เที่ยวดอยอ่างขาง ชมโครงการหลวง รับลมหนาว ตามหาแม่คะนิ้ง
เชียงใหม่ / เที่ยวดอยอ่างขาง ชมโครงการหลวง รับลมหนาว ตามหาแม่คะนิ้ง
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้พาไปเที่ยวดอยอินทนนท์ แบบเช้าไป – เย็นกลับ ในเดือนธันวาคมนี้ผมจะพาไป เที่ยวดอยอ่างขาง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่ขึ้นชื่อเรื่องอากาศหนาว โครงการหลวง และดอกไม้สวยงามของจังหวัดเชียงใหม่
การเดินทางในครั้งนี้เราเดินทางจากดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ ด้วยสายการบิน Air Asia ในราคาเบาๆ ใครๆ ก็บินได้ ไป – กลับ คนละ 576 บาทเท่านั้น ไม่เลือกที่นั่ง ไม่โหลดกระเป๋า จองตอนช่วงโปรโมชั่น Big sale เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เดินทางวันศุกร์ที่ 21/12/12 ตอนเช้า วันที่หมอดูต่างๆ ทายว่าโลกจะแตก และกลับวันอาทิตย์ที่ 23 ตอนเย็น
กว่าจะถึงวันบินเที่ยวบินก็เปลี่ยนเวลาไปมา ทั้งขาไปและขากลับ ใครที่จองตั๋วล่วงหน้าไว้ก็อย่าลืมเช็คเวลาบินก่อนออกเดินทางนะครับ จะได้ไม่ตกเครื่องหรือนั่งรอนาน
การเดินทางมาสนามบินดอนเมือง ครั้งนี้ผมขับรถมาจอดที่สนามบินเลย ที่อาคารจอดรถ Terminal 2 จอดได้ฟรี ข้อมูลใน Pantip บอกว่าจอดได้ฟรีอย่างไม่มีกำหนด ท่านที่ไม่ทราบว่า อาคารจอดรถ Terminal 2 อยู่ตรงไหน ให้วิ่งตามป้ายผู้โดยสารขาออกจนมาถึง Terminal 1 ตรงที่ Taxi จอดให้ผู้โดยสารลงเข้าอาคาร วิ่งชิดซ้ายตรงไปเรื่อยๆ ถนนจะแบ่งเป็น 2 ทาง อยู่เลนซ้ายจะไป อาคารจอดรถ Terminal 2 อยู่เลนขวาจะลงไปด้านล่าง เข้าอาคารจอดรถ Terminal 1 เราต้องอยู่เลนซ้ายวิ่งเข้าอาคารจอดรถ Terminal 2 รับบัตรจอดรถกับยามแล้วเลือกที่จอดตามใจชอบ บัตรจอดรถจะเป็นบัตรแบบแข็ง
ภายในที่จอดรถ Terminal 2 ผมมองไม่เห็นยามนะครับ ถ้าเป็นห่วงรถก็แนะนำให้จอดที่ Terminal 1 แบบเสียตังค์วันละ 250 บาท น่าจะสบายใจกว่า
ทางเดินไป Terminal 1
จอดรถเสร็จเดินตามทางไป Terminal 1 ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ง่ายๆ เท่านี้ก็ประหยัดค่า Taxi ไป – กลับได้ 300 บาท และยังสะดวกอีกด้วย
เนื่องจากว่าผมทำ Web Check in มาแล้วผมจึงไม่ต้องไม่เช็คอินกับ Counter Air Asia ที่ชั้นล่าง ใช้ Boarding Pass เข้าไปในส่วนผู้โดยสารขาออกในประเทศได้เลย
มื้อเช้าเราฝากท้องไว้ที่สนามบิน ครั้งนี้ลองเข้า อินทริค เลาจน์ ด้านหน้าเขียนไว้ว่าห้องรับรอง VIP ราคาปกติ 390 เหลือ 140 บาท เล้าจน์นี้จะอยู่ติดกับร้านกาแฟ Starbuck อยู่ก่อนทางแยกไป Gate ต่างๆ ในเล้าจน์จะมีอาหาร, เครื่องดื่ม และ wifi
จ่ายเงินคนละ 140 บาทกับพนักงานด้านหน้า แล้วเข้ามาทานอาหารกันเลยครับ
อาหารจะมีไม่เยอะมากเช่นผัดซีอิ๊ว ข้าวผัด สลัดผัก ถุงทอง ปอเปี๊ยะทอด แซนวิช
แล้วก็มีซุปข้าวโพด ซุปฟักทอง ซุปผัก ข้าวต้มหมู
เท่าที่ทานมาข้าวต้มหมูอร่อยสุดครับ
เครื่องดื่มก็มี ชา กาแฟ น้ำเก๊กฮวย น้ำตะไคร้ นมถั่วเหลือง ฯลฯ
ที่นั่งในเล้าจน์ ช่วงเช้าจะร้อนหน่อยแสงแดดสาดเข้ามาเต็มๆ
โดยส่วนตัวคิดว่าอาหารยังไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไหร่ น่าจะมีไส้กรอก ไข่ดาว แฮม ผัดกระเพรา ขนมปังปิ้ง ให้เหมือนกับอาหารเช้าตามโรงแรม แต่ถ้าราคา 140 บาท ก็เป็นราคาที่รับได้อยู่ พอมีคนมาทานบ้าง แต่ไม่มากเท่าไหร่
ทานข้าวเสร็จก็เดินไปที่ Gate 35 ซึ่งเป็น Gate สุดท้ายของช่องนี้ แต่ก็ยังไม่ไกลเท่ากับ Gate ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นักท่องเที่ยวที่บินใน Flight นี้ก็มีเยอะ เป็นชาวต่างชาติประมาณครึ่งหนึ่ง มองไปมองมาก็เจอกับคุณโอ วรุฒ วรธรรม ดารารุ่นเก๋า เดินทางมาคนเดียว
FD3435 เทียบงวงช้าง จอดโหลดสัมภาระ และเช็คความเรียบร้อยก่อนบิน
สำหรับสัมภาระที่ถือขึ้นเครื่อง Air Asia ได้ ก็มีกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ กับกระเป๋ากล้อง / กระเป๋า Notebook / กระเป๋าถือคุณผู้หญิง น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม ส่วนกฎใหม่ของ Air Asia ที่ออกมาในเดือนพฤศจิกายน 55 ที่เปลี่ยนใหม่ให้ถือสัมภาระได้ชิ้นเดียวเท่านั้น ก็ดูเหมือนว่าเป็นการโยนหินถามทางของ Air Asia เท่านั้น ไม่ได้มีการบังคับใช้จริงๆ ฉะนั้นก็ทำใจให้สบายถือกระเป๋าเสื้อผ้า กระเป๋ากล้องขึ้นเครื่องได้ตามปกติ
ประมาณ 10.30 น ก็ได้เวลา Take off ไปยังสนามบินนานาชาติ เชียงใหม่ ผู้โดยสารเกือบเต็มลำ ถึงสนามบินตามกำหนดการเป๊ะ ในเวลา 11.40 น. ที่สนามบินเชียงใหม่มีงวงช้างมาเทียบเดินเข้าอาคารผู้โดยสารได้สะดวก
ใครมีกระเป๋าโหลดก็มารอรับกระเป๋าที่สายพานนี้เลยครับ
โปรแกรมในวันแรกเราออกจากสนามบินก็จะนั่งรถตู้ไป อ.ฝาง และจากฝางก็ขึ้นดอยอ่างขาง โดยผมโทรนัดกับคุณคำใส (khamsai55) เจ้าของกระทู้ “เช้านี้ที่อ่างขาง … ” ในเวบ Pantip ให้มารับที่ อ.ฝาง แล้วพาขึ้นดอย และพาเที่ยวในวันรุ่งขึ้น
การเดินทางจากสนามบินเชียงใหม่ไปดอยอ่างขาง
1. จากสนามบินเชียงใหม่ให้นั่งรถแดง หรือ Taxi สนามบิน ไปสถานีขนส่งช้างเผือก ราคารถแดงประมาณคนละ 40 บาท ส่วนรถ Taxi 120 บาท / คัน ถ้าไปรถตู้ฝางให้บอกว่าไปท่ารถตู้ฝาง ท่ารถตู้จะอยู่ข้างๆ สถานีขนส่งช้างเผือก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แต่ถ้าไปรถ บขส. ก็ลงที่ในสถานีขนส่งช้างเผือก
2. รถตู้เชียงใหม่ – ฝาง จะออกทุกชั่วโมง เช่น 12.00 น, 13.00 น. … ค่ารถคนละ 150 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงถึงตัว อ.ฝาง ถ้าจะไปดอยอ่างขางต้องลงที่หน้าวัดหาดสำราญ (ปากทางดอยอ่างขาง) และหารถต่อขึ้นไปด้านบน แนะนำว่าควรโทรจองตั๋วรถตู้ทางโทรศัพท์ก่อนจะได้มีที่นั่งในรอบที่ต้องการ และต้องไปถึงก่อนเวลารถออก 30 นาที
แต่ถ้าเป็นรถ บขส. สีส้ม ค่ารถ 85 บาท จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง มากกว่ารถตู้ครึ่งชั่วโมง สามารถลงรถที่ปากทางดอยอ่างขางได้เช่นเดียวกัน
3. จากปากทางดอยอ่างขางจะมีรถสองแถวสีขาวขึ้นบนดอยอ่างขาง จะเหมาขึ้นด้านบนหรือรอรถเต็มก็ได้ รถจอดปลายทางที่บ้านคุ้ม หน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
รถตู้เชียงใหม่ – ฝาง จะมีทั้งหมด 11 ที่นั่ง นั่งข้างคนขับ 2 ที่นั่ง และที่แถวแถวละ 3 ที่นั่งอีก 3 แถว ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงที่นั่งหมายเลข 2 ซึ่งเป็นที่นั่งข้างคนขับ จะนั่งไม่สบาย ส่วนที่นั่ง 3 แถวหมายเลข 3 – 11 นั่งสบาย ปรับเอนได้เล็กน้อย ที่วางขากว้าง ราคา 150 บาท / คน แจกน้ำดื่ม 1 ขวด
ผมนั่งรถตู้รอบ 12.00 น. รถตู้จะจอดแวะกลางทางที่ อ.เชียงดาว ประมาณ 5-10 นาที ให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำ ซื้อของกิน ขนม ที่จุดนี้มีน้ำดื่มแจกฟรี 1 ขวด ต้องเอาหางบัตรโดยสารแลก ก่อนลงจากรถอย่าลืมจำทะเบียนรถให้ดีๆ นะครับ บางครั้งมีรถแบบเดียวกันมาจอด 2-3 คัน อาจจะสับสนได้
จุดรับน้ำดื่ม
ผู้โดยสารขึ้นรถหมดรถก็ออก ระหว่างทางวิวสวยครับ เป็นภูเขาบ้าง ป่าบ้าง บางช่วงก็วิ่งขนานไปกับลำธาร ถนนก็มี 2 เลนสวนกัน เวลาเจอรถพ่วงอยู่ด้านหน้าจะแซงลำบากมาก ทางก็โค้งไปโค้งมา รถตู้จะผ่านฝากทางดอยอ่างขาง (วัดหาดสำราญ) ก่อน แล้วไปสุดสายที่ อ.ฝาง รวมแล้วใช้เวลาวิ่งประมาณ 3 ชั่วโมง
ลงจากรถตู้เสร็จก็เห็นรถคุณคำใส มาจอดรออยู่แล้ว และซื้อตั๋วรถตู้ขากลับจากฝางไปเชียงใหม่ในวันพรุ่งนี้ให้แล้วด้วย
ด้านบนเป็นรถของคุณคำใสนะครับ Izusu Dmax กระบะแคป ยกสูง ถ่ายตอนอยู่บนดอยแล้ว
อัตราค่าบริการของคุณคำใส
– Option 1 มารอรับลงจากรถทัวร์ที่ปากทางดอยอ่างขาง / ฝาง เที่ยวสวนส้มธนาธร น้ำพุร้อนฝาง เที่ยวโครงการหลวง ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว เที่ยวไร่สตรอว์เบอร์รี่ หมู่บ้านนอแล หมู่บ้านขอบด้ง ชายแดนไทย-พม่า ส่งขึ้นรถกลับที่ปากทางดอยอ่างขาง รวม 2 วัน 2,500 บาท
– Option 2 มารอรับลงจากรถทัวร์ที่ปากทางดอยอ่างขาง / ฝาง เที่ยวโครงการหลวง ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว เที่ยวไร่สตรอว์เบอร์รี่ หมู่บ้านนอแล หมู่บ้านขอบด้ง ชายแดนไทย-พม่า ส่งขึ้นรถกลับที่ปากทางดอยอ่างขาง 1,900 บาท
ราคานี้เป็นราคาเดียวกับปีที่แล้ว ครั้งนี้ผมใช้บริการ Option 2 เน้นเที่ยวบนดอยอ่างขางเท่านั้น
ติดต่อคุณคำใส 084 1740159
เดินทางขึ้นดอยอ่างขาง
เราขึ้นดอยอ่างขางโดยใช้ถนนหมายเลย 1249 ตรงแยกวัดหาดสำราญ เส้นทางนี้ถนนกว้าง ทางดี ระยะทางสั้น แต่ข้อเสียคือชัน และโค้งหักศอก ถ้าถามว่ารถเก๋งบ้านๆ ขับขึ้นได้ไหม ก็ขับขึ้นได้ครับ Eco car ก็ขึ้นได้ Nissan March, Honda Brio, City, Vios, Yaris ไหวหมด แต่คนขับก็ต้องมีทักษะบ้าง รู้จังหวะส่งรถขึ้นเนิน ใช้เกียร์เป็น ถ้าเป็นรถกระบะดีเซลยิ่งดีใหญ่ กำลังเหลือเฟือ
ระยะทางจากแยกวัดหาดสำราญขึ้นไปถึงบนดอยอ่างขางประมาณ 25 กิโลเมตร ก่อนเดินทางผมก็ลุ้นมาตลอดว่าจะได้เจอดอกนางพญาเสือโคร่งบานบานสะพรั่ง สีชมพูเต็มสองข้างทางเหมือนปีที่แล้วหรือเปล่า จากสถิติโดยเฉลี่ยแล้วดอกนางพญาเสือโคร่งที่ดอยอ่างขางจะบานก่อนที่อื่นๆ ในประเทศไทย และจะบานในช่วง กลางเดือนธันวาคม เราก็ติดตามข่าวมาตลอด จากคนที่ไปมา แต่ปีนี้อากาศแปรปรวน ฤดูฝนนาน ฝนตกถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ทำให้ต้นนางพญาเสือโคร่งไม่ออกดอกซักที อากาศก็ไม่ยอมหนาว พอเข้าสู่ต้นเดือนธันวาคมก็หมดลุ้นแล้วว่าจะทันต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอก แต่ก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้างที่ช่วงนี้อากาศหนาวจัดมีแม่คะนิ้ง หรือน้ำค้างแข็งให้เห็นตอนเช้า
ทางขึ้นดอยอ่างขาง ต้นไม้ข้างทางที่ใบร่วงหมดต้น ส่วนมากจะเป็นต้นนางพญาเสือโคร่ง
นั่งมาได้ครึ่งทางคุณคำใส ชะลอรถจอดให้เราดูต้นนางพญาเสือโคร่งที่ออกดอกมากที่สุด ดอกมีเท่านี้เองครับ ในรูปนี้ถ่ายวันที่ 21/12/12
เรามาถึงบนดอยอ่างขางเอาตอน 4 โมงเย็น ที่พักบนดอยอ่างขางตอนแรกเลยกะว่าจะจองบ้านพักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทรไปจองล่วงหน้าถึง 4 เดือน แต่ก็เต็มครับ ไม่น่าเชื่อเลย ถ้าใครอยากจะพักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางช่วงเดือน ธันวาคม – มกราคม ในวันหยุดแนะนำให้จองล่วงหน้า 6 เดือนไปเลยครับ แต่ถ้าเป็นช่วงวันธรรมดาในเดือนธันวาคม – มกราคม ก็จองล่วงหน้า 1-2 เดือนก็พอ
บ้านพักเลาติง ที่พักในทริปนี้
หลังจากพลาดจากบ้านพักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางก็เลยต้องหาที่ใหม่ จะพักอ่างขางวิลล่าเหมือนเดิมก็เริมเบื่อ เพราะเคยมาพักแล้ว 2 ครั้ง เลยเปลี่ยนเป็นมาพักที่บ้านพักเลาติง ที่อยู่ใกล้ๆ กับอ่างขางวิลล่า บ้านพักเลาติงจะอยู่ในบ้านคุ้ม ชุมชนบนดอยอ่างขาง มีตลาด ร้านค้า ร้านอาหารหลายร้าน ใกล้ทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เราจองบ้านพักเลาติงทางโทรศัพท์และโอนมัดจำล่วงหน้าไป 50% ห้องที่จองเป็นห้องโซน B ตึกสีน้ำตาลติดถนน ราคา 1,500 บาท นอนได้ 4-6 คน
เมื่อมาถึงที่พักแล้วก็ชำระ 50% ที่เหลือ และมีค่ามัดจำกุญแจอีก 100 บาท ที่บ้านพักเลาติงเป็นที่พักที่ชาวบ้านทำกันเอง ลูกจ้างก็ชาวเขาแถวนั้น
พนักงานถือกระเป๋ามาส่งที่ห้อง เราได้ห้องริมสุด อยู่ติดถนน มีเสียงดังจากคนตะโกนคุยกัน เสียงรถวิ่ง ดึกๆ มี Big Bike วิ่งผ่านด้วย ถ้าเลือกได้ไม่แนะนำห้องติดถนนนะครับ
ภายในห้องนอนได้ 4-6 คน เครื่องนอน หมอน ผ้าห่มก็ดูสะอาดดีครับ แต่พื้นเดินแล้วสากๆ เท้าเหมือนไม่สะอาด ในห้องมีน้ำดื่มให้ 2 ขวด
มองไปที่รูปด้านล่างนะครับ ทางขวาของรูปเป็นชั้นวางทีวี ซึ่งตูดของชั้นนี้จะทะลุออกไปนอกห้อง ชั้นของห้องข้างๆ ก็ทะลุมาห้องเรา ตรงนี้เป็นปัญหามากครับ เวลาห้องข้างๆ เปิดทีวีเสียงก็จะอยู่ที่หัวนอนเรา ถ้าห้องข้างๆ ดูทีวีดึกก็ซวยไป ไม่ต้องพักผ่อนกันพอดี นอกจากเสียงแล้วยังมีช่องระหว่างแผ่นไม้ให้มองถึงกันได้อีก ทำให้ไม่เป็นส่วนตัว
ใครนอนไม่ดีมีสิทธิหัวกระแทกกับชั้นวางทีวีได้
เข้ามาดูในห้องน้ำ เหมือนไม่ได้ทำความสะอาดฝาผนังและพื้นมานาน เป็นคราบ และราดำ ในห้องน้ำจะมีเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้แก๊ส และถังแก๊สก็วางอยู่ในห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัยควรงดสูบบุหรี่นะครับ น้ำในห้องน้ำถ้าไม่ได้ผ่านเครื่องทำน้ำอุ่นนี่จะเย็นมาก เหมือนน้ำดื่มที่แช่ตู้เย็น อย่างไร อย่างงั้น
ที่หน้าประตูห้องน้ำมีคำเตือนว่าไม่ควรอาบน้ำเย็นในขณะที่อุณหภูมิในร่างกายยังร้อน เพราะอาจจะช๊อคได้ ถ้าเดินหรือวิ่งเหนื่อยๆ มาก็ควรนั่งพักปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลงก่อน และให้สังเกตว่ามีใครเข้าห้องน้ำนานกว่าปกติหรือไม่ อาจจะวูบในห้องน้ำได้ ใครที่มีโรคประจำตัวให้เตรียมยาไปด้วยนะครับ ผมคุยกับคุณคำใส ก็ทราบมาว่ามีคนช๊อก จนเสียชีวิตเนื่องจากสภาพอากาศบนดอยที่ไม่คุ้นเคย ยังไงกันไว้ก็ดีกว่าแก้
Link. รีวิวบ้านพักเลาติง ดอยอ่างขาง
เช็คห้องเสร็จนึกถึงอ่างขาง วิลล่า ที่เคยพักเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาทันที ห้องราคา 1,000 บาท ถูกกว่าที่นี่ 500 บาท และดูดีกว่ากันเยอะ
เก็บของ ล้างหน้าล้างตาเสร็จ ก็ออกมาหาข้าวทาน ร้านอาหารแนะนำในโซนบ้านคุ้ม ผมแนะนำร้าน ถิงถิง โภชนา เป็นร้านที่อยู่ตรงข้ามกับบ้านพักเลาติงเลย ผมคิดว่า ถิงถิง โภชนา กับบ้านพักเลาติง น่าจะเป็นญาติกัน เพราะเห็นมีป้ายร้านอาหารถิงถิง โภชนา อยู่ในเวบของบ้านพักเลาติง
เมนูอาหารในร้านจะมีตั้งแต่อาหารพื้นบ้านของชาวดอยอ่างขาง เช่นขาหมูยูนนาน ไก่ตุ๋นโสม หรือจะเป็นอาหารตามสั่งทั่วไปเช่นแกงจืด ต้มยำ ผัดกระเพรา อาหารป่าก็มี ยอมรับว่าเมนูอาหารเค้าหลากหลายดีจริงๆ
เราไปทานกันตั้งแต่ 4 โมงเย็นนิดๆ คนก็เลยน้อยตามที่เห็นในรูป แต่ถ้าเป็นช่วง 6 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม คนแน่นร้านตลอด
เราไปกัน 2 คน สั่งกับข้าวมา 3 อย่าง มียำวุ้นเส้น, ผัดยอดมะระ, ผัดแหนมใส่ไข่ ข้าวเปล่า 2 จาน อาหารรสชาติอร่อยดีครับ ผมชอบผัดแหนมใส่ไข่เป็นพิเศษ กับข้าวที่นี่ประมาณจานละ 60-80 บาท มื้อนี้จ่ายไป 200 บาท กินบนดอยอาหารราคาเท่านี้ก็โอเคเลยครับ
ทานข้าวเสร็จก็เดินย่อยอาหารบริเวณหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มองดูต้นไม้ที่หน้าทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เหมือนว่าเพิ่งจะเอาลงได้ไม่นาน มันมีเหตุผลอยู่ว่าดอกไม้เมืองหนาวถ้าเจอฝนบ่อยๆ จะเน่าแล้วก็ตายครับ ปีนี้ฝนตกถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ก็เลยเพิ่งจะได้ลง ผมคิดว่าช่วงเดือนมกราคม 56 น่าจะเป็นช่วงที่สวยที่สุดของดอยอ่างขางในฤดูหนาวนี้ เพราะดอกนางพญาเสือโคร่งก็บาน ต้นไม้เมืองหนาวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางก็จะโตกว่านี้
สินค้าชาวเขาวางขายกับพื้น เท่าที่เห็นก็มีกำไลข้อมือที่สานจากไม้ เครื่องเงิน กระเป๋าผ้า หมวก บางอย่างก็เป็นของทำมือ บางอย่างก็เป็นของที่รับมาจากจีน แต่ขายราคาไม่แพงครับ
จากปากทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เดินมาที่ตลาดบ้านคุ้ม แหล่งขายของฝาก ของกิน เสื้อผ้า พืชผลทางการเกษตร มีตู้ ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเด่นอยู่ทางด้านหน้า ตู้ ATM ตู้นี้เพิ่งจะมีในปี 2556 นี่เองครับ ถือว่าเป็นตู้ ATM แห่งแรกบนดอยอ่างขาง ความเจริญกำลังขึ้นมาที่ดอยอ่างขางแล้ว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี
หนาวๆ แบบนี้ของที่ขายดีก็จะเป็นของกินที่ร้อนๆ เช่นมันปิ้ง ไข่ปิ้ง น้ำขิงร้อน มีขายหลายเจ้าในโซนนี้
ส่วนของฝากก็มีบ๊วยดอง บ๊วยอบแห้ง สตอเบอร์รี่อบแห้ง อัลมอลด์ ลูกพรุน ลูกซากุระ ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดจะซื้ออะไร เจอแม่ค้ายื่นอัลมอลด์อบให้ชิม รสชาติอร่อย กลิ่นหอม ถูกใจเลยต้องหันหลังกลับไปซื้อมา 1 ถุง
ถ้าเตรียมอุปกรณ์กันหนาวมาไม่พอ ก็มาหาซื้อได้ เสื้อ Jacket ถุงมือ หมวกไหมพรม ผ้าพันคอ ช่วงกลางวันอุณหภูมิอาจจะเย็นสบาย แต่ช่วงกลางคืน – ถึงเช้ามืดนี่หนาวมากๆ
ตรงข้ามกับตู้ ATM จะเป็นที่จอดรถ ทั้งรถตู้และรถส่วนตัว บางที่ไม่สามารถเข้าไปจอดในรีสอร์ทได้ ก็มาจอดตรงนี้ ความปลอดภัยน่าจะไว้ใจได้ในระดับหนึ่งเพราะอยู่ในย่านชุมชน และมีป้อมยามของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางอยู่ใกล้ๆ
ถ้าเดินหันหลังให้รูปด้านบน เดินมาเรื่อยๆ จะเจอกับหลักกิโลเมตร ดอยอ่างขาง 0 บอกตำแหน่งไว้เผื่อใครอยากถ่ายรูปเป็นที่ละลึก
รถขายกับข้าว ของสด บนดอย สภาพรถโหดมาก
เดินไปเดินมาชักเหนื่อย เลยเข้าห้องไปนอนเล่น หัวค่ำค่อยออกมาใหม่
ช่วงหัวค่ำคนจะคึกคักกว่าช่วงกลางวัน บางคนก็มาทานข้าว ซื้อของ หาของอุ่นๆ ทานให้หายหนาว
ร้านโรตีบนดอยอ่างขาง
ในช่วงหัวค่ำอุณหภูมิจะประมาณ 14 องศา และอุณหภูมิจะลดลงต่ำไปเรื่อยๆ จนถึงเช้ามืด
ในบริเวณบ้านคุ้มจะไม่มีร้านเหล้าแบบนั่งดื่ม แต่มีร้านขายเหล้า เบียร์ให้ซื้อกลับไปกินในที่พัก เท่าที่ดูก็ไม่เห็นว่ามีใครตั้งวงทานเหล้าเสียงดังนะครับ
คืนนี้เราพยายามที่จะหลับแต่หัวค่ำเนื่องจากเหนื่อยจากการเดินทางมาทั้งวัน แต่ก็หลับไม่ลงเพราะเสียงทีวีจากห้องข้างๆ ดังเข้ามา รอจนเค้าปิดทีวีถึงจะนอนได้ นอนไปได้สักพักรู้สึกว่าอากาศหนาวมากต้องซ้อนผ้าห่มคนละ 2 ผืน และใส่เสื้อกันหนาวนอน
เที่ยวบนดอยอ่างขาง
เช้าวันรุ่งขึ้นเรามีนัดกับคุณคำใส ตอน 6 โมงเช้า คุณคำใสจะมารับเราหน้าที่พัก โปรแกรมในวันนี้ตอนเช้าดูพระอาทิตย์ขึ้นที่บ้านขอบด้ง กลับเข้ามาดูแม่คะนิ้งในโครงการหลวง และขึ้นไปดูไร่สตอเบอร์รี่ ชมพระธาตุอ่างขาง กินข้าวเช้าในโครงการหลวง และชมดอกไม้ในโครงการหลวง บ่ายๆ ก็ลงดอยกลับเชียงใหม่
ตอนเช้ามืดนี่อากาศหนาวมาก อุณหภูมิเป็นเลขหลักเดียว ผมต้องสวมเสื้อถึง 3 ชั้น ตัวนอกสุดเป็นเสื้อกันหนาว ใส่ถุงมือ ผ้าพันคอ จัดเต็มแบบนี้ยังแทบจะเอาไม่อยู่
จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นบนดอยอ่างขางจะอยู่ที่บ้านขอบด้ง ถ้าไปชมตรงที่มีคนกางเต๊นท์กันเยอะๆ วิวไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ติดเสาไฟฟ้า และสายไฟ จะมีจุดชมวิวอีกจุดนึงต้องเดินลึกเข้าไปประมาณ 5 นาที แต่วิวสวยกว่ากันเยอะ
ทางเข้าจะมืดมาก ควรพกไฟฉายไปด้วย หรือถ้าไม่ได้เตรียมมาก็ใช้ไฟจากหน้าจอโทรศัพท์แก้ขัดได้
เราไปรอตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น คนยังไม่เยอะ ช่วง 6.30 น. คนเริ่มมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ พระอาทิตย์จะขึ้นตอนประมาณ 6.30 – 7.00 น.
ในบางวันก็จะเห็นทะเลหมอก ส่วนมากแล้วทะเลหมอกจะมีในช่วงหน้าฝน หรือปลายฝน หน้าหนาวไม่ค่อยจะมีทะเลหมอกครับ
หลังจากอยู่ชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็รีบออกไปดูแม่คะนิ้งต่อ ต้องรีบทำเวลา ช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่สวยที่สุดของสถานที่ต่างๆ บนดอยอ่างขาง
รูปบนเป็นทางที่เราเดินเข้ามา ขากลับก็ออกทางเดิม
ออกมาก็จะเจอกับกองอำนวยการ จุดชมวิวบ้านขอบด้ง ก็จำง่ายๆ นะครับถ้าจะเข้าไปจุดชมวิวก็เข้าทางข้างๆ กองอำนวยการ จุดชมวิวบ้านขอบด้ง
ในช่วงหน้าหนาว นักท่องเที่ยวจะมากางเต๊นท์บริเวณนี้ค่อนข้างเยอะ ที่บ้านขอบด้งอุณหภูมิจะไม่หนาวจัดเหมือนบริเวณบ้านคุ้ม, สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อุณหภูมิต่างกันเกือบสิบองศาเลยครับ
ร้านโจ๊ก ชา กาแฟ หมั่นโถว บริการนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว
บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอดำ ทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชเมืองหนาว ชาวเขาจะถักกำไลหญ้าอิบูแค ขายให้กับนักท่องเที่ยว
วันนี้มีนักท่องเที่ยวเยอะมาก รถจอดยาวเต็มสองข้างทาง รถตู้ที่มาเป็นกรุ๊ปก็เยอะ
จากบ้านขอบด้งเราลงไปที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่แปลงพลับ กีวี บริเวณนี้เป็นแอ่งกะทะ อุณหภูมิจะหนาวที่สุดในดอยอ่างขาง ในหน้าหนาวบางวันจะเห็นแม่คะนิ้ง หรือน้ำค้างแข็งเป็นเกร็ดน้ำแข็งที่ยอดหญ้า จากสถิติแล้วช่วงกลางเดือนธันวาคมจะมีโอกาสเจอแม่คะนิ้งได้บ่อย
แม่คะนิ้งดอยอ่างขาง
สีขาวที่เห็นในรูปด้านบนเป็นแม่คะนิ้งที่ปกคลุมหญ้า หญ้าบางส่วนก็ตายไปจากการที่แม่คะนิ้งปกคลุม
อุณหภูมิที่ยอดหญ้าประมาณ -1.5 C ครับ
ระหว่างที่ผมกำลังตื่นตาตื่นใจ ถ่ายรูปกับแม่คะนิ้งที่มีอยู่เต็มแปลงพลับ ก็มีเสียงทักมาจากด้านหน้า “ใช่พี่ที่ทำทัวร์หรือเปล่าค่ะ” ผมตอบกลับไปว่าผมเป็นคนทำเวบ emagtravel.com น้องเค้าบอกมาว่าเค้าอ่านรีวิวดอยอ่างขางที่ผมไปมาเมื่อปีที่แล้ว แล้วจำผมได้ครับ แล้วยังขอบคุณผมอีกด้วย สำหรับข้อมูลในเวบ 🙂 ปลื้มใจมากๆ ครับที่มีคนจำได้ เราคุยกันสักพักแล้วก็แยกย้ายกันไป
มาดูรูปแม่คะนิ้งกันแบบชัดๆ นะครับ เป็นเกร็ดน้ำแข็งปกคลุมต้นหญ้า แต่จะมีบริเวณยอดหญ้าเท่านั้นนะครับ ที่ต้นไม้ไม่มี วันไหนที่หนาวจัดๆ มากกว่านี้อาจจะขึ้นไปถึงบนกิ่งไม้
แม่คะนิ้ง ดอยอ่างขาง
ตำแหน่งชมแม่คะนิ้ง แปลง 11 แปลงวิจัยและพัฒนาพลับ บริเวณอื่นอาจไม่มีให้เห็นนะครับ
มองดูนาฬิกา ปาเข้าไปเกือบ 8 โมงแล้ว เวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ เรารีบขึ้นรถแล้วไปยังไร่สตอเบอร์รี่ขั้นบันได
คุณคำใส จอดให้เราถ่ายรูปกับจุดชมวิว และทะเลหมอก วันนี้มีหมอกให้เห็นจางๆ จุดชมทะเลหมอกบนดอยอ่างขางจะอยู่ระหว่างทางไปไร่สตอเบอร์รี่ ต้องสังเกตเอาครับ มีต้นไม้ กับต้นหญ้าบังอยู่
บริเวณนี้เป็นชายแดนไทย พม่า ฝั่งพม่ามีภูเขา และป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก
ทางลงไปไร่สตอเบอร์รี่จะมีน้องชาวเขาเก็บค่าเข้าคนละ 5 บาท น่าจะเพิ่งเก็บในปีนี้นะครับ
“ห้ามลงเกิน 3 แปลง ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท” เป็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ (ธ.ค. 2555) ผมเข้าใจว่าช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวมาที่ไร่สตอเบอร์รี่นี้เยอะ นักท่องเที่ยวบางคนก็ทำนิสัยไม่ดีไปแอบเก็บสตอเบอร์รี่ ไปทำต้นสตอเบอร์รี่เสียหาย เลยทำให้นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ อดชมความงามแบบเต็มๆ เลย ได้ชมเพียง 3 แปลงที่อยู่ด้านบน
วันนี้เรามาช้าไปหน่อย ไม่ทันได้เห็นชาวเขามาเก็บสตอเบอร์รี่ในช่วงเช้า ซึ่งจะเก็บตอนประมาณ 7 โมง
สตอเบอร์รี่ในไร่นี้เป็นสายพันธ์ 80 มีรสหวาน ไม่เปรี้ยว ผมคิดว่าสตอเบอร์รี่บนดอยอ่างขางเป็นแหล่งสตอเบอร์รี่ที่มีรสชาติดีที่สุดในประเทศไทยแล้วครับ
สตอเบอร์รี่จะถูกเก็บในช่วงเช้า ทำการแยกขนาดและส่งเข้าโครงการหลวง นักท่องเที่ยวสามารถไปซื้อทานได้ในโครงการหลวง ประมาณกล่องละ 80 บาท
สตอเบอร์รี่สดจะมีรสชาติหอม หวาน น้ำฉ่ำ แต่ถ้าเก็บไว้ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปจะเริ่มมีรสชาติเปรี้ยวเพิ่มขึ้นเกิดจากแบคทีเรียในสตอเบอร์รี่เริ่มย่อยสลาย
แพคใส่กล่อง พร้อมส่งเข้าโครงการหลวง
เด็กชาวเขาในไร่สตอเบอร์รี่
พี่คนนี้กำลังคัดสตอเบอร์รี่ใส่กล่อง
มองไปมองมาก็เจอกับผักที่ปลูกในไร่สตอเบอร์รี่ ที่ถูกตัดไว้แล้ว เตรียมไปทำเป็นกับข้าว ผักมีขนาดใหญ่มาก ต้นงาม ใบสวย ลองดูขนาดเทียบกับคนดูครับ
จุดชมวิวชายแดนไทย – พม่า หมู่บ้านนอแล
จากไร่สตอเบอร์รี่ขึ้นไปต่อที่จุดชมวิวชายแดนไทย – พม่า ที่หมู่บ้านนอแล มีชาวเขาเผ่าปะหล่องอาศัยอยู่ จุดชมวิวนี้จะอยู่ในค่ายทหาร ถ้ามาในช่วงเช้าก่อน 8 โมง สามารถขับรถเข้าไปด้านในได้ แต่ถ้ามาหลังจากนี้ต้องจอดรถด้านหน้า แล้วเดินขึ้นไป ระยะทางก็ประมาณ 5 นาที
ที่หน้าทางเข้าด้านในจะมีชาวเขาขายมันปิ้ง ไข่ปิ้ง น้ำผึ้ง และของป่าเช่นกล้วยไม้ป่า ชาวเขาที่บ้านนอแลยังคงใส่ชุดประจำเผ่าอยู่ครับ
ฐานปฎิบัติการนอแล
นักท่องเที่ยวหลายคนมาที่ฐานปฎิบัติการนอแล ก็ซื้อของกิน ขนมมาฝากพี่ทหาร เด็กชาวเขา ให้กำลังใจกัน หรือจะให้เป็นเงินก็ได้นะครับ ข้างๆ ธงชาติมีกล่องให้หยอดอยู่
มาเที่ยวครั้งนี้ ฟ้าใสอากาศดีมาก ผิดกับครั้งก่อนที่หมอกลงจัด จนไม่เห็นอะไรเลย
เก้าอี้ที่ประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการนอแล เมื่อ 24 มกราคม 2536
ศาลาทอดพระเนตร
เนินเขาที่เห็นในรูปด้านบนเป็นที่ตั้งของค่ายทหารของพม่า ที่ตั้งจะอยู่สูงกว่าฝั่งเรานิดนึง
มองเข้าไปในฝั่งพม่า บริเวณนี้ตอนเย็นๆ จะเป็นที่ออกกำลังกาย เตะตะกร้อ เล่นฟุตบอล
สุดเขตประเทศไทย ข้ามรั้วตรงนี้ไปก็เป็นฝั่งพม่าแล้ว
ในฐานปฏิบัติการนอแลจะมีลานกางเต๊นท์อยู่ ผมว่างกางได้เยอะพอสมควร มีห้องน้ำ และที่สำคัญปลอดภัยแน่นอน เพราะอยู่ในเขตทหาร ผมคิดว่าไม่น่าจะมีใครทำเสียงดังด้วย
ออกจากฐานปฏิบัติการนอแล แวะซื้อมันปิ้งกินรองท้อง แต่โชคร้ายไม่ได้กิน เหมือนปิ้งยังไม่สุกถึงด้านใน เลยต้องทิ้งไป
บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านนอแล หมู่บ้านของชาวเขา
พระธาตุดอยอ่างขาง
ก่อนจะลงไปทานข้าวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผ่านพระธาตุดอยอ่างขาง เลยให้คุณคำใส เลี้ยวเข้าไปชมพระธาตุดอยอ่างขาง ซักหน่อย ส่วนมากนักท่องเที่ยวที่มาดอยอ่างขางไม่ค่อยจะมาแวะที่พระธาตุดอยอ่างขาง อาจเป็นเพราะพระธาตุดอยอ่างขางไม่ใหญ่อลังการเหมือนที่ดอยอินทนนท์
ทางลงไปสู่พระธาตุดอยอ่างขาง เป็นบันไดขั้นสั้นๆ ระยะทางประมาณ 50 เมตรได้ ผู้สูงอายุก็เดินได้ครับ
บริเวณพระธาตุฯ เงียบสงบมาก ไม่เห็นใครเลยซักคน ตัวพระธาตุเป็นสีขาว เหมือนจะเพิ่งบูรณะได้ไม่นาน
รอบๆ พระธาตุ เป็นป่าเมเปิ้ล ในช่วงที่เมเปิ้ลเปลี่ยนสีเป็นสีแดง คงจะสวยน่าดูครับ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ออกจากพระธาตุดอยอ่างขาง ขับรถลงมาเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในนี้เป็นสถานีเกษตรดอกไม้เมืองหนาว พืชเมืองหนาว ภายในมีสวนให้ชมเยอะมากครับ ค่าบำรุงสถานที่ก็เพียงคนละ 50 บาท และรถยนต์คันละ 50 บาท
“อ่างขาง แดนมหัศจรรย์” หนึ่งในจุดถ่ายรูปที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่าย ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ควรมาถ่ายรูปในช่วง 7-8 โมง แสงจะยังไม่แรง ดอกไม้ ต้นไม้ เขียวสดชื่น แต่ผมแวะไปหลายจุดหน่อย เลยมาถึงในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเอาตอน 9.30 น.
บริการถ่ายรูปบนหลังม้า ค่าใช้จ่ายคนละ 20 บาท
อุณหภูมิวันนี้ ต่ำสุด 3 องศา อุณหภูมิยอดหญ้า -1.5 องศา
มื้อเช้าเราจะทานข้าวที่สโมสรอ่างขาง ที่อาคารแมกโนเลีย เป็นอาหารเช้าแบบ Buffet
ซื้อคูปองอาหารเช้าได้ที่สโมสรอ่างขาง คนละ 120 บาท
อาหารเช้าจะมีให้ทานถึง 10 โมง เราถึงก็เกือบจะ 10 โมงแล้ว คนเริ่มน้อย อาหารร่อยหรอ
อาหารก็จะมีผัดผัก ผัดกระเพรา แกงจืด ไส้กรอก แฮม ไข่ดาว ข้าวผัด สลัดผัก ผลไม้ ชา กาแฟ ขนมปัง + แยม ถ้ามาเช้ากว่านี้ผมคิดว่าคงมีให้ทานมากกว่านี้
อาหารที่นี่จะเป็นของคุณภาพดี ไส้กรอก แฮม ไข่ดาว ใช้ของเกรดดี ผัดกระเพราก็อร่อยครับ ส่วนผักก็เป็นผักสดๆ ในโครงการหลวง
น่าเสียดายว่ากาแฟ หมดแล้วหมดเลย ไม่มาเติมให้ เลยทานไปแบบไม่จบ แก้วจะกินน้ำก็ไม่ค่อยมี ถ้าจะมาทานข้าวเช้าที่นี่ ซัก 8 โมงกำลังดีครับ
มาถึงดอยอ่างขางแล้วก็ต้องมาถ่ายรูปที่มุมนี้ ?กาแฟซักแก้ว โปสการ์ดซักใบ ถึงใครซักคน? ข้างๆ ตู้ไปรษณีย์ อ่างขาง
ร้านกาแฟดอยคำ กาแฟร้อนแก้วละ 30 บาท กาแฟเย็น 40 บาท รสอร่อย เข้มข้นดีครับ ข้างๆ ร้านกาแฟจะจำหน่ายของที่ระลึกรูปถ่าย โปสการ์ด ปฎิทิน magnet ซื้อไปเป็นของฝากได้ครับ
หลังจากได้ทานข้าว ทานกาแฟก็มีแรงเที่ยวต่อ เริ่มต้นด้วยสวน ๘๐
สวน ๘๐ เป็นสวนดอกไม้ที่อยู่ตรงข้ามกับสโมสรอ่างขาง มีดอกไม้เมืองหนาว นานาชนิด กระหล่ำประดับ ซากุระญี่ปุ่น ฯลฯ ปลูกหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ดอกไม้ที่สวนนี้จึงสวยงามตลอดปี ชื่อของสวน 80 มาจากวาระที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงมีพระชนม์มายุครบ 80 ชันษา
ต้นซากุระญี่ปุ่น ในสวน ๘๐ เพิ่งจะออกดอก
กระหล่ำประดับ
เดินขึ้นไปบนเนินถัดจากสวน ๘๐ จะเป็นบ้านพักในเกษตรหลวงอ่างขาง ทำสวย มองเห็นวิวในสวน ๘๐
อย่างที่บอกไว้ว่าปีนี้ต้นไม้เมืองหนาวเอามาลงช้า แปลงนี้ก็เพิ่งจะเอามาลง ต้องใช้เวลาซักพัก น่าจะงามกว่านี้
เดินไปจนถึงสวนกุหลาบอังกฤษ ที่อยู่ข้างกับร้านกาแฟดอยคำ เห็นต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกหลายต้น ตรงจุดนี้บานเร็วที่สุดแล้วครับ ต้นอื่นยังไม่ค่อยจะบานกันเลย
เลยต้องถ่ายรูปเก็บไว้ซักหน่อย ดอกสีชมพู กับท้องฟ้าสีฟ้าสด ตัดกันดีครับ
ออกจากโซนสวน ๘๐ มายังแปลงบ๊วย หนึ่งในสถานที่ถ่ายหนังเรื่องธรณีนี่นี้ใครครอง เป็นฉากที่พี่อาทิจ กับ น้องณีถ่ายในแปลงบ๊วย
รู้สึกว่าแสงแดดค่อนข้างแรงมาก ต้นไม้เลยดูไม่ค่อยสดชื่น ถ้ามาตอนเช้าบรรยากาศจะสวยกว่านี้เยอะครับ
ต้นมอส เฟิร์น ที่อาศัยเกาะอยู่บนต้นบ๊วย
สวนบอนไซ อ่างขาง สถานที่จัดแสดงบอนไซ นานาชนิด ทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ ที่นี่มีอุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมกับการปลูกบอนไซ
ภายในสวนบอนไซมีต้นเมเปิ้ล 5 แฉกกำลังเปลี่ยนสีเป็นสีแดง บางต้นก็ออกส้ม บางต้นก็แดงทั้งต้น แต่สีแดงจะไม่เข้มเหมือนเมเปิ้ลที่ภูกระดึงนะครับ
ภายในโดมรูปด้านล่าง จะเป็นพืชในเขตร้อน ชื้น เป็นส่วนมาก เช่นเฟิร์น, กล้วยไม้ รองเท้านารี, ต้นหม้อข้าว หม้อแกงลิง, สับปะรดสี
ใกล้ๆ กับสวนบอนไซจะเป็นแปลงดอกไม้กลางแจ้ง แปลงนี้จะอยู่ใกล้กับทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มองออกไปเห็นสุวรรณภูมิรีสอร์ทที่อยู่ตรงบ้านคุ้ม
ดอกไม้สีสวยในรูปด้านล่าง เป็นดอกฝิ่น เมื่อก่อนดอยอ่างขางปลูกฝิ่นกันเยอะ หลังจากที่ในหลวงเสด็จฯ มาทรงได้แนะนำให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน และรายได้จากการปลูกพืชเมืองหนาวก็พอๆ กับการปลูกฝิ่น ทำให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก และพลิกฟื้นจากป่า เขา หัวโล้น มาเป็นโครงการหลวง และป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยต้นไม้ใหญ่
มุมกระเช้าไม้ดอก
ศาลาทรงต้นไม้
มองดูนาฬิกา 11 โมงกว่าแล้ว ได้เวลากลับห้องไปอาบน้ำ เก็บของ เช็คเอ้าต์
หลังจากเช็คเอ้าต์เสร็จ ก็มาหาข้าวกลางวันทาน คราวนี้มาลองทานในตลาดบ้านคุ้ม ในรูปด้านล่างเป็นก๋วยเตี๋ยวยูนนาน เส้นสีเหลือง ต้มใส่กระดูกหมู และโสม
รสชาติก็คล้ายๆ กับบะหมี่ ใส่พริก น้ำส้ม น้ำตาล ตามใสชอบ ราคาชามละ 40 บาท
ผักที่ปลูกบนดอย ขายราคาไม่แพง ถ้าเอารถมาจะซื้อกลับไปเยอะๆ เลย
เรานัดกับคุณคำใส ลงจากดอยตอน 12.30 น. และขึ้นรถตู้รอบบ่าย 2 ระหว่างทางลงไปด้านล่าง ผ่านฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง
ฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง
เป็นจุดชมวิว และที่กางเต๊นท์ อยู่ด้านล่างสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ประมาณ 20 นาที วันไหนที่มีทะเลหมอก สามารถมองเห็นทะเลหมอกได้จากตรงนี้
จุดชมวิวดอยอ่างขาง
ลงจากจุดชมวิว คราวนี้ลงไปยาวที่จุดรอรถตู้เลยครับ สำหรับจุดรอรถตู้สำหรับคนที่ลงมาจากดอยอ่างขาง จะมีอยู่ 2 จุด 1. ปากทางขึ้นดอยอ่างขาง (ตรงข้ามวัดหาดสำราญ) 2. บ้านผู้ใหญ่ลือ ถ้านั่งรถสองแถวสีขาวลงมาแนะนำว่าควรรอรถตู้ที่ปากทางขึ้นดอยอ่างขาง จะสะดวกกว่า
จากฝางไปยังเชียงใหม่มีจุดตรวจของทหาร ตำรวจอยู่ 2 จุดใหญ่ รถตู้จะโดนเรียกตรวจทุกครั้ง ตรวจยาเสพย์ติดที่ลักลอบมาจากชายแดน ตรวจคนหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นจำเป็นมากที่จะต้องพกบัตรประชาชนไปด้วย
ขากลับรถตู้จะจอดรถ ที่ อ.เชียงดาว ให้ผู้โดยสารแวะเข้าห้องน้ำเหมือนขามา
ผมมาถึงเชียงใหม่ ตอน 5 โมงเย็น รถจอดที่สถานีขนส่งช้างเผือก ก็นั่งรถแดงมาเช็คอินที่ โรงแรมเชียงใหม่บูติคเฮ้าส์ เที่ยวถนนคนเดินวัวลาย ถนนคนเดินวันเสาร์ วันรุ่งขึ้นก็เที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ วัดศรีสุพรรณ, ถนนนิมมานเหมินท์, ร้านไอติม Iberry ของคุณโน๊ต อุดม ไว้เขียนข้อมูลส่วนนี้เสร็จแล้วจะเอารีวิวมาให้ดูนะครับ แล้วก็เดินทางกลับตอนเย็นเลย สำหรับรีวิวดอยอ่างขางสิ้นปี 2555 ก็ขอจบเพียงเท่านี้ครับ 🙂
สรุปค่าใช้จ่ายไปดอยอ่างขาง ของ 2 คน
– รถตู้เชียงใหม่ –> ฝาง 150 x 2 = 300 บาท
– รถตู้ฝาง –> เชียงใหม่ 150 x 2 = 300 บาท
– ค่ารถเหมาเที่ยวบนดอยอ่างขาง 1,900 บาท
– บ้านพักเลาติง 1 คืน 1,500 บาท
– ค่าข้าว 3 มื้อ 700 บาท
– ซื้อขนม ของฝาก 600 บาท
– อื่นๆ 300 บาท
รวมทั้งหมด 5,600 บาท เฉลี่ยคนละ 2,800 บาท
Link.
Post Views 9828
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ