สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล เชียงใหม่ สวนสวยแห่งดอยสะเก็ด

ถ้าพูดถึงสวนพฤกษศาสตร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าคนจะนึกถึง สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นส่วนมาก แต่ที่จริงแล้วยังมีสวนพฤกษศาสตร์ อีกหนึ่งที่ที่มีความใหญ่ มีต้นไม้ที่หลากหลาย มีต้นไม้สวยงาม ไม่แพ้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ อ.แม่ริม เลย สวนที่ว่านี้มีชื่อว่า สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล หรือเรียกสั้นๆ ว่า สวนทวีชล เป็นสวนที่เราจะพาไปชมในรีวิวนี้

ที่ตั้งของสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล อยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด ริมถนนเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด นอกจากจะเปิดเป็นสวนให้ชมแล้ว ที่นี่ยังมีบริการที่พัก จัดสัมนา งานแต่งงาน งานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ และ จัดกิจกรรม ฯลฯ ก่อนจะเข้าไปชมในสวนทวีชล ขอเล่าข้อมูลของสวน แบบคร่าวๆ ให้ทราบกันก่อนนะครับ

สวนทวีชล

เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2548 โดยคุณทวีศักดิ์ เสสะเวช (อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ คุณชลางค์ เสสะเวช มีพื้นที่เกือบ 300 ไร่ เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวนลำไย สวนผลไม้ ทุ่งนา และ ทุ่งหญ้า ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นสวน เพื่อการท่องเที่ยว เรียนรู้ และ เพื่อการศึกษา

มีการแบ่งสวนตามประเภทของต้นไม้

  • พันธุ์ปาล์ม พันธุ์ปรง
  • พันธุ์ไม้ทนแล้งเช่น กระบองเพชร ไม้อวบน้ำต่างๆ
  • พันธุ์ไม้ดอก เช่น กุหลาบ กล้วยไม้ ชวนชม เฟื่องฟ้า โป๊ยเซียน หน้าวัว เฮลิโคเนีย ดาหลา ขิงแดง
  • พันธุ์สับปะรดสี
  • ไม้ใบชนิดต่างๆ เช่น อโกลนีม่า ฟิโลเดนดรอน โกสน เฟิร์นชนิดต่างๆ
  • ไม้ดอกตามฤดูกาล จัดทำในรูปแปลง เพื่อนำไปประดับสถานที่ต่างๆ

นอกจากนี้ก็มีสนามเด็กเล่น บ้านเรือนเก่าแบบล้านนา สวนสัตว์ขนาดเล็กให้ชม

ขับรถเข้ามาด้านใน บอก รปภ. ว่ามาชมสวน ชำระเงินที่ด้านหน้าทางเข้า

ค่าเข้าชมสวนทวีชล

  • ผู้ใหญ่ 86 บาท
  • เด็ก 43 บาท
  • เด็กนักเรียน 22 – 54 บาท

สวนฯ เปิดให้ให้บริการ 8.30 – 17.00 น.

ราคาเข้าชมนี้จะรวมถึงนั่งรถชมสวน 1 รอบ กรณีไปเป็นคู่ หรือ ครอบครัว ก็จะเป็นรถตุ๊กๆ ถ้ามาเป็นกรุ๊ปใหญ่ หรือ วันหยุด จะมีรถลากแบบในสวนสัตว์ นั่งได้หลายสิบคน พาชมรอบสวน แต่จะพาชมแบบไม่แวะจอด และ มาส่งยังจุดเดิมที่ขึ้นรถ คือหน้าทางเข้า หลังจากนั้นเราจะต้องเช่าจักรยาน ปั่นชมด้านใน (ไม่แนะนำให้เดิน พื้นที่กว้างมาก) เที่ยวตามจุดที่สนใจ

เช่าจักรยาน

  • จักรยานเด็ก 54 บาท / (3 ชั่วโมง)
  • จักรยานผู้ใหญ่ 75 บาท / (3 ชั่วโมง)
  • จักรยานแบบเด็กเล็กนั่ง 86 บาท / (3 ชั่วโมง)
  • นำจักรยานมาเอง 54 บาท

ยังไม่ทันได้ชมอะไรมาก ตอนนี้หมดไปแล้วคนละ 86+75 = 161 บาท (ค่าเข้า + จักรยาน)

สถานที่แรกที่เข้าเข้าไปชมเป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทางเข้า

พิพิธภัณฑ์ ในสวนทวีชล เป็นเรือนไทย ที่มีลักษณะเป็นเรือนหมู่ การเข้าชมต้องถอดรองเท้า และ ห้ามถ่ายรูป เรือนไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ห้อง ได้แก่

1. ห้องเจ้าดารารัศมี  พระชายาพระองค์หนึ่ง ในรัชกาลที่ 5

2. ห้องชายหาญ แสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆของชาวล้านนาในอดีต

3. ห้องพระ มีปฏิมากรรมทองเหลืองพระพิคเนศประทับยืนอยู่ในปราสาท ผ่านเข้าไปในห้องพระ พระแก้วขาว

4. ห้องธารสิน แสดงเครื่องรางของขลังของเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางภาคเหนือ และของใช้ของโบราณ มีพระพุทธรูปในปางต่างๆ มีพระแม่โพสพ พระประทานฝน พระแม่ธรณี

5. ห้องศรีศักดิ์ เป็นห้องที่คุณศรีศักดิ์มอบของต่างๆ ที่เธอได้สะสมไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็กจนถึงชีวิตเมื่อแก่เฒ่า

ภายในเรือนไทย สร้างสวย คล้ายอุทยาน ร.2 ที่อัมพวา

ถัดจากพิพิธภัณฑ์ไปไม่ไกลเป็นท่าเรือ มีจักรยานน้ำ หรือ เรือถีบให้เช่า ชั่วโมงละ 60 บาท ถ้ามาเป็นกรุ๊ป เช่าเรือปั่นเล่นก็น่าจะสนุกดี หรือ จะลงไปนั่งในเรือถ่ายรูปสวยๆ ก็ได้

วันที่ไปเป็นวันธรรมดา คนน้อย และ อากาศร้อน ไม่มีใครเช่าเรือเลย

สวนกล หรือ เขาวงกต เป็นเส้นทางซับซ้อน มีแนวต้นคริสติน่า กั้นเป็นเส้นทาง ถ้าอากาศไม่ร้อนก็น่าเข้าไปเดินเล่น

หนีร้อน เข้ามาชมไม้ในโดมกันบ้าง มีอยู่ด้วยกัน 4 โดม เดินถึงกันได้หมด

พืชในป่าดิบชื้น เข้าไปด้านในรู้สึกได้ถึงความชุ่มชื้น มีน้ำตกจำลองอยู่ด้านใน และมีปลาคาร์ฟแหวกว่ายอยู่ในบ่อเล็กๆ รอบบ่อมีไม้ที่ชอบอยู่ในที่ชื้น เช่น เฟิร์น ไม้ใบ

โดมกล้วยไม้ มีกล้วยไม้ป่า กล้วยไม้ลูกผสม และ สับปะรดสี (bromeliads)

หลังคาโดมมุงด้วยสแลน เพื่อลดแสง ส่วนน้ำฝนยังคงเข้ามาในนี้ได้

โดมขนาดไม่ใหญ่ กะด้วยสายตาประมาณ 30-40 ตารางเมตร

โดมเฟิร์น ข้างในชื้นๆ เฟิร์นในนี้ส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตา อยู่แล้ว เช่น เฟิร์นใบมะขาม เฟิร์นข้าหลวง เฟิร์นฮาวาย ฯลฯ

ที่ใต้ใบเฟิร์นที่โตแล้ว จะเห็นเป็นเม็ดๆ เรียกว่าอับสปอร์ และภายในอับสปอร์ จะมีสปอร์

โดมสุดท้ายเป็น โดมกระบองเพชร หรือ รวมพืชอวบน้ำ ทนแล้ง

ทางเข้าโดมจะมีกล้วยไม้สวยๆ ให้ชม กล้วยไม้ตรงนี้ออกดอกดี สีสวย กว่าโดมกล้วยไม้เสียอีก

สิ่งที่ต่างกับโดมอื่น คือ ด้านข้างเปิดโล่ง ให้ลมไหลผ่าน และ เป็นหลังคาใสแบบกันฝน เนื่องจากโดยธรรมชาติของกระบองเพชร ชอบแดด ชอบอากาศแห้ง ทนแล้ง แต่ไม่ทนต่อฝน

ไม้ที่อยู่ในนี้ เช่น Echinocactus (ถังทอง), Ferocactus, Melocactus, Opuntia, Astrophytum, Notocactus, ไม้ลำตระกูล Cereus, Aloe, Agave, Pachypodium ฯลฯ

Ferocactus กำลังมีดอก

การจัดสวนกระบองเพชรดูคล้ายๆ กันหลายที่ เช่น สวนนงนุช สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เน้นไม้ขนาดใหญ่ ไม้ทน และ ราคาไม่แพง

Pachypodium ดอกขาว มีกลิ่นหอม เป็นไม้อวบน้ำ ลำต้นมีหนาม มีถิ่นกำเนิดที่มาดากัสการ์  และ แอฟรีกา จัดอยู่ในวงศ์ (Family) Apocynaceae เดียวกับต้นลีลาวดี

จะว่าไปโดมกระบองเพชรก็มีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูปเยอะเลย แต่อยู่ได้ไม่นานอากาศค่อนข้างร้อน

ต้นปาล์มต้นนี้แปลกดี ลำต้นม้วนดูคล้ายสระเอ “เ”

สวนหิน มีหินก้อนใหญ่ ล้อมรอบด้วยต้นไม้สีสด แวะจอดถ่ายรูปเฉยๆ แล้วก็ปั่นจักรยานไปจุดถัดไป

สวนสัตว์เล็ก ควายไทยกำลังกินฟางอยู่ ตัวอ้วน ดูสะอาดมาก

อูฐโหนกเดียว หรือ อูฐอาหรับ นอนไกลไม่สนใจคนมาเที่ยวเลย ขนร่วงเป็นหย่อมๆ น่าจะกำลังผลัดขน

กรงนก มีนกยูงไทย นกยูงอินเดีย ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าอินเดีย

1 กรง มีประมาณ 2-3 ตัว

โซนสวนสัตว์ เด็กๆ น่าจะชอบ ถ้าโชคดีก็อาจได้เห็นนกยูงลำแพนหาง

ข้อดีของการปั่นจักรยานชมสวน อยากแวะตรงไหนก็ได้ นานเท่าไหร่ก็ได้

ด้วยพื้นที่สวนเกือบ 300 ไร่ กับต้นไม้จำนวนมาก คงเป็นงานที่หนักพอสมควรในการดูแลสวน ตัดหญ้า ตัดกิ่งไม้ เคยอ่านมาว่ามีคนงานดูแลสวนประมาณ 50 ครอบครัว เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ก็นำมาย่อยทำเป็นปุ๋ยหมัก

กวางรูซา ถิ่นกำเนิดที่เกาะชวา อินโดนีเซีย

สวนไม้หอม – ไม้มงคล เช่น พะยอม ปีป จำปี กระดังงา กุหลาบ แก้ว ฯลฯ

สวนไม้ตัดดอก – ไม้ใบ ทางเข้าลำบากหน่อย ต้องมุดผ่านดงต้นปรง เข้าไปด้านใน

ส่วนมากจะเป็นดอกหน้าวัว และกุหลาบเป็นหลัก ทางสวนได้รับความอนุเคราะห์จากคุณลุงพจนา นาควัชระ คุณลุงเป็นนักสะสมพันธ์กุหลาบเก่าแก่ เช่น ควีนสิริกิติ์ พรินเซสมิชิโกะ พรินเซสเดอโมนาโก ควีนเบียทริกซ์ ควีนเอลิซาเบธ

ทางเดินตกแต่งสวยงาม

แปลงดอกหน้าวัว

อีกฝั่งเป็นแปลงกล้วยไม้ กับ ไม้ใบ

ต้นไม้เขียวสบายตาดี

ปั่นจักรยาน กลับไปยังใกล้ทางออก ชมโซน หอคำทวี – วิถีชีวิตล้านนา

หอคำทวี อาคารทรงล้านนาประยุกต์ เป็นห้องประชุมใช้จัดงาน

สิ่งที่น่าสนใจในโซนนี้ก็จะเป็น บ้านเก่าล้านนา 3 หลัง ได้แก่ บ้านพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย บ้านกาแล และ บ้านไทลื้อ

เฮือนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย หรือ แปลเป็นภาษากลาง คือ บ้านปู่ ย่า ลักษณะเป็นเรือนขนาดเล็ก ตามชนบททั่วไป ลักษณะเป็นบ้านไม้ หลังคามุงด้วนแป้นเกล็ด หรือ กระเบื้องดินขอ

บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2494 อยู่ที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และ สวนทวีชลได้ซื้อบ้านนี้มาตั้งไว้ที่สวนทวีชล ในปี พ.ศ. 2547 เจ้าของบ้านเก่านามว่า “สล่าอุ๊ยอ้าย” เป็นช่างไม้ คำว่า “สล่า” อ่านว่า “สะ-หล่า” ภาษาเหนือแปลว่าช่าง

หมอนหน้าสี่ และ ที่นอนกางมุ้ง

ครัวในบ้านแบบโบราณ

ใต้ถุนบ้านเป็นอุปกรณ์ทอผ้า

บ้านหลังที่ 2 เฮือนกาแล บ้านนี้ก็เป็นบ้านเก่าจริงๆ ที่สวนทวีชลซื้อไว้เพื่ออนุรักษ์ ให้คนรุ่นใหม่ได้ดู เป็นบ้านพ่อหนานป๊อก กิจโกสุม ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด ลักษณะบ้านแบบนี้เป็นบ้านของผู้มีอันจะกิน หรือ ผู้นำชุมชน จะใหญ่ โอ่โถงกว่าปกติ ว่ากันว่าขณะย้ายมาสร้างใหม่ในสวนทวีชล มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้น จนต้องทำพิธีขอขมาลาโทษ หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็เป็นปกติ

พื้นบ้านปูทับด้วยเสื่อไม้

หิ้งพระ อยู่ที่ตำแหน่งใต้หลังคาหน้าบ้าน

ห้องนอนค่อนข้างกว้าง ในบ้านดูค่อนข้างมืด เนื่องจากไม้สีเข้ม และ หน้าต่างเล็ก

บ้านหลังที่ 3 เฮือนไทลื้อ เจ้าของบ้านเดิมคือ พ่อแก้ว จอมฟัง ซึ่งเป็นคนยอง เดิมเป็นบ้านเลขที่ 48 บ้านท่าเขียน  อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน บ้านเดิมสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2480 เป็นบ้านที่ใช้แป้นเกล็ดมุงหลังคา ซึ่งมีเพียง 2 หลังในหมู่บ้าน

สวนทวีชล ซื้อบ้านหลังนี้มาในราคา 220,000 บาท ในปี พ.ศ. 2547

ภายในบ้านค่อนข้างเรียบง่าย

ห้องนอน ที่นอนนุ่น

ห้องนั่งเล่น

ยกนาฬิกาขึ้นมาดู บ่ายโมงกว่าๆ แล้ว เราใช้เวลาไปเกือบ 3 ชั่วโมง ทั้งที่ชมแบบไม่ละเอียดมาก อันที่ไม่สนใจก็ไม่ได้แวะ ด้วยอากาศที่ค่อนข้างร้อน และ เริ่มจะหิว เลยเอาจักรยานไปคืน และ ไปทำธุระที่อื่นต่อ

สรุปโดยรวมสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล เชียงใหม่

เป็นสวนที่ดีกว่าที่เราคาดไว้มาก สวนกว้าง ร่มรื่น พรรณไม้หลากหลาย จัดโซนต่างๆ ได้ดี เหมาะกับคนรักต้นไม้และชอบถ่ายรูป โดยส่วนตัวชอบพอๆ กับ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่แม่ริม ที่นี่น่าจะเหมาะกับคนที่ปั่นจักรยานชม เพราะพื้นที่กว้าง เดินชมไม่ได้ ส่วนผู้สูงอายุ ก็อาจจะเหมารถกอล์ฟ เที่ยวด้านในได้

ราคาเข้าชมสวนคนละ 86 บาท + เช่าจักรยาน 75 บาท (3 ชั่วโมง) ถ้าดูอย่างจริงจังคงเกิน 3 ชั่วโมงแน่นอน

สรุปโดยรวมยังไงก็แนะนำให้มาเที่ยวกัน สวนทวีชลจัดว่าเป็นของดีอำเภอดอยสะเก็ดเลย

Post Views 22821

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *