บาหลี วันที่ 4 นาข้าวขั้นบันได Tegalalang village วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ น้ำตกลึกลับ Tibumana Waterfall

ต่อจากตอนที่แล้ว เที่ยวบาหลี นาข้าวขั้นบันได – ตลาดผลไม้ – Pura Ulun Danu Bratan

วันนี้เป็นวันที่ 4 ของทริปบาหลี และเป็นวันที่เที่ยวหลายที่มากที่สุด เรานัดคนขับให้มารับที่โรงแรมเวลา 8.45 น. แล้วไปเที่ยว 7 ที่ดังนี้

  • นาข้าวขั้นบันได Tegalalang village
  • Gunung Kawi Temple
  • วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ Pura Tirta Empul
  • ร้านกาแฟขี้ชะมด Satria Lawak Coffee
  • หมู่บ้านวัฒนธรรม Penglipuran Village
  • น้ำตกลึกลับในบาหลี Tibumana Waterfall
  • วัด Saraswati Temple

การเดินทางในวันนี้จะเดินทางเป็นวงกลมไม่ย้อนกลับมาเดิม ระยะทางวงรอบนี้เพียง 63 กิโลเมตร แต่ใช้เวลามาก เพราะถนนค่อนข้างแคบ ทำความเร็วไม่ค่อยได้

จาก Ubud ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 11 กิโลเมตร เราก็มาถึงนาข้าวขั้นบันได Tegalalang village ที่นี่เป็นจุดชมนาข้าวขั้นบันไดที่สวยแห่งหนึ่งในบาหลี อยู่ในหมู่บ้าน Tegalalang บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร อากาศเย็นสบายสดชื่นกว่า Ubud

คนขับรถพามาส่งที่จุดขายตั๋ว มีค่าเข้าคนละ 10,000 IDR (ประมาณ 24 บาท) จากนั้นก็เดินต่อไปอีกประมาณ 100 เมตร จะเจอกับนาขั้นบันได

นาข้าวขั้นบันได Tegalalang village อยู่ติดกับถนน โดยจะมีร้านขายของ ร้านอาหาร คั่นระหว่างนาข้าวกับถนน

ร้านอาหารวิวนาขั้นบันได

bali4-3

ทางลงไปยังนาข้าวจะมีหลายทาง แนะนำให้ลงที่ทางเข้าใหญ่ แต่เราไม่รู้ทางเลยไปลงทางข้างร้านอาหาร ทางค่อนข้างแคบ

ดูเหมือนเราจะมาไม่ถูกเวลา ในเดือนสิงหาคม ข้าวเพิ่งจะปลูกได้ไม่นาน เห็นเป็นต้นเล็กๆ แต่ถึงยังไงก็ยังดูสวย ลักษณะของนาข้าวที่นี่เป็นเหมือนหุบเขาลึกลงไป นาขั้นบันไดโค้งไปมา มีต้นมะพร้าวปลูกกระจายไปในแปลงนา นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปได้หมด

ระบบน้ำในนาข้าว เป็นภูมิปัญญาของชาวบาหลี ที่เรียกว่า “Subak” น้ำจะไหลไปทั่วถึงกันหมด

ระหว่างทางเดินในนาข้าวจะมีร้านขายของ ขายน้ำมะพร้าว และเป็นจุดให้นั่งพัก

เราใช้เวลาที่นาข้าวขั้นบันได Tegalalang ประมาณ 20 นาที จากนั้นก็ขึ้นรถไปยังที่ถัดไป

ประมาณ 30 นาที เราก็มาถึง Gunung Kawi สถานที่นี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย

Gunung Kawi เป็นวัดที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ Ubud สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัดนี้เป็นหน้าผาหินแกะสลักสูง 7 เมตร สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับกษัตริย์ Anak Wungsu และราชวงศ์ Udayana

การเข้าชมใน Gunung Kawi มีค่าเข้าคนละ 15,000 IDR และจำเป็นต้องมีผ้าคาดเอว หากไม่ได้เตรียมมาทางวัดก็มีให้ยืม (ยืมฟรี แต่มีกล่องให้ใส่เงินบริจาค) ถ้าใส่กางเกงขายาวก็ไม่จำเป็นต้องนุ่งโสร่ง

ทางลงไปยังวัดจะต้องเดินลงไปยังด้านล่าง ผ่านร้านขายของฝาก และนาขั้นบันได

จะว่าไปแล้วนาขั้นบันไดในบาหลี สามารถเห็นได้หลายที่ เพราะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขา ไม่ค่อยมีพื้นที่ราบ

นาขั้นบันไดใน Gunung Kawi เราเริ่มไม่ค่อยจะอินกับนาข้าว เพราะไปเที่ยวนาข้าวมา 2 ที่ รวมกับที่นั่งรถผ่าน เริ่มจะชินตาแล้ว

ธารน้ำไหลสร้างความชุ่มชื่นให้กับบริเวณรอบๆ

กว่าจะเดินถึงตัววัดใช้เวลาประมาณ 8 นาที พร้อมกับเหงื่อซึมๆ ที่นี่นักท่องเที่ยวมีไม่เยอะเพราะไม่ใช่วัดดัง

หน้าผาหินแกะสลักสูง 7 เมตร ลึกเข้าไปในตัวหน้าผา

ด้านหน้าเป็นทางน้ำไหล

พื้นที่รอบๆ เต็มไปด้วยมอส เฟิร์น บ่งบอกถึงความชุ่มชื้นของพื้นที่บริเวณนี้

ไม้แกะสลัก ขายให้กับนักท่องเที่ยว

เดินเข้าไปในส่วนของวัด เจอกับชาวบาหลี กำลังทำของไหว้ใส่ในกระทง งานในส่วนนี้เป็นงานผู้หญิง

ของไหว้ดูเหมือนแป้งปั้นเป็นอะไรซักอย่าง มีกล้วยดิบอยู่ในนี้ด้วย

งานมุงหลังคา งานไม้ เป็นงานผู้ชาย

เส้นใยจากต้นปาล์ม (Ijuk) ชาวบาหลีนำมามุงหลังคาวัดและศาลเจ้า ส่วนชาวอินโดนีเซียนำเส้นใยนี้มาทำเป็นไม้กวาด

เดินผ่านกองทรายที่จะนำไปก่อสร้าง ทรายที่บาหลีเป็นสีเทาคล้ายขี้เถ้า ต่างจากบ้านเราที่เป็นสีส้ม-น้ำตาล (ทรายแม่น้ำ)

สถานที่เที่ยวที่ 3 ของวันนี้เป็น Tirta Empul หรือที่คนไทยเรียกว่าวัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ วัดนี้ถึงจะเคยไปแล้วแต่ก็ไปอีก เพราะอยู่ห่างจาก Gunung Kawi เพียงกิโลเมตรเศษๆ ไม่ได้เสียเวลาอะไรมาก อีกทั้งวัดนี้มีตลาดที่ขายของที่ระลึกราคาไม่แพง

Tirta Empul หรือ Pura Tirta Empul เป็นวัดฮินดู สร้างเพื่ออุทิศให้กับพระวิษณุ และเป็นวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยว อยู่เหนือ Ubud ประมาณ 15 กิโลเมตร ไฮไลต์ของวัดนี้อยู่ที่น้ำพุศักดิ์สิทธิ์ เป็นน้ำที่ใสมาก ผุดขึ้นมาจากตาน้ำในวัด และเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำ Pakerisan ชาวบาหลีนิยมมาอาบน้ำ ชำระร่างกายในวัดนี้ และนักท่องเที่ยวก็สามารถอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้เช่นกัน ถ้าอยากจะลองอาบก็ให้เตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยน

ค่าเข้าชมในวัดคนละ 15,000 IDR ราคามาตราฐานของวัดทั่วไป การเข้าชมในวัดต้องนุ่งโสร่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้โดยที่ไม่ต้องมีไกด์

วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เป็นวัดที่มีทัวร์มาลงมาก โดยเฉพาะชาวออสเตรเลีย

บ่อปลาคาร์ฟในวัด

ภายในวัดมีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูปหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตู ตัวอาคาร หรือ รูปปั้น

สถานที่อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ นักท่องเที่ยวลงไปอาบมากกว่าชาวบาหลีเสียอีก

น้ำใส สะอาดมาก

บริเวณทำพิธีทางศาสนา (รูปล่าง)

 

บ่อน้ำผุด ต้นกำเนิดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ (รูปล่าง)

ทางออกจะบังคับให้เราเดินผ่านร้านค้า ร้านของฝาก ของที่ระลึก เช่น เสื้อ กระเป๋า งานไม้ ของแต่งบ้าน ภาพวาด Magnet ฯลฯ การซื้อของในวัดนี้ให้ต่อราคาไปที่ 40% เช่นคนขายบอกว่าของชิ้นนี้ 100,000 IDR แนะนำให้ต่อไปที่ 40,000 IDR

ก่อนที่จะต่อราคาให้ดูคุณภาพของสินค้าด้วย บางอย่างราคาต่อแล้วถูกจริง แต่งานหยาบมาก ติดกาวเลอะสกปรก ทาสีก็ไม่เรียบร้อย

แม่ค้าบางคนสามารถพูดไทยได้ด้วย วิธีที่ง่ายที่สุดในการต่อราคาคือจิ้มเครื่องคิดเลขให้แม่ค้าดู

มื้อกลางวัน

คนขับพามากินร้านในซอยลึก ไม่ไกลจากวัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ เป็นร้านสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่มีคนท้องถิ่นมาทาน ภายในร้านบรรยากาศดี มีที่นั่งในศาลาเล็กๆ วิวรอบๆ เป็นทุ่งนา

วิวเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สนใจเท่าไหร่ แต่ที่สนใจก็จะเป็นราคาอาหาร คนขับพามาทานร้านไหน ดูจะมี something เป็นพิเศษกับร้านนั้น

เปิดเมนูมาดู อาหารประมาณจานละ 15,000 – 25,000 IDR

จานนี้ (รูปบน) Mie Goreng ราคา 58,000 IDR (ประมาณ 136 บาท)

คำว่า “Mie” ออกเสียงคล้ายกับ “หมี่” และมีความหมายว่าก๋วยเตี๋ยว ส่วน “Goreng” แปลว่าทอด รวมกันแล้วน่าจะแปลว่าผัดหมี่

จานนี้ (รูปบน) Nasi Goreng ราคา 58,000 IDR (ประมาณ 136 บาท)

คำว่า “Nasi” แปลว่า “ข้าว” ส่วน “Goreng” แปลว่าทอด รวมกันแล้วน่าจะแปลว่าข้าวผัด

มื้อนี้หมดไป 149,500 IDR (ประมาณ 350 บาท) อาหารมีเท่าที่เห็นกับน้ำเปล่า 1 ขวด คุณภาพอาหารแย่ไปหน่อย ไก่มีให้ 2 ไม้ ย่างก็ไหม้ ตัดส่วนที่ไหม้ออกเหลือน้อยไปอีก พูดตามตรงว่าข้าวกล่อง 7-eleven บ้านเรายังดูมีสารอาหารเยอะกว่านี้

ทานข้าวเสร็จแล้วก็ไปเที่ยวต่อยังที่ต่อไป ที่ไร่กาแฟแถวนั้นๆ คนขับรถพามายังร้านชื่อ Satria Luwak Coffee (ไร่กาแฟลักษณะนี้มีอยู่มากในบาหลี ไม่จำเป็นต้องไปร้านเดียวกับเรา) ด้านหน้ามีรถพานักท่องเที่ยวมาประมาณ 20 คัน พอจะเดาได้เลยว่า ร้านแบบนี้เป็นร้านสำหรับนักท่องเที่ยว ราคาก็คงเป็นราคา (แพง) พิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

ขอเล่าท้าวความถึงเรื่องการปลูกกาแฟในอินโดนีเซียนิดนึง ว่าทำไมเราถึงอยากมาดูไร่กาแฟ

การปลูกกาแฟในอินโดนีเซีย – บาหลี

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการปลูกกาแฟมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศส่งออกเมล็ดกาแฟ ที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า (robusta) สายพันธุ์นี้ก็ปลูกเยอะที่ภาคใต้บ้านเรา ลักษณะโดดเด่นของกาแฟโรบัสต้า คือ รสเข้ม อมเปรี้ยว มีคาเฟอีนมากกว่าอาราบิก้า

ที่บาหลี มีการเพิ่มมูลค่าและรสชาติกาแฟ ด้วยการให้ชะมด (Luwak) ทานผลกาแฟสดจากต้น กาแฟนั้นจะถูกย่อย แล้วถูกขับถ่ายออกมา ว่ากันว่ากระบวนการย่อยกาแฟในลำไส้ชะมด ทำให้ได้กาแฟที่มีรสดีมากขึ้น ที่บ้านเราเรียกกาแฟนี้ว่า “กาแฟขึ้ชะมด” ส่วนภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า “Kopi Luwak” การมาชิมกาแฟขี้ชะมดที่บาหลี ถือว่าเป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

กำเนิดกาแฟขึ้ชะมด

การปลูกกาแฟในอินโดนีเซีย มาจากชาวดัทช์ที่มายึดครองอินโดนีเซีย ได้นำต้นกาแฟมาให้ชาวอินโดนีเซียปลูก แต่ให้ปลูกเพียงอย่างเดียว ห้ามเก็บ ห้ามกิน ห้ามขายในอินโดฯ ด้วยการที่ไร่กาแฟอยู่กลางแจ้งจึงมีตัวชะมดสัตว์ท้องถิ่นมากินผลกาแฟ กินเสร็จก็ถ่ายมาเป็นเมล็ดกาแฟเรียงตัวตัวสวยงาม ชาวไร่อยากลองทานกาแฟ จึงนำมูลนั้นมาทำกาแฟ ปรากฎว่าได้รสชาติที่ดีกว่าเดิม

การเข้าชมในไร่กาแฟไม่มีค่าเข้า ลงจากรถแล้วเดินผ่านดงกาแฟ ต้นโกโก้ พริกไทย ด้านในสุดจะเป็นร้าน

ผลกาแฟที่สุกแล้วจะเป็นสีแดง ในการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟจะเก็บเฉพาะผลที่สุกเท่านั้น มีข้อสังเกตว่าต้นกาแฟที่ปลูกนั้นไม่ได้มากมายอะไร คิดว่าเป็นการปลูกโชว์ ส่วนกาแฟขายคงรับมาจากสวนใหญ่

ต้นโกโก้ รูปร่างผลเป็นทรงยาวแบบมะละกอ สามารถนำไปชงเป็นเครื่องดื่ม หรือทำช็อกโกแลต ก็ได้

ตัวชะมด หรือ Luwak ในภาษาอินโดนีเซีย มองดูก็น่าสงสารถูกขังในกรงแคบๆ

ตัวอย่างกาแฟขี้ชะมด มูลดูสะอาดกว่าสัตว์ชนิดอื่น

 

เข้าไปใกล้จะถึงร้าน มียายสาธิตการคั่วกาแฟ และมีพนักงานมาให้ข้อมูล จากนี้ไปเราจะถูกประกบตลอดเวลา

ชิมชาฟรี – แกมบังคับซื้อของ

ตามธรรมเนียมของร้านกาแฟขี้ชะมดในบาหลี จะนำชา – กาแฟ – โกโก้ ยกมาให้เราทานฟรีถึง 12 ถ้วย เราได้บอกน้องพนักงานว่า ไม่ทานกาแฟนะ นี่ก็บ่ายแล้ว ถ้าทานคืนนี้คงไม่ได้นอนกันพอดี

ในรูปด้านล่างมีชา 6 ถ้วย และ โกโก้ 1 ถ้วย ส่วนกาแฟที่เราไม่ได้ทานนั้นเป็นกาแฟธรรมดา ไม่ได้เป็นกาแฟขี้ชะมด หากต้องการกาแฟขี้ชะมดสามารถซื้อเพิ่มได้ เคยเห็นในรีวิวคนอื่นราคาประมาณถ้วยละ 150 บาท

เราชิมชาไป พร้อมกับคุยกับพนักงาน เค้าก็จะถามเราทั่วไป มาจากไหน กี่วัน เที่ยวไหนบ้าง พนักงานที่นี่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องมาก

ชิมชาเสร็จพนักงานก็พามายังร้านขายของ ในนี้มีชา กาแฟ โกโก้ เครื่องเทศต่างๆ ราคาของในนี้แพงมาก คงบวกชดเชยกับชา กาแฟ ฟรี แต่ก็จำเป็นต้องซื้อของในนี้อย่างน้อย 1 อย่าง ไม่งั้นคงไม่ได้กลับออกไป พนักงานเดินตามประกบทุกฝีก้าว

สุดท้ายก็ได้โกโก้ 1 ถุง ขนาด 100 กรัม ราคา 60,000 IDR (ประมาณ 141 บาท) ราคาแพงกว่าบ้านเราเท่าตัว คิดซะว่าเป็นค่าชิมชาละกัน

ที่หน้าร้านมีตัวชะมดให้นักท่องเที่ยวดู ตัวนี้ดูซึมๆ อาจเป็นไปได้ว่า ชะมดหากินกลางคืน กลางวันก็นั่งๆ นอนๆ

14.00 น. มาเที่ยวต่อที่ หมู่บ้านวัฒนธรรม Penglipuran Village มีค่าเข้าคนละ 30,000 IDR ในนี้จะแต่งตัวยังไงก็ได้ เพราะเป็นหมู่บ้าน ไม่ใช่สถานที่ทางศาสนา

Penglipuran Village เป็นหมู่บ้านที่จัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวบาหลี ในหมู่บ้านมีทางเดินยาว บ้านเรือนมีอยู่ 2 ฝั่ง บางหลังขายของที่ระลึก บ้านหลังเป็นบ้านพักอาศัย ภายในหมู่บ้านดูสะอาดและเป็นระเบียบ ชาวบ้านก็ต้อนรับนักท่องเที่ยวดี

อากาศในหมู่บ้านไม่ร้อน เพราะที่นี่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 400 เมตร ถ้าใครชอบถ่ายรูปบาหลี ในบรรยากาศแบบท้องถิ่น ที่นี่เหมาะมาก

นักท่องเที่ยวมาชมหมู่บ้านไม่มากเท่าไหร่

ผ้าสีขาว-แดง ที่เห็นในรูปเป็นสีของธงชาติอินโดนีเซีย ประดับในช่วงวันชาติ

บ้านแต่ละหลังสร้างคล้ายๆ กัน

ป่าไผ่ในหมู่บ้าน

เราใช้เวลาในหมู่บ้าน Penglipuran Village ประมาณ 30 นาที จากนั้นก็นั่งรถอีก 1 ชั่วโมงมายังน้ำตก Tibumana Waterfall

น้ำตก Tibumana Waterfall เป็นน้ำตกที่อยู่ห่างจาก Ubud ประมาณ 30 นาที ทางเข้าน้ำตกค่อนข้างลึกลับ ถนนแคบๆ แม้แต่คนขับรถที่พาเราไป ยังหลงทาง ต้องถามทางกับชาวบ้านถึงจะไปถูก มีการจัดอันดับน้ำตกสวยในบาหลี น้ำตก Tibumana ก็ติดอยู่ในห้าอันดับแรก

จุดเด่นของน้ำตก Tibumana อยู่ที่ความเงียบสงบ มีสายน้ำตกเล็กๆ สายเดียวตกมายังแอ่งน้ำด้านล่าง

ค่าเข้าน้ำตกคนละ 10,000 IDR

จากที่จอดรถเดินไปน้ำตกประมาณ 7 นาที น้ำตกในบาหลีส่วนมากจะอยู่ในหุบเขาด้านล่าง ต้องเดินลงขันบันไดลงไป

ระหว่างทางไปน้ำตก มีต้นไม้ร่มรื่น บรรยากาศป่า และ ต้นไม้ คล้ายบ้านเรา

น้ำตกทุกแห่งที่เราไป สีน้ำจะออกขุ่นๆ อมเทา คงเป็นสีจากแร่ธาตุในดิน

ที่ตัวน้ำตกด้านล่างเจอกับชาวอินโดนีเซีย ยืนถ่ายรูปกันอยู่

มุมไฮไลต์ของน้ำตก Tibumana Waterfall

ศาลเจ้าข้างน้ำตก

เราใช้เวลาที่น้ำตกประมาณ 30 นาที และออกจากน้ำตกเกือบ 4 โมงเย็น มุ่งหน้ากลับที่พัก โรงแรมใน Ubud

ช่วงเวลา 17.00- 19.00 น. เป็นช่วงเวลาที่รถติดใน Ubud มาก ยาวเป็นกิโลเมตร บนถนนเต็มไปด้วยรถที่มาส่งนักท่องเที่ยว ถนนก็ค่อนข้างแคบ

เช็คอิน Puri Sarawati Bungalows

คืนนี้เราย้ายมานอนที่พักอีกแห่ง ชื่อว่า Puri Sarawati Bungalows ที่ตั้งของโรงแรมเป็นใจกลาง Ubud ติดกับวัด Pura Taman Saraswati (วัดสระบัว) ใกล้ Starbuck Ubud, พระราชวัง Ubud palace, ตลาด Ubud

ห้องพักที่นี่สวยมาก เป็นที่พักที่ชอบที่สุดในทริปนี้ ห้อง Deluxe เป็นบ้าน 1 หลังไม่ติดกับใคร ราคาหน้าไฮซีซั่น เพียงคืนละ 2,2xx บาท ส่วนหน้าโลว์ 1,6xx บาท มีอาหารเช้าให้ทานด้วยนะ

ด้านหน้าห้อง หน้าต่าง ประตูไม้แกะสลักสวยงาม

ภายในห้องปูพื้นหินอ่อน

ห้องเล็ก แต่ตกแต่งสวย มีตู้เย็น TV และ ตู้เสื้อผ้า

ห้องน้ำปูหินอ่อนทั้งห้อง กว้าง สวย

ด้านหลังห้องเป็นระเบียง มีโต๊ะเก้าอี้ และวิววัด Pura Taman Saraswati

หลังจากเก็บของแล้ว เราไปเดินเล่นที่ วัด Pura Taman Saraswati ข้างที่พักของเรา มีประตูเชื่อมระหว่างที่พักกับวัด แต่ถ้าไม่ได้พักที่เดียวกับเรา จะต้องเข้าทางด้านหน้า ทางเข้าเดียวกับร้านอาหาร Lotus Cafe ถ้าไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน รับรองว่าหาทางเข้าวัดไม่ถูกแน่

Pura Taman Saraswati หรือที่คนไทยเรียกว่าวัดสระบัว เป็นวัดบาหลี ฮินดู สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1951 ออกแบบโดย I Gusti Nyoman Lempad สถาปนิกชาวบาหลี ผู้มีผลงานในการออกแบบสร้างวัด และ วังในอูบุด

จุดประสงค์ของการสร้างวัดนี้เพื่ออุทิศให้กับเทพเจ้า Saraswati เทพเจ้าแห่งการเรียนรู้ ดนตรี และ ศิลปะ

วัด Pura Taman Saraswati เป็นวัดที่ไม่มีค่าเข้า และไม่มีกฎเรื่องการแต่งตัว จะใส่กางเกงขาสั้น หรือ กระโปรงก็เข้าได้

พื้นที่ในวัดมีน้อยมาก เหมือนเวทีกลางแจ้งมากกว่าจะเป็นวัด

ไฮไลต์ของวัดนี้จะเป็นทางเดินที่ขนาบด้วยสระบัว มีบันไดขึ้นไปยังประตูวัด ประตูนี้จะปิดตลอด ด้านหลังน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับทำพิธี ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

Pura Taman Saraswati วัดนี้เหมาะกับการมาเดินเล่นตอนเย็น เป็นช่วงเวลาที่แสงสวย

เมื่อยืนหันหลังให้กับวัดจะเป็นร้านอาหาร Lotus Cafe ร้านนี้ดัง คนมาทานเยอะ

ตอนเย็นเดินเล่นแถวโรงแรม ผ่านร้าน Starbuck สาขา Ubud ติดกับร้าน Lotus Cafe ร้าน Starbuck สาขานี้ ตกแต่งสวยทั้งภายในและภายนอก

มื้อเย็นเราทานอาหารร้านใกล้โรงแรม หน้าร้านบอกเป็นอาหารไทย แต่ทานแล้วรสชาติไม่ใช่ คงทำด้วยคนชาติอื่น ราคาอาหารบริเวณนี้ค่อนข้างแพง น่าจะเป็นย่านที่แพงที่สุดใน Ubud หัวละประมาณ 250 บาท

คืนนี้ต้องขอตัวไปก่อน วันพรุ่งนี้เราจะเที่ยวเบาๆ สองที่ Ubud Monkey Forest กับ วัดเม็งวี Pura Taman Ayun เพื่อพักผ่อนหลังจากที่เที่ยวเต็มวันมา 4 วันติดๆ

อ่านตอนต่อไป บาหลี วันที่ 5 Monkey Forest – Pura Taman Ayun Mengwi – Ubud Palace

Post Views 4705

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *