อุทยานแห่งชาติลานสาง ตาก
อุทยานแห่งชาติลานสาง บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ ห่างจากตัวจังหวัดตากประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่ 65,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 1511 สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ แล้วลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออก มีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม
ป่าในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ หมูป่า เก้ง เต่าปูลู เลียงผา ชะมด นกปรอดเหลืองหัวจุก จิ้งก่าบิน เป็นต้น
ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา สมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่ และพลัดหลงกับกองทัพ ประจวบกับเป็นเวลากลางคืน และสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพัก ขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรีบพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบ ขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ?ลานสาง?
สถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้ายังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริเวณน้ำตกลานสาง และที่บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
น้ำตกผาลาด เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นเนินหิน ไหลลดหลั่นลงมาสลับซับซ้อนกันเป็นลานหินกว้าง มีความลาดชันเล็กน้อย มีความกว้าง 15 เมตร ยาว 40 เมตร กระแสน้ำของลำห้วยลานสางที่ไหลบ่าไปตามแผ่นหินรวมตัวไหลลงสู่แอ่งเล็ก ๆ
น้ำตกลานเลี้ยงม้า (ชั้นที่ 1) อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกผาลาด 100 เมตร มีลักษณะเป็นเนินหินเตี้ย ๆ ตรงกลางเว้าเป็นช่องว่าง กว้างประมาณ 6 เมตร กระแสน้ำที่ไหลมาตามลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงเนินหินเตี้ย ๆ น้ำจะไหลเข้ามาตามช่องหินสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง น้ำตกชั้นนี้มีความสูงประมาณ 5 เมตร
น้ำตกลานสาง (ชั้นที่ 1) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 100 เมตร เป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปมากที่สุด มีความสูงประมาณ 40 เมตร น้ำตกไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำ และไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า
น้ำตกผาเงิน (ชั้นที่ 3) เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยผาเงิบ น้ำจากห้วยผาเงิบจะไหลลงสู่ห้วยลานสางบริเวณใกล้ ๆ กับน้ำตกลานสาง น้ำตกผาเงิบมีความสูง 19 เมตร จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝน และฤดูหนาว ความงามของน้ำตกอยู่ที่ผาเงิบ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันเป็นหลืบเหลี่ยม บางตอนมีหินงอก และหินย้อย
น้ำตกผาผึ้ง (ชั้นที่ 4) อยู่สูงขึ้นไปตามซอกเขา ห่างจากน้ำตกลานสาง 750 เมตร เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบ มีความลาดชันประมาณ 70 องศา สูง 30 เมตร ลำห้วยลานสางเมื่อไหลมาถึงยอดน้ำตกจะไหลบ่าแผ่กระจายเป็นละอองฝอยสีขาวไปตามหน้าผาลดหลั่นลงมาตามชั้นหินเล็ก ๆ เป็นบริเวณกว้างลงสู่แอ่งน้ำตก
น้ำตกผาเท อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วย ห่างจากน้ำตกผาผึ้ง 1.1 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ผ่านลำห้วยลานสาง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่มีสภาพป่าและชนิดของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกัน น้ำตกผาเทเป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีลักษณะเป็นหน้าผามีความชัน สูง 15 เมตร เมื่อน้ำห้วยลานสางไหลตามซอกด้วยความเร็วมาถึงยอดหน้าผาซึ่งเป็นท้องน้ำตกที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะพุ่งพ้นยอดผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างด้วยความแรงจนน้ำกระจายเป็นฝอยทำให้เกิดเสียงดังครืน ๆ ได้ยินแต่ไกล
น้ำตกผาน้ำย้อย เป็นน้ำตกที่ไหลผ่านช่องแคบ ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ สู่แอ่งน้ำที่กว้าง และมีความลึกมาก
น้ำตกท่าเลย์ เป็นน้ำตกที่มีลักษณะลาดชันไหลลดหลั่นลงมาจากหน้าผา มีความสูง 50 เมตร
จุดชมวิว อุทยานฯ มีจุดชมวิวอยู่บนยอดเขาน้อยสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองตากได้ โดยมีทางขึ้นบริเวณศาลเจ้าพ่อข้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท ชาวต่างประเทศ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพัก 3 หลัง ราคาหลังละ 500-1,500 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าสถานที่กางเต็นท์ ราคา 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติลานสาง ตู้ ปณ. 8 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 โทร. 0 5551 9178-9 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 1561 0760 www.dnp.go.th
การเดินทาง จากตัวเมืองตากใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ห่างจากตัวเมือง 19 กิโลเมตร ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 11-13 เลี้ยวซ้ายไป 3 กิโลเมตร จะถึงบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทาง สามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-ตาก มาลงที่สถานีขนส่งในอำเภอเมือง แล้วต่อรถตู้สายตาก-แม่สอด ลงที่ปากทางเข้าอุทยานฯ และเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 430 กิโลเมตร
ที่มา. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Post Views 1787