ย้อนรอยละครวนิดา ที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี

หลังจากที่ละครวนิดาจบลงไปแล้วนั้นผมว่าหลายคนคงอยากจะรู้ว่า อาคารสีเหลืองที่เป็นที่บ้านพันตรี ประจักษ์นั้นคือที่ไหน วันนี้ผมจะพาไปย้อนรอยละครวนิดา ที่ จ.ปราจีนบุรีครับ อาคารสีเหลืองที่ว่านี้คือ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สำหรับการเดินทางนั้นก็ไม่ยากครับ ไปตามป้ายเข้าเมืองปราจีนบุรี จากนั้นก็ใช้ถนนปราจีนอนุสรณ์ (ทางหลวง 3069) ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะอยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เลี้ยวรถเข้าไปจอดด้านในได้เลยครับ

ไม่เสียค่าจอดรถและไม่เสียค่าเข้าชม

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ เป็นสถาปัตยกรรมตึกสองชั้นแบบยุโรปสมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก

บานหน้าต่างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัวในปี พ.ศ. 2452 โดยว่าจ้างบริษัทโฮวาร์ดเออร์สกินเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง เพื่อถวายเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จประพาสมณฑลปราจีนอีกครั้ง แต่ไม่ทันได้เสด็จประทับพระองค์ก็เสด็จสวรรคตก่อน เมื่อ พ.ศ.2453

อย่างไรก็ตามที่นี่เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2455 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ คราเสด็จมณฑลปราจีนบุรี

โดยที่ท่านเจ้าของตึกนี้ไม่เคยใช้ที่นี่เป็นที่พำนักส่วนตัวเลย ตึกนี้เคยใช้เป็นตึกอำนวยการ ชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยาและห้องผ่าตัด ชั้นบน ทำหน้าที่รับคนไข้หญิง จนถึงปี พ.ศ.2512 ที่ตึกอำนวยการหลังปัจจุบันเสร็จ

ปี พ.ศ.2533 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถาน และได้มีการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2539? โดยจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ของท้องถิ่น

เข้าไปดูด้านในตึกกันครับ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมี 2 ชั้น

ชั้นล่าง จัดแสดงประวัติตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตำนานหมอหลวง การแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านและตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์แผนไทย เช่น ตู้ยา หินฝนยา หินชนวน มีดหมอ ชั้นบน จัดแสดงสมุดข่อย หนังสือและตำรายา หินบดยาในอดีตสมัยทวารวดี

ห้องนี้จะเป็นร้านขายยาไทย โพธิ์เงินโอสถ ตรานางกินนร จริงๆ แล้วสมุนไพรหรือยา อยู่ใกล้ตัวเรามากครับ พวกพืช ผัก เขาสัตว์ หรือกระดองเต่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ทั้งนั้น

ด้านล่างเป็นยาดองครับ เอาแมงป่องมาดอง งูเขียวเอย งูเห่าเอย เค้าเอาใส่ขวดไปได้ยังไงก็ไม่รู้

ผมเชื่อว่าบางคนยอมป่วยดีกว่ากินน้ำงูเขียวดอง

ซ้าย. เครื่องบดยา ขวา. หม้อต้มยา

ซ้าย. ตู้นิรภัยหลังแรกของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขวา. นาฬิกาไม้เก่า

ถ้าอยากรู้ประวัติความเป็นมาของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยืนอ่านได้ที่มุมนี้เลยครับ จากที่ผมอ่านมาตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีอายุครบ 100 ปีเมื่อ พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา

หลังจากที่อ่านเสร็จแล้ว เราจะไปชมกันต่อที่ชั้น 2

ชั้นบนไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่ ผมคิดว่าบางคนคงไม่ทราบว่าขึ้นไปยังชั้นบนได้ ในอดีตชั้น 2 เป็นห้องคนไข้หญิงครับ

ปัจจุบันตกแต่งให้ดูโบราณ และเป็นที่เก็บตำรายา ดูจากเนื้อกระดาษแล้วเก่าแก่มาก

รูปด้านล่างเป็นตู้เก็บตำรายา บางตำราห่อใส่กล่องมีผ้าคลุมอย่างดี ไม่ให้โดนแสง

เดินชมในส่วนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไม่นานก็หมด สำหรับใครที่ต้องการซื้อสินค้าสมุนไพร ติดไม้ติดมือเป็นของฝากหรือไว้ใช้เองให้เดินมาทางโรงพยาบาลครับ จะมีร้านขายสินค้าสมุนไพร อภัยภูเบศร

ก่อนที่จะลงบันไดมาถึงชั้นล่างมีมุมให้ถ่ายรูปส่องลงมายังชั้นล่าง ตึกนี้สวยงามทุกรายละเอียดจริงๆครับ ตั้งแต่เพดาน ขอบปูนครึ่งวงกลม ขอบหน้าต่าง

หลังจากได้มาชมตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเสร็จ รู้สึกว่าได้อะไรกลับไปเยอะเลยทั้งความรู้ด้านสมุนไพร ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ได้ชมมรดกของชาติที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี แต่ยังคงสภาพเดิม ถ้ามีโอกาสอย่าลืมมาเที่ยวกันนะครับ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : โทร. 0 3721 1088 ต่อ 3166 หรือ 0 3721 6164

เวลาให้บริการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น

ค่าเข้าชม : ไม่มี

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ มาทางถนนวิภาวดีรังสิตจนถึงทางแยกตรงห้างฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ให้วิ่งไปทางนครนายก (ดูป้ายบอกทาง) วิ่งถนน 305 ไปเรื่อยๆ จะผ่านองครักษ์ และเลี้ยงขวาที่แยกนครนายก ไปตามทางหลวงหมายเลข 33 และเลี้ยวขวาอีกครั้งที่ทางหลวงหมายเลข 319 หรือถ้าอาศัยดูป้ายบอกทางให้ไปตามทางไปปราจีนบุรี ก่อนจะถึงปราจีนบุรีให้เลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำ มายังทางหลวงหมายเลข 3069 จากนั้นตรงมาเรื่อยๆ จะเจอตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอยู่ทางขวามือ รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 135 กิโลเมตร

แผนที่ไปตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คลิกที่แผนที่เพื่อขยาย

แผนที่ไปตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คลิกที่แผนที่เพื่อขยาย


Post Views 1900

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

4 thoughts on “ย้อนรอยละครวนิดา ที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี

  • June 18, 2013 at 7:27 pm
    Permalink

    ขออนุญาตนำไปการทำรายงานนะค่ะ^_^

  • June 18, 2013 at 11:09 pm
    Permalink

    ตอบคุณ กะทิแตงไทย

    ยินดีครับ ^^

  • August 8, 2013 at 8:32 pm
    Permalink

    พี่คะ มีโรงแรมไหนใกล้ตึกเจ้าพระยาไหมคะ พอดีว่าจะไปเที่ยวอ่ะค่ะ

  • August 8, 2013 at 10:50 pm
    Permalink

    ตอบคุณ เกี่ยวก้อยจัง

    โรงแรมแถวนั้นไม่ทราบเลยครับ คิดว่าน่าจะไปนอนตัวเมืองปราจีนฯ นะครับ อยู่ไกลจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประมาณ 3 กม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *