ถ้ำพระยานคร ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ / ถ้ำพระยานคร

ถ้ำพระยานคร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากหาดแหลมศาลาระยะทาง 500 เมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ไปทางทิศเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร สถานที่น่าสนใจของถ้ำนี้จะเป็นพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ อยู่กลางถ้ำ เส้นทางภายในถ้ำค่อนข้างกว้างและมีปล่องให้แสงส่องเข้ามายังถ้ำ ไม่ต้องใช้ไฟฉาย ถ้ำพระยานครเป็นถ้ำที่เดินง่ายและไม่อันตราย

สำหรับการเดินทางไปยังถ้ำพระยานครนั้นสามารถไปได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

  1. ทางเรือเดินข้ามเขา 1 ลูก โดยเหมาเรือจากหาดเจ้าพระยาบางปูไปยังหาดแหลมศาลา ราคาประมาณ 400 บาทต่อลำ (ไป-กลับ) นั่งได้ประมาณ 7 – 8 คน ใช้เวลาแล่นอ้อมเขาประมาณ 10 นาที จากนั้นเดินเท้าขึ้นไปยังถ้ำอีกประมาณ 30 นาที
  2. เดินข้ามเขา 2 ลูก จากหาดเจ้าพระยาบางปู ข้ามเขาเทียนที่มีระยะทางประมาณ 430 เมตร ไปลงหาดแหลมศาลา และจากหาดแหลมศาลาไปยังถ้ำรวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เดินไกล และเหนื่อยกว่าการไปขึ้นทางหาดแหลมศาลา

หาดเจ้าพระยาบางปู จุดเริ่มต้นของถ้ำพระยานคร หาดนี้มีร้านอาหาร ร้านขายของ ติดต่อเรือไปหาดแหลมศาลาได้ที่นี่

ชายหาดเจ้าพระยาบางปู เป็นหาดปนเลน เนื่องจากอยู่ใกล้ปากน้ำ

เรือหางยาวจาก หาดเจ้าพระยาบางปู ไปยังหาดแหลมศาลา ช่วยย่นระยะเวลาไปยังถ้ำพระยานคร

เส้นทางเดินไปยังถ้ำพระยานคร (จากทางขึ้นหาดแหลมศาลา) ระยะทาง 430 เมตร ช่วงแรกเป็นบันไดหิน ต้องหาขั้นบันไดให้ดี ข้างทางเป็นต้นไม้ ใช้เกาะช่วยผ่อนแรงได้ หรือถ้ามีไม้ค้ำจะช่วยให้เดินง่ายขึ้น ระหว่างทางมีจุดชมวิว และ ที่นั่งให้พักเหนื่อย ทางเข้าไปยังถ้ำจะเป็นทางเดินลง พื้นแห้ง แนะนำว่าควรใส่รองเท้าผ้าใบจะสะดวกที่สุด

ทางเดินขึ้นถ้ำพระยานคร

ทางเดินลงไปยังถ้ำ

สิ่งที่น่าสนใจ รอบๆ ถ้ำพระยานคร
  • บ่อพระยานคร

บ่อน้ำเก่าอยู่ที่ทางขึ้นถ้ำฝั่งหาดแหลมศาลา ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ในครั้งที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯโดยทางเรือ ซึ่งได้นำเรือเข้ามาหลบพายุในบริเวณหาดแหลมศาลาเป็นเวลาหลายวัน ชาวบ้านเรียกบ่อนี้ว่าบ่อพระนคร

  • พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

เป็นพลับพลาแบบจตุรมุข สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433 เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลัง โดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ สัญลักษณ์สำคัญของถ้ำพระยานคร และเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

ช่วงเวลาที่ถ่ายรูปสวยที่สุดจะเป็นเวลาที่แสงอาทิตย์ส่องผ่านปล่องภูเขาด้านบน ลงมากระทบกับพลับพลาที่ประทับ ประมาณ 10:30 – 11:30 น. หลังจากนั้นลำแสงจะเปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ

ความสวยงามนี้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ เป็น 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวอันมหัศจรรย์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน 9 ความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวยามกลางวันที่จะงดงามที่สุด ตามคู่มือท่องเที่ยว 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ลายพระหัตถ์ จ.ป.ร. ป.ป.ร.

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์บรมจักรีวงศ์ ถึง 3 พระองค์ ทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินประพาส ณ ถ้ำนี้ ประกอบด้วย

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมื่อคราว รศ.108.109 ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ๑๐๘ ไว้ที่หน้าผาในถ้ำ
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมื่อคราว พ.ศ. 2469 ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ณ ผนังถ้ำด้านตะวันตกของพลับพลา
รัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ พ.ศ. 2501

การเข้าชม
เวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 – 17.00 น.
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี ช่วงเวลาที่ดี คือ ช่วงหน้าหนาว เดือนธันวาคม- เดือนมีนาคม
ค่าเข้าชม

  • คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท, เด็ก 20 บาท
  • ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท, เด็ก 100 บาท
ที่ตั้ง – ติดต่อ
ที่อยู่ :
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หมู่ที่ 2 บ้านเขาแดง ต.เขาแดง  อ. กุยบุรี  จ. ประจวบคีรีขันธ์   77150
เบอร์โทรศัพท์ : โทร. 0- 3282- 1568 , 0- 3264- 6293
เวบไซต์ :
การเดินทาง
รถยนต์ : จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ถึงสี่แยกปราณบุรีเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายปราณบุรี-ปากน้ำปราณบุรีประมาณ 8 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านสี่แยกบ้านบางปู ตรงไป 4 กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ จากถนนเพชรเกษม จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 286 (ใกล้บ้านสำโหรง ก่อนถึงอำเภอกุยบุรี 6 กิโลเมตร) เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
รถโดยสาร : ลงรถที่อำเภอปราณบุรี แล้วต่อรถสองแถวสายปราณบุรี-บ้านบางปู จากบ้านบางปูเหมารถสองแถวไปส่งที่ทำการอุทยานฯ

Post Views 33107

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *