วัดผาลาด (สกิทาคามี) วัดกลางป่าดอยสุเทพ

วัดผาลาด (สกิทาคามี) เป็นหนึ่งในวัดเก่าในจังหวัดเชียงใหม่ อายุกว่า 600 ปี หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อวัดนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่วัดตั้งอยู่บนดอยสุเทพ อยู่ระหว่างทางไปดอยสุเทพ หรือถ้าเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ก็ขับรถขึ้นไปเพียง 4.7 กิโลเมตร และเดินเข้าไปอีกไม่ไกลก็จะเห็นวัดงามซ่อนอยู่กลางป่า

ประวัติวัดผาลาด

ชื่อ “วัดผาลาด” มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ข้างวัดมีลำธารและโขดหิน มีคนเดินตามช้าง เดินลื่นล้มกันหลายคน ภาษาเหนือของคำว่าลื่น ก็คือ “ผะเลิด” เลยตั้งชื่อวัดว่า “วัดผะเลิด” ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อวัดตามชื่อหน้าผาคือ “ผาลาด” บ้างก็บอกว่ามีการออกเสียงเพี้ยนจาก “ผะเลิด” เป็น “ผาลาด” จนสุดท้ายก็เป็นชื่อวัดผาลาด

ประวัติการก่อสร้าง ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวัดผาลาดสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่มีชื่อของวัดปรากฏในสมัยพระเจ้ากือนา พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นล้านนาลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ. 1898 – 1928) พญากือนามีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาในเชียงใหม่รุ่งเรืองมากในยุคนี้ ถ้านับอายุแบบคร่าวๆ ตาม พ.ศ. วัดผาลาดจะมีอายุอย่างน้อย 2566 – 1928 = 638 ปี

ตามประวัติมีข้อมูลว่า พระเจ้ากือนาได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยมาสู่เชียงใหม่ และได้มีการแยกพระธาตุเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนที่สองได้ขึ้นหลังช้างเสี่ยงทาย โดยเดินทางจากวัดสวนดอกไปยังดอยสุเทพ ช้างได้หยุดพัก 3 จุด

1. จุดพักนี้ได้สร้าง วัดโสดาบัน หรือวัดศรีโสดา อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ
2. จุดพักนี้ได้สร้าง วัดผาลาด หรือวัดสกทาคามี
3. วัดม่อนพญาหงส์ หรือวัดอนาคามี อยู่เหนือวัดผาลาดขึ้นไป หลังสถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง

จุดจอดรถของวัดผาลาด จะมี 3 จุด

  1. ริมถนนขึ้นดอยสุเทพ (1004) จอดได้ประมาณ 10 คัน จอดตรงนี้เดินไกลสุด
  2. ที่จอดตรงป่าไผ่ (ขับจากข้อ 1. เข้าไปอีก) อยู่หน้าทางเข้าวัด จอดได้ประมาณ 8 – 10 คัน แนะนำให้จอดตรงนี้
  3. ที่จอดในวัด (ขับจากข้อ 2. เข้าไปอีก) จอดได้ประมาณ 10 คัน ถ้ามีกรุ๊ปทัวร์ หรือ บุคคลสำคัญมา จะไม่มีที่จอด

สิ่งก่อสร้างบริเวณหน้าวัด มีรูปปั้นคล้ายสัตว์ในเทพนิยาย ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นสัตว์

มีความสวยงาม ตามแบบฉบับของวัดเก่า

ถ้าแข็งแรง เข่ายังดีอยู่ จอดที่ริมถนนขึ้นดอยสุเทพ (1004) แล้วเดินไปยังวัด ผ่านป่าไผ่ บรรยากาศร่มรื่น อากาศเย็นๆ ทำให้นึกถึงป่าไผ่ Arashiyama เกียวโต

ขาไปเดินลงเขา เดินสบาย แต่จะเหนื่อยขากลับ

รูปบนเป็นจุดจอดรถที่ 2 หน้าทางเข้าวัด

เข้ามาถึงในวัด บรรยากาศร่มรื่นมาก นักท่องเที่ยว ชาวไทย และชาวต่างชาติมากกว่าที่คิด ไม่ใช่วัดเงียบๆ เหมือนแต่ก่อน

รอบๆ วัดเป็นป่าพื้นที่ของอุทยานฯ ดอยสุเทพ – ปุย ถ้ามาช่วงหน้าฝนจะมีหมอกฝน ขาวๆ รอบวัด

ถึงแม้ว่าวัดผาลาดจะเป็นวัดเก่า แต่ก็มีการปรับปรุงใหม่มาตลอด และมีสิ่งก่อสร้างใหม่ รวมอยู่ด้วย อย่างบริเวณนี้คือ ศาลาบาตร หรือข่วงวิปัสสนาพุทธาวาส” ทางล้านนาเรียกว่า  “ข่วงแก้วตังสาม”

อันเป็นบริเวณที่ตั้งของพระธาตุ สื่อถึง พระพุทธเจ้า
พระวิหารที่ทำบุญ ฟังเทศนา จึงหมายถึงข่วงพระธรรม และ
พระอุโบสถ พื้นที่ประกอบสังฆกิจ พินิจสังฆกรรม จึงหมายเป็นข่วงพระสงฆ์

ภายในวัดร่มรื่น แต่ไม่รก มีบุคคลสำคัญมาที่วัดค่อนข้างมาก ในหลวง รัชกาลที่ 7 ก็เคยเสด็จมาที่วัดผาลาด

phalad8

วิหารเก่า สร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัย

พระพุทธรูป

ด้านหน้าวิหาร

เจดีย์ทรงโบราณถูกปกคลุมด้วยมอส และ เฟิร์น สร้างโดยช่างฝีมือชาวพม่า และเป็นทรงแบบเจดีย์พม่า

ช่วงที่ไปเป็นเดือนมกราคม ฝนไม่ตกมามากกว่า 1 เดือน มอสก็เริ่มแห้ง

หลังจากได้ฝนแรก มอสก็จะกลับมาเขียว

พระพุทธรูปจำนวนมากในบริเวณวัด

บ่อน้ำนี้รับน้ำมาจากน้ำตก น้ำใส และ เย็น

หอกรรมฐาน(ชมศิลป์) สิ่งก่อสร้างเดิมมีอายุเกือบ 200 ปี แต่ที่เห็นอยู่นี้เป็นการสร้างใหม่ขึ้นมา

มุมนี้เป็นไฮไลต์ของวัดผาลาด บรรยากาศคล้ายวัดในบาหลี มีน้ำตกเล็กๆ ไหลผ่านวัด

กระทงประกอบพิธีกรรม

น้ำตกเล็กๆ สร้างความสดชื่นและเป็นธรรมชาติ

มุมนี้มองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ ในวันที่อากาศดีจะเห็นชัดกว่านี้

สรุปโดยรวม วัดผาลาด

เป็นวัดเก่าในดอยสุเทพ ในอดีตพอจะเรียกได้ว่าเป็น Unseen แต่ในยุคที่มีอินเตอร์เน็ตบนมือถือ ก็มีคนรู้จักและมาเที่ยวเยอะขึ้น ไม่ได้ดูลึกลับเหมือนก่อน ภายในวัดสวยงาม และ ร่มรื่นมาก การเดินทางมาวัดต้องขับรถมาเอง หรือ เหมารถแดง ถนนดี ขับไม่ยาก ขับจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ประมาณ 10 – 15 นาทีก็ถึงแล้ว เหมาะกับการแวะเที่ยวคู่กับวัดพระธาตุดอยสุเทพ – ดอยปุย

ติดต่อวัด
เวลาทำการ : ทุกวัน 6.00 – 18.00 น.
ที่ตั้ง – วัดผาลาด (สกิทาคามี)
ที่อยู่ :
101 บ้านห้วยผาลาด หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์ :
แผนที่ : Google map
การเดินทาง
รถยนต์ : จากสวนสัตว์เชียงใหม่ ใช้ถนน 1004* ทางเดียวกับทางขึ้นดอยสุเทพ ขับจึ้นดอยไปประมาณ 4.7 กิโลเมตร จะเห็นวันผาลาดอยู่ทางซ้ายมือ

ถนน 1004 เป็นถนนที่มี 2 ชื่อ ช่วงตั้งแต่ประตูเมืองเชียงใหม่ ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่เรียกว่า “ถนนห้วยแก้ว” แต่ช่วงอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยถึงดอยสุเทพเรียกว่า ถนนทางขึ้นดอยสุเทพ หรือ “ถนนศรีวิชัย”

รถโดยสาร : โบกรถแดงจากในตัวเมือง หรือขึ้นที่คิวรถแดงหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ และ เรียกรถจาก App Grab แนะนำว่าควรเหมาทั้งขึ้นและลง ไม่งั้นขาลงจะหารถยาก

Post Views 635

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *