ย่านเมืองเก่าภูเก็ต แผนที่ชมตึกชิโนโปรตุกีส

  • ภูเก็ต / ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตึกชิโนโปรตุกีส

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว เมืองภูเก็ตไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลเหมือนทุกวันนี้ แต่เป็นเมืองที่มีทรัพยากรแร่ธาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแร่ดีบุก แร่ดีบุกในสมัยนั้นเป็นแร่ที่มีราคามาก หลายประเทศมีความต้องการใช้ในการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จากการที่มีแร่ดีบุกอยู่มาก ทำให้มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกเข้าภูเก็ตมาร่วมลงทุนในเหมืองแร่ และมีชาวจีนมาเป็นแรงงาน บ้างก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนายเหมือง พ่อค้า

Klook.com

เมืองภูเก็ตในตอนนั้นจึงมีวัฒนธรรมแบบตะวันตก และ จีนผสมอยู่ด้วย การสร้างบ้านในตอนนั้นจึงผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน กลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส บ้านเรือนแบบชิโนโปรตุกีส มีอยู่ด้วยกันหลายจังหวัดในภาคใต้ แต่ที่มีเยอะสุด หลายร้อยหลัง และอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดก็ต้องที่ภูเก็ต ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีมากที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย

คำว่าชิโน (Sino) แปลว่าจีน ส่วนโปรตุกีส (Portugyese) ก็คือประเทศโปรตุเกสในทวีปยุโรป เมื่อรวมเป็น ชิโนโปรตุกีส (Sino-Portugyese) ก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรปได้อย่างลงตัว

การชมบ้านเมืองเก่าชิโนโปรตุกีส โดยปกติแล้วจะนิยมไปชมที่ ถนนถลาง กระบี่ ดีบุก เยาวราช และ ซ.รมณีย์ เนื่องจากเป็นย่านที่มีบ้านเรือนแบบชิโนโปรตุกีส อยู่อย่างหนาแน่น วิธีที่ง่ายที่สุดในการเดินชมคือการจอดรถเป็นจุดๆ แล้วเดินชม ถ่ายรูป ช่วงเวลาที่ดีที่สุดจะเป็นช่วงเย็น เนื่องจากอากาศไม่ร้อน มีร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านในย่านชิโนโปรตุกีส ช่วยเพิ่มสีสัน ให้ย่านเมืองเก่ามีชีวิตชีวา

ถนนถลาง – ซอยรมณีย์

ถ้ามีเวลาจำกัดแนะนำให้มาที่ ถนนถลาง ระยะทางตั้งแต่ถนนเยาวราช ไปจนถึงถนนเทพกระษัตรี ระยะทางประมาณ 400 เมตร มีบ้านชิโนโปรตุกีสติดๆ กัน ทั้ง 2 ฝั่งถนน และยังสามารถเดินต่อเข้าไปที่ ซ.รมณีย์ด้วยก็ได้

บ้านชิโนโปรตุกีส ที่ถนนถลาง เป็นบ้านเรือนที่ยังมีชีวิตอยู่ มีคนอยู่จริง มีร้านค้า ร้านอาหาร สำนักงาน เกสเฮาส์ บ้านแต่ละหลังอยู่ในสภาพที่สวยงาม และ สมบูรณ์

ถนนถลางเป็นถนนเล็กๆ จอดรถได้ 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา รถวิ่งแบบวันเวย์ ได้ 1 เลน

ช่องโค้งที่อยู่หน้าบ้านทุกบ้าน เป็นทางเดินเท้ากว้าง 5 ฟุต ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หง่อคาขี่”

หง่อคาขี่  (จีน:五腳基、五腳起、五腳砌) คำว่า“หง่อ”(จีน:五) หมายถึง“ห้า” ส่วนคำว่า“คาคี”(จีน:腳基) มาจากภาษามลายูว่า“kaki” ที่แปลว่า“เท้า” ซึ่งในที่นี้หมายหมายถึงหน่วยวัดความยาวแบบอังกฤษฟุต แปลโดยรวมจะหมายถึง“ทางเท้าห้าฟุต”

สุดถนนถลาง ก่อนจะถึงถนนมนตรี เป็นที่ตั้งของ ททท ภูเก็ต ตัวอาคารสร้างกลมกลืนกับบ้านเก่าในภูเก็ต

ซอยรมณีย์ (ซอยหั่งอาหล่าย) เป็นซอยเก่าแก่ บ้านชิโนโปรตุกีส ของตัวเมืองภูเก็ต ทั้งซอยมีระยะทางประมาณ 150 เมตร นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปในซอยนี้ ในอดีตซอยรมณีย์เป็นแหล่งโสเภณีของภูเก็ตให้บริการโดยหญิงสาวจากมาเก๊า ญี่ปุ่น และมลายู และต่อมาเปลี่ยนเป็นหญิงสาวจากภาคเหนือของประเทศไทย แต่ปัจจุบันไม่ได้กลายเป็นแหล่งโสเภณีแล้ว แต่เป็นบ้านเรือน เกสเฮ้าส์ ร้านค้า บริษัท

ตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส ที่ยังคงสภาพสวยงามอยู่ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในซอย ที่ช่วยดูแล และซ่อมแซมบ้านเรือนของตัวเองให้คงสภาพเดิมไว้ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าของภูเก็ต

ในเวลากลางคืน ซ.รมณีย์ จะเปิดโคมไฟจีนประดับสวยงาม เป็นจุดถ่ายรูปในตอนกลางคืน

โรงแรมวิบูลสิน โรงแรมแห่งเดียวในซอยรมณีย์

ซ.รมณีย์ ฝั่งถนนถลาง

ถนนกระบี่

อยู่ถัดจากถนนถลางมีระยะทางประมาณ 500 เมตร อาคารเก่าในย่านนี้ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไทยหัว และ บ้านชินประชา

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เดิมทีนั้นเป็นโรงเรียนจีน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2477 เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ มีข้อมูล บันทึก ฯลฯ เกี่ยวกับชาวจีนในภูเก็ต ค่าเข้าชมคนไทย คนละ 50 บาท และชาวต่างชาติ 200 บาท

ส่วน บ้านชินประชา เป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส หรือที่เรียกกันว่า “อังม่อเหลา” ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านได้ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี ปัจจุบันเป็นบ้านที่มีคนอาศัยอยู่จริง การเข้าชมด้านใน มีค่าเข้าชม (คนไทย) คนละ 100 บาท

ถนนพังงา

เป็นถนนคู่ขนานกับถนนถลาง มีระยะทางสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยตึกเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นอาคารธนาคารชาร์เตอร์ ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ และโรงแรมออนออน

เริ่มจากแยกธนาคารชาร์เตอร์ (ถนนพังงา – ภูเก็ต) มีอาคารเก่าแก่ 2 อาคารอยู่ตรงข้ามกัน ได้แก่ ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ และ ธนาคารชาร์เตอร์

ในอดีตศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ เป็นอาคารสีขาวมีหอนาฬิกาอยู่ด้านบน ปัจจุบันบูรณะใหม่ทาสีเหลือง เหมือนกับธนาคารชาร์เตอร์ เนื่องจาก ทั้งสองอาคารได้ถูกใช้พื้นที่เป็น พิพิธภัณฑ์บาบ๋าภูเก็ต

อาคารธนาคารชาร์เตอร์ (รูปบน) เป็นธนาคารแรกในภูเก็ต สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

ตึกแถวชิโนโปรตุกีสสีสดใส ที่ถนนพังงา

โรงแรมออนออน โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ต ปัจจุบันก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ภายในตกแต่งทำใหม่เกือบทั้งหมด และยังคงความคลาสสิคไว้ เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง The Beach หากใครสนใจเข้าพักบอกเลยว่าราคาไม่แพงเริ่มต้น 1 พันกว่าๆ ลองเช็คราคาในนี้

เยื้องกับโรงแรมออนออน มีอาคารสีขาวขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล อาคารนี้คือ ธนาคารกสิกรไทย มีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูปย้อนยุคที่ชั้นล่าง

เกือบสุดถนนพังงา เป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าแสงธรรม อายุกว่า 100 ปี

ถนนดีบุก – ถนนเทพกระษัตรี

ถนนเส้นนี้ยาวประมาณ 500 เมตร ถ้าเริ่มต้นจากฝั่งถนนสตูลแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทพกระษัตรี ก็จะเจอกับ บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์, บ้านหลวงอนุภาษ และบริษัทอนุภาษและบุตร

บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ หลวงอำนาจนรารักษ์เป็นผู้ริเริ่มการกินเจในภูเก็ต บ้านหลังนี้ให้ความรู้สึกเก่าแบบเดิมๆ ปัจจุบันมีผู้อาศัยในบ้านนี้อยู่ สามารถดูบ้านได้จากริมถนนเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้เข้าชม

ถึงแม้ว่าถนนดีบุกจะไม่มีสถานที่สำคัญมากเท่ากับถนนเส้นอื่น แต่ก็มีอาคารสวยๆ และภาพ street art ริมถนน

สุดถนนดีบุก เลี้ยวซ้ายไปถนนเทพกระษัตรี จะเจอกับบ้านหลวงอนุภาษอยู่ทางซ้ายมือ และบริษัทอนุภาษและบุตรอยู่ฝั่งขวามือ

บ้านหลวงอนุภาษ หรือ บ้านหงษ์หยก เป็นบ้านที่หลวงอนุภาษภูเก็ตการ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ตัวบ้านเป็นอาคารยุโรปผสมจีน ปัจจุบันอยู่ในสภาพดี แต่ไม่เปิดให้คนภายนอกเข้าชม

บริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด อาคารสีกะปิ – ขาว ในรูปด้านบน เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ในปี พ.ศ.2482 ดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต แต่ปัจจุบันได้เลิกทำกิจการเหมืองแร่แล้ว

ถนนมนตรี

เป็นพื้นที่รอบนอกของย่านตัวเมืองเก่า ไม่ค่อยมีตึกชิโนโปรตุกีสให้เห็น สิ่งที่น่าสนใจในถนนเส้นนี้ก็เป็น พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต ที่ตั้งอยู่ในไปรษณีย์ภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต เดิมเป็นที่ทำการไปรษณีย์ภูเก็ตหลังเก่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ภายในรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในกิจการไปรษณีย์ – โทรเลข เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชม

การเที่ยวชมย่านเมืองเก่า ตึกชิโนโปรตุกีส วิธีที่สะดวกที่สุดคือการขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วแวะจอดถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ถ้ามีเวลาไม่มากก็แนะนำให้เดินชมจากถนนถลาง ไปจนถึง ซ.รมณีย์ ซึ่งเป็นโซนที่สวยที่สุด

Klook.com

ส่วนการเดินทางจากสนามบินภูเก็ต เข้าตัวเมือง แนะนำให้เดินทางด้วยรถบัส ค่ารถเพียงคนละ 100 บาท รถออกตลอด รถใหญ่ ปลอดภัย

Post Views 72811

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *