อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แหล่งโบราณสถานยุคขอม

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “เมืองอภัยสาลี” สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เมืองโบราณศรีเทพมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองส่วนใน มีพื้นที่ 1,300 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบซากโบราณสถานกว่า 70 แห่ง บางแห่งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว และ เมืองส่วนนอก มีพื้นที่ 1,589 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน ขนาดเป็น 2 เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน

โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยานฯ

อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. 2531

ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น

ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังในระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย

โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า “เขาคลัง

ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่บริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) ศาลเจ้าพ่อศรีเทพเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ วันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 นอกจากโบราณสถานดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทิศใต้ของ เขาคลังในพบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง มีการพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ นอกจากนี้ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่า สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก ทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็น น้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30?16.30 น. และสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.dnp.go.th

การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 เส้นสระบุรี-หล่มสัก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร มาลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ (บ้านกลาง) แล้วต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานฯ

ที่มา. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

Post Views 489

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *