วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม เป็นวัดเก่าแก่ ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงข้ามคณะทันตแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดถนนสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย (แห่งอาณาจักรล้านนา) หรือปี พ.ศ. 1914 พญากือนามีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาในเชียงใหม่รุ่งเรืองมากในยุคนี้ ภายในวัดมีกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ (พระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ) อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญ

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

เหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นงานใหญ่ และใช้สถานที่วัดสวนดอกเป็นที่จัดงาน คืองานฌาปนกิจเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ (เจ้านายฝ่ายเหนือ) ที่ลานพิธีด้านหน้ากู่เจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสวนดอก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เช่น

  • พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา มีขนาดใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

  • พระเจ้าเก้าตื้อ

พระเจ้าเก้าตื้อ

เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร

  • พระพุทธปฏิมาค่าคิง

เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ถูกสร้างในสมัยพระเจ้ากือนา หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา โดยมีหน้าตักกว้าง 2 เมตร  สูง  2.5  เมตร เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

  • กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้าย และพระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่  สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450  ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร

  • กู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย

เป็นที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก และเพื่อเป็นที่สักการบูชา

  • วิหารหลวง

วิหารหลวง

ภายในวิหารหลวง

สร้างขึ้นโดยครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีความพิเศษ คือ  เป็นวิหารโล่ง ไม่มีผนังแต่มีระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้ง 2 ด้าน มีลายปูนปั้นเครือเถาศิลปะแบบล้านนาที่สวยงาม

การเข้าชม
เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00- 17.00 น. ช่วงเช้าจะถ่ายรูปสวยกว่าช่วงบ่าย เนื่องจากไม่ย้อนแสง
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี
ค่าเข้าชม

  • ไม่มีค่าเข้าชม
ที่ตั้ง – ติดต่อวัดสวนดอก
ที่อยู่ :
139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์ : 053- 278-304
เวบไซต์ : http://www.watsuandok.com/
การเดินทาง
รถยนต์ : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนสุเทพ มุ่งหน้าไปทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านโรงพยาบาลมหาราช วัดสวนดอกอยู่ฝั่งซ้ายมือตรงข้ามคณะทันตแพทย์ ภายในวัดมีที่จอดรถ หรือ ขับรถไปจอดที่อาคารจอดรถสวนดอกปาร์ค หลัง McDonalds ค่าจอด 20 บาท (ไม่เกิน 4 ชั่วโมง)
รถโดยสาร : นั่งรถแดงจากที่ใดๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ค่ารถคนละประมาณ 30 – 50 บาท
ที่พักเชียงใหม่
โรงแรมแอท พิงค์นคร

โรงแรมตกแต่งสวยงามสไตล์วินเทจ ทำเลตั้งอยู่ท้ายซอยนิมมานเหมินท์ 12 เดินทางสะดวก ห้องพักสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกครบ พนักงานบริการดี อาหารเช้ามีให้เลือกหลากหลาย มีสระว่ายน้ำ รอบๆโรงแรมมีร้านอาหารหลายร้าน

โรงแรมอิมม์ ท่าแพ เชียงใหม่

เป็นโรงแรมราคาประหยัด ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ติดประตูท่าแพ เดินทางสะดวก สามารถขึ้นรถสองแถวแดงหน้าโรงแรมได้ เดินข้ามถนนก็ถึงถนนคนเดินท่าแพในวันอาทิตย์ หาของกินง่าย ด้านหน้ามีร้าน McDonald’s

ระมิง ลอดจ์ โฮเต็ล แอนด์ สปา

โรงแรมตกแต่งไสตล์ลานนาแบบร่วมสมัย อาหารเช้าเป็นแบบบุฟเฟต์ ห้องพักสะอาด มีสระว่ายน้ำ ใต้โรงแรมมีร้าน Burger อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เดินไปประตูท่าแพ ถนนคนเดินท่าแพ และตลาดไนท์บาซาร์ แต่สำหรับคนที่ชอบความสงบ โรงแรมนี้ไม่เหมาะ เพราะตัวโรงแรมอยู่ในซอยที่ค่อนข้างพลุกพล่าน และมีบาร์เล็กๆติดกับโรงแรมอยู่หลายร้าน

ฮ็อป อินน์ เชียงใหม่

เป็นโรงแรมราคาประหยัด ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว (ซอยสายใจ) เยื้องกับเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จากปากซอยเดินมาโรงแรม ประมาณ 50 เมตร ที่จอดรถกว้างขวาง โรงแรมไม่มีอาหารเช้าให้ แต่มีบริการกาแฟ ช่วง 6-11 โมงเช้า มีไมโครเวฟให้อุ่นอาหารได้

ดูโรงแรมใน เชียงใหม่ ทั้งหมด คลิ๊ก

Post Views 2441

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *