้นรถกันครับ

ในรถนำเที่ยวจะมีพนักงานบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับฟาร์ม

เมื่อรถแล่นไปได้นิดเดียวก็ผ่านทุ่งปอเทือง เหลืองอร่ามสวยงามมากครับ

เลยไปอีกนิดก็เจอกับทุ่งทานตะวันที่สวยงามไม่แพ้ทุ่งปอเทือง

รถนำเที่ยวพาเรามาส่งที่ จุดที่ 2 ทุ่งทานตะวันและลานฟักทอง

ที่เห็นในรูปด้านบนเป็นผลงานศิลปะและเวิร์คชอปจากศิลปินในโครงการ “Jim Thomson Art on Farm

ฟักทองนับร้อย นับพันบนก้อนกองฟาง ลูกใหญ่มากครับ ไม่เคยเห็นขายตามท้องตลาดมาก่อน เหมือนเป็นฟักทองที่ฝรั่งใช้ประดับงาน Halloween

ลองเปรียบเทียบขนาดเทียบกับคนดูครับ ใหญ่จริงๆ

ตรงนี้เป็นภูเขาฟักทองยักษ์ ถ่ายรูปได้เต็มที่ แต่ห้ามนั่งทับนะครับ

จากป้ายด้านบนเราจะไปเที่ยวต่อที่หมู่บ้านอีสาน ต้องเดินผ่านทุ่งคอสมอสทางขวา และทุ่งทานตะวันทางซ้าย

ทางซ้ายเต็มไปด้วยทานตะวันทั้งทุ่งเหลืองไปหมด

ทางขวามีดอกคอสมอส (Cosmos) หรือ ดอกดาวกระจาย บานเป็นสีชมพูทั้งทุ่ง แม้วันนี้แดดจะแรงมากแต่นักท่องเที่ยวก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่ และมีวิวด้านหลังเป็นภูเขา

ระหว่างทางเห็นดอกดอกคอสมอสสวยๆ เลยขอถ่ายรูปไว้หน่อย

มาถึงแล้วครับ บ้านอีสาน พอยืนบนบ้านมองลงมาจะเห็นทุ่งคอสมอส และทุ่งทานตะวัน มีแนวภูเขาเป็น background ด้านหลัง

ผมขึ้นไปดูบนบ้าน ภายในบ้าน เป็นบ้านโล่งๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ มีเพียงภาพเขียนสีน้ำติดใส่กรอบอยู่ตามฝาผนังบ้าน

เรามาอยู่ จุดที่ 3 หมู่บ้านอีสานและหมู่บ้านศิลปิน

ในโซนนี้่จะได้สัมผัสบรรยากาศอีสาน ทุ่งนาตั้งแต่เขียวๆ จนเห็นเป็นรวงข้าวสีทอง เป็นการปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์

คอกบุญหลาย ในคอกมีควายที่อ้วนท้วน สมบูรณ์มาก

หุ่นไล่กาที่นี่ใส่เสื้อจิม ทอมป์สัน ซะด้วย

นาข้าวสีทองกับบ้านไม้สไตล์อีสาน ให้ความรู้สึกเป็นอีสานแท้ๆ

รวงข้าว น่าจะได้เวลาเก็บเกี่ยวแล้ว

เดินผ่านทุ่งนามาถึงบ้าน ในบ้านแต่ละหลังจะมีผลงานศิลปะอยู่

ที่ใต้ถุนบ้านพบ “เสวียนข้าว” อยู่ เสวียนข้าวนั้นเป็นที่เก็บข้าวเหมือนกับยุ้ง เพียงแต่ว่าเป็นที่เก็บของคนที่มีข้าวไม่เยอะ หรือเบื้ยน้อย หอยน้อย ประมาณนั้นแหล่ะครับ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ส่วนสูงก็น่าจะประมาณ 2 เมตรเช่นเดียวกัน สร้างมาจากไม้ไผ่สาน ภายในยาด้วยขี้วัว ขี้ควายเพื่ออุดช่องโหว่

สาธิตทำเครื่องปั้นดินเผา

มุมนี้เป็นที่ขายโปสการ์ดภาพถ่ายในจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ราคาใบละ 20 บาท รวมแสตมป์ เขียนเสร็จมีตู้ให้หย่อนได้เลยครับ

เดินดูกันเพลินๆ ครับ มาเจอคู่นี้เป่าแคนกับเล่นเครื่องสายได้อย่างสนุก เป็นการแสดงสดๆ เลย

ที่ใต้ถุนบ้านหลังนี้ เห็นไทยมุงยืนดูอะไรอยู่ต้องขอเข้าไปดูบ้างแล้ว

เห็นคุณน้าท่านนี้กำลังต้มไหมอยู่ ได้เป็นเส้นใยเล็กๆ จากรังดักแด้

ท่าทางน่าสนใจ เลยเข้าไปดูวัฎจักรไหมตั้งแต่เริ่มแรก ตั้งแต่ยังเป็นระยะไข่ จนถึงระยะผีเสื้อ

1. ระยะไข่ ตัวอ่อนจะเจริญเติบโต และพัฒนาเป็นตัวหนอน ใช้เวลา 10 – 22 วัน

2.ระยะหนอน หนอนไหมกินอาหาร (ใบหม่อน) ในระยะนี้เท่านั้น ช่วงนี้จะโตเร็วมาก เป็นระยะเวลาเจริญเติบโตในวงจรชีวิต ระยะหนอนแบ่งออกเป็น 5 วัย หนอนไหมมีอายุ 20 – 21 วัน

ก่อนที่จะเป็นดักแด้จะโตประมาณนี้ครับ เป็นหนอนสีขาว ตัวเกลี้ยงดูสะอาดดี

หนอนที่โตเต็มที่ จะเข้าไปจองช่องในจ่อเพื่อเข้าทำรังดักแด้

3. ระยะดักแด้ เป็นระยะฟักตัวในวงจรชีวิต มีระยะเวลา 10 – 12 วัน จากนั้นจะพัฒนาเป็นผีเสือ ในระยะนี้จะมีดักแด้ส่วนใหญ่ถูกคัดไปทำไหม และส่วนน้อยก็จะเป็นผีเสื้อ

4. ระยะผีเสื้อ ระยะนี้เป็นระยะผสมพันธุ์ ของไหมผีเสื้อ ในระยะนี้จะไม่กินอาหาร ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึง 400 – 500 ฟอง

มาถึงตรงนี้เป็นขั้นตอนการทำเส้นใยไหม พี่คนนี้เคี้ยวหมาก นุ่งโสร่งด้วย ไม่แน่ใจว่าไทยอีสาน หรือพม่ากันแน่

ใบหม่อน อาหารของหนอนไหม

นอกจากมีการสาธิตการทำไหมแล้ว ยังมีของเล่นพื้นบ้าน เช่นที่เดินบนท่อนไม้ไผ่ ผมไม่กล้าไปลองเล่นครับ กลัวล้มลงมา

มีบ้านอยู่ 4-5 หลังให้ได้ชมกันเพลินๆ

รูปด้านบนน่าจะเป็นผีตาโขน

กว่าจะชมหมู่บ้านอีสานเสร็จก็เกือบชั่วโมง แต่ไม่รู้สึกว่านาน ได้เดินดูศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นของชาวอีสาน รู้สึกว่าภาคอีสานก็มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรมไม่แพ้ภาคอื่น

เรารอรถนำเที่ยวมารับ เพื่อไปต่อยังจุดสุดท้าย หรือจุดที่ 4 สวนไม้ดอก และตลาดจิม ทอมป์สัน

ในโซนนี้จะประดับไปด้วยดอกไม้สีสวยสด บางต้นก็เป็นไม้เมืองหนาว เคยเห็นปลูกที่ดอยตุงแต่วันนี้มาบานที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

ใครที่ต้องการซื้อของกลับไปเป็นที่ระลึก หรือเป็นของฝากให้เพื่อนฝูง ในจุดที่ 4 มีที่ขายของหลายอย่าง เช่นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผักปลอดสารพิษ ฟักทอง แตง น้ำผึ้งดอกลำไย น้ำลูกหม่อน ผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอม ทั้งหมดนี้เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกใน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

เมล็ดพันธุ์ฟักทองยักษ์ ก็มีขายด้วยนะครับ ผมเองก็ซื้อกลับไปว่าจะไปลองปลูกที่เชียงราย ถ้าได้เรื่องอย่างไรจะถ่ายรูปมาให้ดูอีกครั้งครับ

ถ่ายรูปคู่กับฟักทองยักษ์ การันตีว่าลูกใหญ่จริงๆ

น้ำผึ้งน้ำจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ขวดละ 80 บาท

สวนดอกไม้ใน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

รูปด้านบนเป็นการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน หรือที่เรียกกันว่า “ไฮโดรโพนิคส์” (hydroponics) ปลูกอยู่ในราง ผักที่ปลูกจะเป็นตระกูลผักกาด ผักสลัด

ถ้าใครสนใจกระบวนการผลิตผ้าไหม ก็มีให้ดูทุกขั้นตอนครับ

กระเป๋าผ้าลวดลายสวย เน้นดีไซน์, ผ้าพันคอ, เสื้อยืด เลือกซื้อกันได้เต็มที่ครับ

ใครที่ตังค์ไม่พอซื้อของ มีบริการตู้ ATM เคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย มาให้บริการ

เราเดินชมใน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม กันครบทั้ง 4 จุด ประมาณ 3 ชั่วโมง รู้สึกเต็มอิ่มกับความสวยงามในฟาร์ม และได้ความรู้ทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าชอบมาก ไม่เสียดายเลยที่ขับรถไป – กลับ จากเขาใหญ่ถึง 200 กิโลเมตรเพื่อมา จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม โดยเฉพาะ แต่น่าเสียดายที่ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เปิดให้เข้าชมเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครมีโอกาสอยากให้มาลองเที่ยวกันเยอะๆ ครับ ทริปนี้จบรีวิวเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ 🙂

Jim Thompson Farm Weekend

สำหรับท่านที่มาไม่ทันในช่วงเปิดฟาร์ม 18 ธันวาคม 2553 – 9 มกราคม 2554 ทางจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ได้ขยายเวลาเปิดในวันเสาร์และอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2554 ตั้งแต่เวลา 9.00 ? 17.00 น. ราคาบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ท่านละ 50 บาท เด็ก ท่านละ 30 บาท

ดื่มด่ำกับบรรยากาศของธรรมชาติ ดอกไม้ และพืชนานาพันธุ์ ชมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และกระบวนการทอผ้าไหม เรียนรู้วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมฉบับอีสานดั้งเดิม ลิ้มรสชาติอาหารอีสานเลิศรส เพลิดเพลินกับผลงานศิลปะจากเหล่าศิลปินมากฝีมือในโครงการ ?Art on Farm? ปิดท้ายด้วยการช้อปปิ้ง ผัก ผลไม้ สดๆ และผลิตภัณฑ์จิม ทอมป์สันในราคาพิเศษสุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร: 02-762-2566, 085-660-7336, 044-373-116
E-mail: farmtour@jimthompsonfarm.com

การเดินทางมา จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

1. จากกรุงเทพไปสระบุรี
เมื่อถึงชุมทางต่างระดับสีคิ้ว (ระยะทาง 214 กม.) ให้ขับชิดซ้ายเข้าช่องเดินรถทางไป อ.โชคชัย (ทางหลวงหมายเลข 24) จนถึงสี่แยกบริเวณร้านอาหารตอไม้ (ระยะทาง 12 กม.) จึงเลี้ยวขวาไปตามถนนมะเกลือใหม่ – บะใหญ่ ผ่าน บ.หนองไม้ตาย ร.ร. วังรางวิทยา บ.บุตาสง สถานีอนามัยบ้านน้ำซับ ฟาร์มโคนม จนถึงคลองชลประทานให้เลี้ยวซ้ายผ่านเทศบาลตำบลตะขบ เมื่อถึงสี่แยกบ้านตะขบให้เลี้ยวซ้ายข้ามคลอง ชลประทานอีกครั้ง ขับไปตามถนน 2072 อีก 1 กม. จนถึงจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม (ระยะทางจากร้านตอไม้ถึงจิม ทอมป์สัน ฟาร์มประมาณ 30 กม.)

2. จากกรุงเทพผ่านฉะเชิงเทรา กบินทร์บุรี วังน้ำเขียว
ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 เป็นระยะทาง 280 กม. ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 2072 ผ่านคลังน้ำมันระยองเพียว เทคนิคปักธงชัยและโรงเรียนบ้านปลายดาบจนถึงสี่แยกจุดตัดกับถนนเลียบคลองชล ประทาน จึงข้ามคลองชลประทาน และตรงไปตามถนน 2072 ผ่านโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จิม ทอมป์สัน ฟาร์มจะอยู่ขวามือ (เป็นระยะทางประมาณ 20 กม.)

3. การเดินทางจาก อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา
จากนครราชสีมาถึง อ. ปักธงชัยเป็นระยะทาง 32 กม. โดยเริ่มจากใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ตรงไปถึงสี่แยกลำพระเพลิง ให้เลี้ยวขวาตามเส้นทางไปเขื่อนลำพระเพลิง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) จนถึงสี่แยกจุดตัดกับถนน 2072 จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองชลประทาน ผ่านโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จนถึง จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เป็นระยะทางประมาณ 20 กม.

แผนที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

น้ำผุด ปากช่อง The Smoke House Primo posto a cup of love
Dairy Home จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สวนน้าชาติ

Post Views 5149

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *