คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ จวนผู้ว่า
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เป็น 1 ใน 2 คุ้ม ของจังหวัดแพร่ ที่มีความสวยงาม (อีกคุ้มที่สวยงามคือคุ้มวงศ์บุรี) ในอดีตเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารสีเขียวโอ่โถง มีประตู และหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ รอบตัวอาคารประดับด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่รองรับฐานเสาทั้งหลัง
ชั้นใต้ถุน ของคุ้มเจ้าหลวง เป็นที่คุมขังนักโทษ มีอยู่ด้วยกัน 3 ห้อง ห้องกลางเป็นห้องทึบแสงสว่างส่องเข้าไปไม่ได้ ใช้เป็นที่คุมขังทาส บริวารที่ทำผิดร้ายแรง ส่วนห้องทางปีกซ้ายและขวา มีช่องพอให้แสงส่องเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิดขั้นลหุโทษ เป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเลิกทาส คุกทาสจึงกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆ ไปของเจ้าหลวง หรือข้าหลวงในสมัยต่อๆ มา
มีเคล็ดในการเข้าชมคุกอยู่ว่าให้เดินถอยหลังเข้า เพราะไม่ใช่การเข้าแบบนักโทษ (ความเชื่อส่วนบุคคล)
ภายในคุกมีโซ่ตรวน และรูปภาพการจองจำแบบต่างๆ
ห้องฝั่งซ้ายและขวาเป็นห้องที่มีแสงสว่างส่องถึง เพดานต่ำ
ห้องที่อยู่ตรงกลาง (รูปด้านล่าง) ไม่มีแสงสว่าง แต่ในปัจจุบันมีการติดไฟส่องสว่างให้ผู้เข้าชมได้เห็นภายใน
ชั้น 1 จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยก่อน เช่นภาชนะ ถ้วย ชาม แจกัน ถาด ขันทองเหลือง งาช้าง ลูกคิด ฯลฯ และ ห้องรับประทานอาหาร
ชั้น 2 เป็นห้องนอนบุตร ธิดาของเจ้าหลวงเมืองแพร่ และห้องนอนแม่บัวไหล ชายาของเจ้าหลวงเมืองแพร่
รูปภาพเจ้าหลวงเมืองแพร่ กับแม่เจ้าบัวไหล
อุปกรณ์ปักผ้า แม่เจ้าบัวไหล ท่านเป็นผู้มีศิลปะและมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย โดยได้ปักผ้าม่าน หมอนต่างๆ และเครื่องใช้ ถวายรัชกาลที่ 5 จนเป็นที่โปรดปราน และได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดห้องพิเศษ พร้อมทั้งพระราชทานว่า ห้องบัวไหล
ห้องนอนบุตร ธิดา ของเจ้าหลวงเมืองแพร่ จัดแสดงเตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้ง ของสะสมที่เป็นคริสตัล ที่ล้างหน้า จักรเย็บผ้าโบราณ
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องรอยไหม คู่กับคุ้มวงศ์บุรี นอกจากนี้ คุ้มเจ้าหลวง ยังเคยใช้เป็นที่ประทับแรมของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2501 และได้รับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ พ.ศ. 2536
ปัจจุบัน คุ้มเจ้าหลวงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา โดยไม่เสียค่าเข้าชม
การเข้าชม |
เวลาทำการ : | ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30– 16.30 น. |
ช่วงเวลาเที่ยว : | ตลอดทั้งปี |
ที่ตั้ง |
ที่อยู่ : |
ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 54000 |
เบอร์โทรศัพท์ : | 0- 5452 -4158 |
เวบไซต์ : | – |
การเดินทาง |
รถยนต์ : | จากทางหลวงหมายเลข 101 เข้าตัวเมืองแพร่ (ถนนยันตรกิจโกศล) ขับตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญเมืองไปประมาณ 1.2 กิโลเมตร จนถึงวงเวียนให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคุ้มเดิมอีกประมาณ 100 เมตร ทางด้านขวามือจะถึงคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนนารีรัตน์
ภายในคุ้มเจ้าหลวงมีที่จอดรถ แต่คนส่วนมากไม่รู้มักจะจอดที่ริมถนนแทน ถนนบริเวณนั้นค่อนข้างแคบ ไม่แนะนำให้จอดริมถนน |
Post Views 4113