เที่ยวบาหลี นาข้าวขั้นบันได – ตลาดผลไม้ – Pura Ulun Danu Bratan
ต่อจากตอนที่แล้ว เที่ยวบาหลี ตลาด Sukawati – น้ำตก Tegenungan – Kerta Gosa
วันที่เป็นวันที่ 3 ของทริปบาหลี เรานัดคนขับให้มารับที่โรงแรมเวลา 8.45 น. แล้วไปเที่ยว 4 ที่ดังนี้
- นาข้าวขั้นบันได Jatiluwih
- ตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market
- วัดกลางน้ำ Pura Ulun Danu Bratan
- ป่าลิง Sangeh Bali Monkey Forest
ไฮไลต์ของวันนี้จะเป็นวัดกลางน้ำ Pura Ulun Danu Bratan เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาก สำคัญขนาดที่ว่ามีรูปวัดนี้อยู่บนธนบัตรอินโดฯ ฉบับ 50,000 IDR
มื้อเช้าเราทานข้าวที่ TUNJUNG MAS BUNGALOWS เริ่มทานได้ตั้งแต่ 8.30 น. ค่อนข้างสายกว่าโรงแรมในบ้านเรา
อาหารเช้าจะจัดเป็นเซต เลือกได้แต่ไข่ (ไข่ดาว, ไข่ต้ม, ออมเล็ต) กับน้ำ (ส้ม, แตงโม, สัปปะรด, น้ำเปล่า) นอกเหนือจากนี้ก็มีผลไม้ กาแฟ
หน้าตาอาหารจัดมาสวย รสชาติธรรมดา ปริมาณน้อยไปนิด
มื้อนี้รีบทาน รีบไป เพราะนัดคนขับไว้ตอน 8.45 น. เป็นความบังเอิญของเรา ที่วันนี้ 17 สิงหาคม เป็นวันสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย
17 สิงหาคม Indonesia Independence Day
เป็นวันที่อินโดนีเซียประกาศเป็นเอกราช หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์มา 300 กว่าปี วันนี้บริษัท สถานที่ราชการจะหยุด แต่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เปิดตามปกติ
ตามท้องถนน ประดับไปด้วยผ้าลายธงชาติอินโดนีเซีย สีขาว-แดง และมีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ บางคันประดับธงชาติ มีการเฉลิมฉลอง ขบวนพาเหรดตามท้องถนน
ระหว่างทาง เราจะเห็นประชาชนขับรถเป็นขบวนโบกธงชาติ ประดับด้วยผ้าขาว-แดง สีของธงชาติ ถนนในบาหลีก็แคบๆ ต้องขับระวัง ใช้ความเร็วได้แค่ 40-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
สถานที่เที่ยวที่แรกของวันนี้จะเป็น นาขั้นบันได Jatiluwih นาข้าวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาชม
ใช้เวลาเดินทางจาก Ubud ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที หรือประมาณ 45 กิโลเมตร เราก็มาถึง Jatiluwih
วันที่ไปมีคลับรถยนต์คลาสสิคจอดอยู่หลายคัน รถที่อยู่ในรูปด้านบนเป็นรถรุ่น Volkswagen Type 181/182 ในอินโดนีเซียจะมีชื่อรุ่นว่า Volkswagen Camat เป็นรถที่ผลิตในปี ค.ศ. 1968 – 1983 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงงานผลิตในเยอรมัน, เม็กซิโก และจาการ์ต้า อินโดนีเซีย
ด้วยการที่อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตรถรุ่นนี้ จึงมีรถรุ่นนี้อยู่พอสมควร และนิยมใช้รถรุ่นนี้ในการพานักท่องเที่ยว (กระเป๋าหนัก) ไปเที่ยวยังที่ต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการนำเข้ามาเพิ่มเนื่องจากมีความต้องการรถรุ่นนี้มาก
การออกแบบรถรุ่นนี้ตั้งใจที่จะทำมาใช้แทนรถทหาร Europa Jeep และต้องการให้มีราคาถูก ทนทาน น้ำหนักเบา ใช้งานได้ทั่วไป หน้าตารถจึงออกมาดูคล้ายๆ กับรถ Jeep มีทรงเหลี่ยมค่อนข้างเยอะ
ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นทางเข้านาขั้นบันได Jatiluwih มีค่าเข้าชมคนละ 40,000 IDR และค่าจอดรถ 5,000 IDR
นาข้าวขั้นบันไดจาติลุวีห์ Jatiluwih rice terraces
เป็นนาข้าวที่อยู่บนพื้นที่สูง บนพื้นที่กว่า 6 ตารางกิโลเมตร อากาศชื้นและเย็น มีภูมิประเทศเป็นเนินเขาซ้อนกัน เป็นจุดชมวิวที่สวยแห่งหนึ่งของบาหลี เป็นวิวกว้างมองออกไปได้ไกลถึงภูเขาบาตูร์ (Batur)
การปลูกข้าวบนเขาที่ไม่เสมอกัน จะต้องทำแปลงเป็นขั้นๆ วางระบบชลประทานเพื่อให้น้ำทั่วถึงทุกแปลง ชาวบาหลีจะเก่งเรื่องการชลประทานมาก (Sabak ในภาษาบาหลีแปลว่าการชลประทาน) มีการพัฒนาระบบน้ำในการเกษตรตั้งแต่ปีคริสต์ศตวรรษที่ 9
การเดินเที่ยวในนาขั้นบันได Jatiluwih มีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ มีเส้นทางเป็นวงรอบ สามารถเดินได้เอง ไม่ต้องมีไกด์
- เส้นทางระยะสั้น ระยะทาง 1.47 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- เส้นทางเซมิ ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.2 ชั่วโมง
- เส้นทางระดับกลาง ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
- เส้นทางไกล ระยะทาง 6.1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมง เส้นทางนี้ผ่านวัด Besikalung
- เส้นทางไกลพิเศษ ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เส้นทางนี้ผ่านวัด Besikalung มีกิจกรรมปลูกข้าว ไถนาให้ลองทำ
10.30 น. เริ่มเดิน ช่วงเวลาประมาณนี้น่าจะเป็นเวลาที่ดีในการชมนาข้าวขั้นบันได อากาศดี แดดไม่ร้อน เดินเพลินๆ นอกจากต้นข้าวแล้วก็มีต้นมะพร้าว นิยมปลูกที่ท้ายแปลง
เราเดินอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่ได้สนใจว่าจะเดินวงรอบเล็กหรือใหญ่ ถ้าข้างหน้ามีวิวสวยที่ไม่ซ้ำกับที่ผ่านมาก็พร้อมจะเดินต่อ
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ต้นข้าวยังเล็กอยู่ ดูไม่ค่อยเขียวเท่าไหร่
ชลประทานในนาขั้นบันได หรือที่ชาวบาหลีเรียกว่า Sabak มีการไหลของน้ำจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ไหลผ่านทุกแปลงข้าว การไหลของน้ำจะซิกแซกไปมาเพื่อให้น้ำไปอย่างทั่วถึงและชะลอการไหลของน้ำ
ในพื้นที่นาจะมีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หลายที่ บ่งบอกถึงความเชื่อของชาวบาหลีที่มีอยู่ทุกที่
สรุปว่าเราใช้เวลาเดินชมนาขั้นบันไดไปประมาณ 30 นาทีก็กลับ บรรยากาศนาข้าว ดูจะไม่ตื่นตาตื่นใจเราเท่าไหร่ ในประเทศไทยเราก็เห็นนาข้าวจนชินแล้ว ต่างกับชาวยุโรป ออสเตรเลีย ที่ดูจะสนใจมากกว่าเรา
บาหลีปลูกข้าวไม่พอกิน
เราขึ้นรถไปยังที่เที่ยวถัดไป ตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market ระหว่างทางก็คุยกับคนขับ เค้าเล่าให้เราฟังว่าทุกวันนี้บาหลีปลูกข้าวไม่พอกิน เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เยอะมาก มีการบริโภคสูง ที่นา ก็เปลี่ยนเป็นโรงแรม รีสอร์ท และวิลล่า
เมื่อมีนักท่องเที่ยวเยอะก็มีการใช้น้ำเยอะขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมหรู วิลล่าที่มีสระว่ายน้ำ มีสวน ก็ต้องใช้น้ำ ทำให้น้ำในการเกษตรมีน้อยลง ปัจจุบันบาหลีนำเข้าข้าวจากเกาะชวา (อินโด) เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในบาหลีก็สร้างรายได้มหาศาลให้กับอินโดนีเซีย คุ้มกว่าการปลูกข้าวเสียอีก
เราไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับ 3 ของโลกเลย แต่ก็ไม่ใช่ประเทศส่งออกข้าว เนื่องจากว่าประชากรเยอะ ไม่เหลือพอที่จะส่งออก
ตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market
11.45 น. มาถึงตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มาก เล็กกว่าที่เราคิดเสียอีก ตลาดแห่งนี้นักท่องเที่ยวที่จะไป Pura Ulun Danu Bratan มักจะแวะเนื่องจากเป็นตลาดที่อยู่ระหว่างทาง
Candi Kuning Fruit Market มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Pasar Bedugul (Pasar แปลว่าตลาด, Bedugul เป็นชื่อเมืองที่ตั้งของตลาด) ตลาดแห่งนี้จะเน้นขายผัก ผลไม้ และดอกไม้ ผลไม้ของบาหลีก็จะคล้ายๆ กับบ้านเรา เช่นมะม่วง ส้ม แก้วมังกร ทุเรียน สละ กล้วย ฝรั่ง และสตอเบอรี่ พื้นที่บริเวณนี้อากาศจะเย็นกว่า Ubud มีฟาร์มสตอเบอรี่อยู่หลายแห่ง
เห็นเป็นตลาดบ้านๆ ธรรมดาแบบนี้ ลองถามราคาดูแล้วจะตกใจ เพราะเค้าบวกราคามาสำหรับนักท่องเที่ยว ผลไม้ก็ไม่ใช่เกรด A
สินค้าแต่ละอย่างไม่มีราคาติดไว้ อยากรู้ต้องถามเอา ราคาสินค้าขึ้นลงได้ตามเชื้อชาติของคนซื้อ เช่นคนจาการ์ต้า คนมาเลเซีย จะซื้อได้ถูกกว่าฝรั่งยุโรป, คนไทย
เคยอ่านเจอมาว่ามาบาหลีต้องลองทานสละ (อินโด) ดู คนขายบอกโลละ 50,000 IDR ส้มโลละ 100,000 IDR สตอเบอรี่แพคใหญ่ 100,000 IDR ราคาแพงเว่อร์ดีจริงๆ ลองต่อราคาดู ได้สละโลละ 20,000 IDR ส้มโลละ 40,000 IDR
การต่อราคาแนะนำที่ 40% ของราคาเปิดแม่ค้า เช่นแม่ค้าบอก 100 ให้ต่อไป 40
สินค้าประเภทเครื่องเทศก็มีขาย เช่น วนิลา พริกไทย หรือ กาแฟ โกโก้ ก็มี
กาแฟ โกโก้ ซื้อที่ตลาดราคาถูกกว่าซื้อจากไร่ เพราะที่ตลาดมีร้านค้าหลายร้านให้เปรียบเทียบราคา ส่วนที่ไร่กาแฟ ขายอยู่เจ้าเดียว และ ไร่กาแฟจะต้องจ่ายค่าน้ำให้กับรถที่พามา
สินค้าของฝาก งานฝีมือ งานไม้ ของที่ระลึก
เห็นคนขับซื้อขนมอะไรซักอย่าง ด้วยความสงสัยเลยถามเค้าดู เป็นขนมท้องถิ่น ด้านในเป็นข้าว กะทิ ถั่ว คล้ายข้าวต้มมัดบ้านเราเลย เค้าส่งให้เราลองทานอยู่หลายชิ้น
จากตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market อีก 10 นาทีเราก็มาถึง Pura Ulun Danu Bratan มีค่าเข้าคนละ 50,000 IDR การแต่งกาย กางเกงขาสั้น ขายาว กระโปรง เข้าได้หมด ไม่จำเป็นต้องนุ่งโสร่ง
วัด Ulun Danu Beratan Temple
มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า Pura Bratan ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเบราตัน (Beratan) เมือง Bedugul ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นวัดนี้อยู่ตรงกลางของเกาะบาหลี พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร อากาศเย็นสบายกว่า Ubud ชาวบาหลีเองก็นิยมมาเที่ยว มารับอากาศเย็นที่เมือง Bedugul ในช่วงวันหยุด
วัด Ulun Danu Beratan Temple สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1633 เป็นวัดประกอบพิธีที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมี Dewi Danu เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ด้วยความสำคัญของน้ำในทะเลสาบเบราตันซึ่งเป็นแหล่งน้ำในการเกษตรที่สำคัญของบาหลี จึงมีการสร้างเมรุ (ศาลาหลังคาหลายชั้น) เพื่ออุทิศให้กับเทพเจ้า
การมา Ulun Danu Beratan Temple ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 5 ปี ที่มาซ้ำ เพราะว่ารอบนั้นฝนตกหนักแทบจะไม่เห็นอะไรเลย
เมรุ หรือ pelinggih meru ในภาษาบาหลี เป็นศาลเจ้าที่อยู่ในวัด สถานที่ไหนที่มีความสำคัญมากจะมีจำนวนชั้นมาก อย่างในรูปด้านบนมีหลังคาจำนวน 11 ชั้น
เมรุ ในรูปด้านบนจะอยู่บนเกาะ มีทางเดินข้ามสำหรับประกอบพิธี แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถข้ามไปได้
การถ่ายรูป Ulun Danu Beratan Temple สามารถถ่ายได้จากหลายมุม ถ่ายได้ตลอดเวลาไม่ต้องกลัวย้อนแสง และการที่วัดอยู่กลางน้ำ ทำให้ได้รูปสวย ไม่ติดคน
เรือพาย ชมทะเลสาบเบราตัน
วัดนี้มีต้นไม้ร่มรื่น คล้ายสวนสาธารณะ คนบาหลี อินโดฯ ก็นิยมมาพักผ่อน
ระหว่างที่เดินชม ก็เห็นคนบาหลีประกอบพิธีกรรม เดินเป็นขบวน
นอกจากวัดกลางน้ำแล้ว ที่นี่ก็ยังมีมุมสวยๆ อีกหลายมุม อย่างในรูปด้านล่างเป็นประตูวัดสีทอง นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปค่อนข้างเยอะ
Buffet มื้อกลางวัน
ถึงมื้อกลางวันทีไร เราต้องลุ้นว่าคนขับจะพาเราไปทานข้าวที่ไหน จะแพงหรือเปล่า อย่างมื้อนี้คนขับพามาทานร้าน Buffet PACUNG INDAH ลงจากรถปุ๊ป ก็มีพนักงานมาจดทะเบียนรถ ราวกับว่าสะสมแต้ม
เข้าไปในร้านไม่มีราคาอาหารบอก สิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบในบาหลีคือความไม่ชัดเจน ซื้อของไม่มีราคาบอก จะถูกหรือแพงมันไม่ใช่ปัญหา
ร้านนี้มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ส่วนมากเป็นชาวยุโรป รสชาติอาหารก็พอใช้ได้ หลากหลาย
เช็คบิลมา ราคาอาหารดังนี้
- น้ำเปล่า 15000 x2 = 30,000 IDR
- Buffet 100 x2 = 200,000 IDR
- Tax & Service 21% = 48,300 IDR
: : รวม 278,300 IDR
คิดเป็นเงินไทยแบบคร่าวๆ มื้อนี้คนละ 350 บาท เป็นราคาที่พอรับได้
กินข้าวเสร็จ มีแรงพร้อมที่จะไปเที่ยวต่อยังที่สุดท้ายของวันนี้ Obyek Wisata Sangeh ชื่อค่อนข้างยาว นักท่องเที่ยวมักจะเรียกสั้นๆ ว่า Monkey Forest หรือป่าลิง ซึ่งในบาหลีมี Monkey Forest อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ Sangeh Monkey Forest, Ubud Monkey Forest และ Alas Kedaton Monkey Forest
Obyek Wisata Sangeh มีค่าเข้าคนละ 30,000 IDR การแต่งกาย กางเกงขาสั้น ขายาว กระโปรง เข้าได้หมด ไม่จำเป็นต้องนุ่งโสร่ง
คำแนะนำในการเข้าชม Monkey Forest
- ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนห้ามเข้า
- แต่งกายสุภาพ
- ห้ามจับ ห้ามแหย่ ห้ามทำร้ายลิง
- ไม่ควรนำอาหารและน้ำเข้าไป ลิงอาจจะแย่งได้
- ระวังลิงขโมยแว่นตา และที่คาดผม
ที่หน้าทางเข้ามีรูปปั้นลิงตัวใหญ่ อยู่ในท่ากางแขนและบีบลิงตัวเล็กในมือ หน้าตากำลังโมโห
ป่าลิง Sangeh Monkey Forest
เป็นป่าขนาดใหญ่ในเมือง Sangeh มีลิงธรรมชาตินับร้อยตัว ที่นี่เป็นป่าลิงที่ใหญ่ที่สุดในบาหลี และเปิดให้นักท่องเที่ยวชมเป็นที่แรก บรรยากาศใน Monkey Forest ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ อากาศเย็นและชื้น ภายในมีวัด Bukit Sari เป็นวัดฮินดู สร้างโดยราชวงศ์เม็งวี (Mengwi) ในคริสต์ศักราชที่ 17
ในรูปบน มีชาวบาหลีมาถ่ายรูป Pre wedding คนขับรถบอกว่าชุดนี้เป็นชุดบาหลีที่มีราคาแพง
การเข้าชมใน Monkey Forest สามารถเข้าชมเองได้ โดยไม่ต้องมี Guide เพียงแค่เดินตามทาง ลิงที่นี่ไม่ดุ และไม่ค่อยมายุ่งกับคน
นักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายรูปลิงเกาะบนหัว บนตัวเรา สามารถเรียกคนบาหลีที่มีกระเป๋าสะพายข้างได้ เค้าจะมีอาหารมาให้ แล้วลิงก็จะมาหาเรา ส่วนราคาเท่าไหร่ ไม่ทราบเหมือนกันครับ
ยิ่งเดินไปลึกคนก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ
สรุปว่าเราเดินได้ประมาณ 30 นาทีก็วนออกมา ข้างในกว้างมาก เดินได้อีกเยอะ
มองไปบนท้องฟ้า เห็นว่าวอยู่หลายตัว ช่วงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงเวลาเล่นว่าวของบาหลี จะว่าไปแล้ว ในประเทศอาเซียน มีการละเล่น และวัฒนธรรม ที่คล้ายกันอยู่บ้าง
เสร็จจาก Monkey Forest เราให้คนขับไปส่งยังที่พักใน Ubud เลย วันนี้ถึงที่พัก 15.30 น. มีเวลาที่จะพักผ่อนต่อที่โรงแรม
โปรแกรมเที่ยวเรายังเหลืออีก 3 วัน พรุ่งนี้จะพาไปเที่ยวน้ำตกลึกลับในบาหลี ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ
อ่านตอนต่อไป บาหลี วันที่ 4 นาข้าวขั้นบันได Tegalalang village วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ น้ำตกลึกลับ Tibumana Waterfall
Post Views 3994