รีวิวเที่ยวเกาะพยาม บินนกแอร์ ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะ

ระนอง / รีวิวเที่ยวเกาะพยาม บินนกแอร์ ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะ

เกาะพยาม จ.ระนอง เป็นเกาะที่เพิ่งจะได้รับความนิยมมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมี Blue sky resort เป็นรีสอร์ทที่มีบ้านพักแบบวิลล่ากลางน้ำ วิวสวย จนได้รับการขนานนามว่ามัลดีฟเมืองไทย ทำให้คนรู้จักเกาะพยาม และอยากมาเที่ยว เกาะพยามมีหาดใหญ่ๆ อยู่ 5 หาด น้ำทะเลใส ทรายขาว พอประมาณ ธรรมชาติบนเกาะค่อนข้างสมบูรณ์มีป่า ต้นไม้ใหญ่ หาดชายเลน สวนยาง สวนกาหยู และยังเป็นแหล่งดูนกเงือก เหยี่ยวอีกด้วย เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติแบบดิบๆ

การเดินทางไปเกาะพยามสามารถขับรถไปที่ระนอง นั่งรถทัวร์ หรือนั่งเครื่องบินไปลงที่ระนองก็ได้ แล้วต่อเรือไปที่เกาะพยาม ส่วนสายการบินที่ไประนองปัจจุบันมีอยู่ 2 สายการบินได้แก่นกแอร์ และแฮปปี้แอร์ เมื่อก่อนแอร์เอเชียเคยบินเส้นทางกรุงเทพฯ – ระนองแต่ก็ได้ยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางนี้ไปแล้ว สายการบินนกแอร์มีบินไประนองวันละ 2 เที่ยวบิน (ไป 2 กลับ 2) และแฮปปี้แอร์มีบิน 4 เที่ยว / สัปดาห์

วันที่ 1 : เดินทางสู่เกาะพยาม

รีวิวเกาะพยาม รีวิวนี้ไปทั้งหมด 4 วัน 3 คืน โดยนอนบนเกาะพยาม 2 คืน และ นอนที่ระนอง 1 คืน เดินทางด้วยสายการบินนกแอร์ จองในช่วงโปรโมชั่นราคาตั๋วเครื่องบินขาละ 800 บาท เป็นราคาที่แพงกว่ารถทัวร์ไม่มากนัก แต่ประหยัดเวลาเดินทางได้มาก รวมค่าเดินทาง กรุงเทพฯ – ระนอง เพียงคนละ 1,600 บาท ปกติแล้วเส้นทางนี้มีนักท่องเที่ยวไม่มากนักนกแอร์จะให้บริการด้วยเครื่องบินเล็ก แบบใบพัด ATR72-500 ขนาด 70 ที่นั่ง แต่คืนก่อนเดินทางมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องบินจาก ATR72-500 เป็นเครื่องโบอิ้งลำใหญ่ B737-800 ซึ่งถือว่าโชคดีมากครับเครื่องลำใหญ่นั่งสบาย บินเร็วกว่าลำเล็ก

ขาไปเป็นเที่ยวบิน DD7312 เครื่องออกเวลา 6.30 น. ต้องตื่นมาอาบน้ำกันตั้งแต่ตี 3 กว่า ถึงสนามบินดอนเมืองตอนตี 4 ครึ่ง เค้าน์เตอร์ของนกแอร์จะเปิดให้โหลดกระเป๋าตอนตี 4 ครึ่ง มีโควต้าให้โหลดได้คนละ 15 กิโลกรัม ถือว่าเยอะสำหรับเที่ยวบินในประเทศ

สำหรับเที่ยวบิน DD7312 ที่บินไประนองตอนเช้าจะมีให้บริการถึง 31 มีนาคม เท่านั้น หลังจากนั้นจะถูกยุบ Flight มีรอบเย็น รอบเดียวเท่านั้น

หลังจากโหลดกระเป๋าเสร็จเดินเข้าอาคารผู้โดยสาร หาข้าวเช้าทาน ร้านอาหารโซนในประเทศจะเปิดประมาณตี 5

ทานข้าวเสร็จก็มารอขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารไม่เยอะมากครับ

นกแอร์โบอิ้ง B737-800 ที่จะให้บริการในวันนี้จอดเทียบงวงแล้ว

6 โมงนกแอร์ก็เรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง

ที่นั่งเป็นเบาะผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินมีผ้าขาวรองศรีษะ ดูมีระดับกว่า Air asia ส่วน seat pitch อยู่ที่ 30 นิ้วนั่งสบาย ใหญ่กว่า Air asia (A320-200) ที่กว้าง 29 นิ้ว

ผู้โดยสารรอบนี้มีไม่ถึงครึ่งลำ จริงๆ ต้องบินด้วยเครื่องบินเล็ก ATR72-500 แต่คงมีปัญหาทางเทคนิคเครื่องบินเล็กไม่สามารถบินได้ นกแอร์เลยเอาลำใหญ่ B737-800 มาบินแทน ยอมรับใน spirit ของนกแอร์เลยที่บินในเที่ยวนี้

เมื่อเครื่องบินรักษาระดับได้แล้วลูกเรือก็แจกของว่างเป็นขนม 1 ชิ้นพร้อมน้ำดื่มเป็นกระปุกเล็กๆ ถ้าใครต้องการเครื่องดื่มชา กาแฟ ฯลฯ เพิ่มสามารถซื้อได้กับพนักงานครับ ราคาประมาณ 35 บาท ทานของว่างเสร็จแล้วก็นั่งอ่านหนังสือ JIBjib บนเครื่อง เครื่องบินบินนิ่ม นั่งสบายมาก ผู้โดยสารบางคนก็ถือโอกาสนี้งีบหลับเอาแรงก่อนถึงระนอง

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาทีเท่านั้น ก็ลงจอดที่สนามบินระนอง เมื่อล้อแตะถึงพื้นรันเวย์ก็ต้องเบรคตัวโก่ง เนื่องจากว่ารันเวย์สนามบินระนองยาวเพียง 2 กิโลเมตรกว่าเท่านั้น ไม่ได้ยาวเหมือนสนามบินกระบี่ ภูเก็ต เครื่องถึงสนามบินระนองตรงตามเวลาที่ระบุไว้ 7.40 น.

สนามบินระนองเป็นสนามบินเล็กๆ ไม่มีงวงช้างเทียบ สามารถเดินลงจากเครื่องแล้วเข้าอาคารผู้โดยสารได้เลย หลังจากรับกระเป๋าเสร็จก็เดินไปขึ้นรถตู้ของพลเพลส ไปยังท่าเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ (ท่าเรือไปเกาะพยาม)

การเดินทางจากสนามบินระนองไปเกาะพยาม – เข้าตัวเมืองระนอง

มีรถตู้ของพลเพลส ทราเวล & ทัวร์ ให้บริการรับส่งจากสนามบินระนองไปเกาะพยาม – เข้าตัวเมืองระนอง ค่าบริการคนละ 200 บาท สามารถโทรไปจองล่วงหน้าได้ที่เบอร์ 081 – 7192430 หรือซื้อตั๋วเค้าน์เตอร์ทัวร์ในสนามบิน เจ้านี้นอกจากจะให้บริการรถตู้เข้าเมืองแล้วยังสามารถเหมารถพร้อมคนขับไปเที่ยวในระนอง หรือเช่ารถ, มอเตอร์ไซค์ ก็ได้ครับ

รถตู้คันนี้ ที่จะพาเราไปท่าเรือ เป็นรถตู้ 3 แถว รถใหม่ป้ายแดง นั่งสบาย มีผู้โดยสารเพียง 3 คน

ระยะทางจากสนามบินระนองไปยังท่าเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ ประมาณ 28 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 35 นาที

ใกล้ๆ กับท่าเรือมีที่รับฝากรถหลายที่ ใครที่ขับรถมาก็สามารถจอดรถไว้ที่นี่แล้วขึ้นเรือไปเกาะพยาม บนเกาะพยามไม่สามารถเอารถยนต์ข้ามไปได้ครับ

ตั๋วเรือไปเกาะพยาม – เกาะช้าง (ระนอง) ซื้อได้ที่ท่าเรือเลยครับ มีตั๋วแบบเรือโดยสารราคาคนละ 200 บาท และ สปีดโบ๊ท คนละ 350 บาท เนื่องจากเราอยากสัมผัสประสบการณ์ทั้งสองแบบ ขาไปเลยนั่งเรือโดยสารและขากลับนั่งสปีดโบ๊ท เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับว่ามันต่างกันอย่างไร และควรเดินทางกับเรืออะไร

เรือโดยสาร

ระนอง –> เกาะพยาม 9.30 น, 14.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมงครึ่ง

สปีดโบ๊ท

ระนอง –> เกาะพยาม 9.50 น, 13.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 35-45 นาที

ที่บริเวณท่าเรือมีร้านอาหารตามสั่ง ห้องน้ำ เครื่องดื่ม สามารถทานมื้อเช้าที่นี่ได้เลย มีเวลาที่จะกินได้ก่อนที่จะขึ้นเรือรอบ 9.30 น นักท่องเที่ยวที่ไปกันเป็นกลุ่มถ้าซื้อเครื่องดื่มยกลังตรงท่าเรือก็จะถูกกว่าซื้อบนเกาะพยาม

เนื่องจากว่าวันที่ไปเป็นวันที่น้ำลงเยอะมาก เรือไม่สามารถเข้ามาได้ คนขายตั๋วบอกว่าจะต้องนั่งรถกระบะไปขึ้นยังโป๊ะอีกที่หนึ่ง

โป๊ะที่รถกระบะมาส่ง เป็นโป๊ะของเรือประมง การขึ้นเรือก็เดินผ่านไม้ที่พาดไปยังเรือ ลักษณะเรือจะเป็นเรือไม้ 2 ชั้น คล้ายเรือประมงดัดแปลง สภาพเก่า ชั้นบนของเรือจะเป็นที่ขนของไปยังเกาะของที่ขนก็มีเหล็กเส้น ไม้สร้างบ้าน อิฐ หิน ผัก ผลไม้ ของสด ฯลฯ

ที่นั่งจะอยู่ชั้นล่าง เบาะที่นั่งแบบเบาะรถตู้ ค่อนข้างแคบ เบาะสกปรกด้วยฝุ่น ทราย คราบน้ำ เสื้อชูชีพก็มีเท่าที่เห็นในรูป ไม่พอกับจำนวนคนแน่นอน

เรือรอบเช้า ที่นั่งที่ไม่โดนแดดจะอยู่ฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายโดนแดดไปเต็มๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง

เรือประมงที่จอดอยู่ข้างๆ

ตามกำหนดการเรือจะต้องออก 9.30 น. แต่เอาเข้าจริงกว่าจะได้ออกก็ 10.00 น. เนื่องจากมัวแต่ขนของขึ้นเรืออยู่ พอเรือออกได้ก็แล่นช้ามาก เท่าที่เคยนั่งเรือไปเกาะล้าน เกาะสีชัง เกาะเสม็ด เรือลำนี้ช้ากว่ามาก อากาศบนเรือค่อนข้างร้อน ไม่มีลมผ่าน ระหว่างทางจะเป็นวิวป่าชายเลน หลังจากนั้นเรือแล่นผ่านเกาะช้าง และถึงเกาะพยามเวลา 12.20 น. รวมใช้เวลาบนเรือ 2 ชั่วโมง 20 นาที กับระยะทาง 35 กิโลเมตร คำนวนแล้วได้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 15 กิโลเมตร / ชั่วโมง เข็ดแล้วครับขากลับไม่นั่งเรือใหญ่เด็ดขาด ค่าเรือถูกกว่าก็จริง แต่ไม่คุ้มกับสภาพเรือ และ เวลาที่เสียไป

ก่อนที่จะเข้าเกาะพยาม เรามาดูข้อมูลคร่าวๆ ของเกาะพยามกันครับ เป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวสนุกมากขึ้น ได้รู้ที่มาที่ไป

ที่มาของชื่อ “เกาะพยาม”

ในสมัยก่อนการเดินทางมาเกาะพยามค่อนข้างลำบาก ไม่มีเรือโดยสารมาจากระนอง ใครที่จะไปเกาะพยามต้องไปถามตามแพท่าเรือว่ามีเรือประมงลำไหนไปเกาะพยามบ้าง แล้วอาศัยติดเรือไปกับเค้า ต้องไปถามหลายแพถึงจะเจอซักลำ บางวันไม่เจอก็มี ชาวบ้านเลยเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะพยายาม” เนื่องจากว่าต้องใช้ความพยายามในการมา คำว่า “พยายาม” เมื่อพูดเร็วๆ แบบภาษาใต้ก็เลยเพี้ยนเป็น “พยาม” เลยกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะพยาม

เกาะพยาม

จังหวัดระนองมีเกาะใหญ่ 2 เกาะ ได้แก่เกาะช้าง และ เกาะพยาม โดยเกาะพยามจะเป็นเกาะที่ใหญ่รองจากเกาะช้าง ที่ตั้งของเกาะพยามจะอยู่ทางทิศใต้ของเกาะช้าง ห่างกันอยู่ประมาณ 4 กิโลเมตร ในทะเลฝั่งอันดามัน บนเกาะพยามมีพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง บนเกาะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า และ สวนกาหยู สวนยาง สวนมะพร้าว มีชายหาดใหญ่ๆ อยู่ 5 แห่ง ได้แก่อ่าวหินขาว, อ่าวแม่ม่าย, อ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย และอ่าวกวางปีป ประชากรบนเกาะส่วนใหญ่เป็นชาวเกาะ และ ลูกจ้างชาวพม่า

ชุมชนเกาะพยามเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่พม่ายังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีการสร้างชุมชนบนเกาะพยามขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกรานของอังกฤษซึ่งครอบครองพม่าอยู่ ตามแนวคิดของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนองคนแรก) เนื่องจากเกาะพยามอยู่ไม่ไกลจากพม่า แรกเริ่มนั้นชาวบ้านเกาะพยามเป็นมุสลิม แต่ก็มีคนกลุ่มใหม่มาสร้างถิ่นฐานบนเกาะพยาม รวมทั้งชาวมอแกน ตอนนี้เลยมีทั้งอิสลาม พุทธ คริสต์ แต่ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบ

ท่าเรือเกาะพยามจะอยู่อ่าวแม่ม่าย ทางทิศตะวันออกของเกาะ บริเวณนี้เป็นชุมชนมีบ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหารหลายร้าน

วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ท่าเรือไปยังที่พักตามหาดต่างๆ

การเดินทางบนเกาะพยาม

บนเกาะพยามไม่มีรถยนต์ ถนนบนเกาะเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้างประมาณ 2 เมตรกว่าๆ พอที่มอเตอร์ไซค์จะวิ่งสวนกันได้เท่านั้น บนเกาะจะใช้มอเตอร์ไซค์เป็นส่วนมาก บริเวณท่าเรือมีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปยังที่ต่างๆ รอบเกาะ ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 50 ไปจนถึง 100 บาท การเดินทางบนเกาะพยามนอกจากจะใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้ว การเช่ามอเตอร์ไซค์เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี สามารถขี่ไปยังหาดต่างๆ รอบเกาะได้ด้วยตัวเอง ค่าเช่าประมาณวันละ 150-200 บาท มีรถมอเตอร์ไซค์แบบมีเกียร์ และแบบเกียร์ Auto ค่าน้ำมันต้องเติมเองต่างหากในราคาลิตรละ 50 บาท ร้านเช่ารถมอเตอร์ไซค์จะอยู่บริเวณท่าเรือ บางร้านให้เช่าด้วยการมัดจำบัตรประชาชน บางร้านต้องทำสัญญาเช่า + บัตรประชาชน

นอกจากการเช่ามอเตอร์ไซค์แล้ว บางร้านก็มีจักรยานให้เช่าด้วย เหมาะสำหรับคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น แต่จักรยานเช่าจะหายากหน่อย มีเพียงไม่กี่ร้าน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มากันหลายคนสามารถว่าจ้างรถลาก (ชาวบ้านเรียกว่ารถแต๊กๆ หรือ อีแต๊ก) ไปส่งยังหาดต่างๆ หรือเหมาเที่ยวชมรอบเกาะก็ได้ ค่าบริการทัวร์รอบเกาะ 1,200 บาท ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง นั่งได้ 6-8 คน

ที่พักบนเกาะพยาม

บนเกาะพยามมีที่พักมากมาย รวมๆ ที่พักชื่อดังและบังกะโลเล็กๆ กว่า 60 แห่งได้ โดยส่วนมากจะอยู่ตามหาดต่างๆ เช่นอ่าวหินขาว, อ่าวแม่ม่าย, อ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย, อ่าวกวางปีบ และกระจายกันอยู่ตรงกลางเกาะ ที่พักที่ดีที่สุด และแพงที่สุด คือ Blue sky resort อยู่ที่อ่าวแม่ม่าย ใกล้ท่าเรือ ราคาเริ่มต้นที่ประมาณคืนละ 5,000 บาท มีสระว่ายน้ำ และ ไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนที่พักอื่นๆ ส่วนมากราคาเริ่มต้นที่หลักร้อยบาทไปจนถึงพันต้นๆ ไฟฟ้ามีให้เฉพาะช่วง 6 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า การจองที่พักบนเกาะพยามสามารถจองตรงกับรีสอร์ทหรือกับ agency เช่น agoda ก็ได้ หรือถ้าไม่ได้ไปช่วงเทศกาลอาจจะ walk in เข้าไปเองก็ได้

หลังจากเข้าฝั่งที่เกาะพยามได้แล้วก็หาข้าวกินก่อน บริเวณรอบๆ ท่าเรือมีร้านอาหารหลายร้าน ทั้งอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง อาหารทะเล เจอป้ายโฆษณา Truemove H บอกว่าที่นี่ใช้ 3G ได้แล้ว ลองแล้วก็เป็นจริงครับ เนตเร็ว แรงดีจริงๆ ส่วนค่าย DTAC มีทั้งสัญญาณ EDGE และ 3G เนตไม่ค่อยเร็วเท่าไหร่

ที่พักในทริปนี้เราพักที่นิธิพร บังกะโล อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ ติดกับรีสอร์ทชื่อดัง Blue sky การเดินทางไปนิธิพรบังกะโล ถ้าลงมาจากเรือก็จะเห็น Blue sky resort อยู่เด่นชัดทางขวามือมีสะพานข้ามไปรีสอร์ท ให้ใช้เส้นทางเดียวกันกับการไป Blue sky resort เลย คือออกจากสะพานท่าเรือแล้วเดินไปทางซ้าย ข้ามสะพาน เดินผ่าน Blue sky resort ก็จะเจอนิธิพรบังกะโลอยู่ถัดจาก Blue sky ใช้เวลาเดินจากท่าเรือประมาณ 10 นาที

สะพานข้ามไปยัง Blue sky resort

Blue sky resort ที่พักติดคลองเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับทะเล ถ้าจะมาพักที่นี่ควรเลือกช่วงวันที่น้ำขึ้นสูงจะสวยที่สุด

ถึงแล้วนิธิพร บังกะโล เราจองห้อง Standard Garden view กับ agoda 2 คืนในราคา 1,560 บาท หรือเฉลี่ยคืนละ 780 บาทเท่านั้น

Link. เช็คราคา นิธิพร บังกะโล รับประกันราคาถูกสุด

ทันทีที่ไปถึงก็เจอกับแม่บ้านชาวพม่า พูดเป็นภาษาไทยที่ไม่ค่อยชัดว่าจองมากับ agoda ใช่ไหม แล้วก็พาไปยังห้องพัก ไม่มีมัดจำ ไม่มีลงทะเบียนอะไรทั้งนั้น เข้าพักได้เลย

ห้องพักของเราเป็นห้องแฝดสีเหลืองในรูปด้านบน ด้านหน้าเป็นสวนก็จริง แต่ด้านข้างนี่ทะเลเต็มๆ เดินไปไม่กี่ก้าวเอง มีระเบียงที่หน้าห้องพร้อมเก้าอี้ 2 ตัว

เข้าไปในห้องมีที่นอนขนาด 6 ฟุต น้ำดื่ม 1 ขวด ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน มีพัดลม และมุ้งให้ เป็นที่พักแบบเรียบง่าย ราคาประหยัด

วิวจากหน้าต่างหันหน้าไปทางทะเล ช่วงกลางวันลมทะเลจะไม่เข้าห้องเท่าไหร่ แต่หัวค่ำ – กลางคืนลมแรงดีมากๆ

ไฟฟ้าของที่นี่จะมีตั้งแต่ 18.30 – 9.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เนื่องจากต้องปั่นไฟใช้เอง เลยต้องจำกัดเวลา

ในห้องน้ำเป็นส้วมซึม มีฝักบัวชำระ อ่างล้างหน้า ถังน้ำ และฝักบัว น้ำไหลแรงปกติแต่สีของน้ำค่อนข้างเหลืองคาดว่าเป็นน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาโดยไม่ผ่านการกรอง แนะนำว่าให้ซื้อน้ำดื่มในการล้างหน้า บ้วนปากจะดีกว่าใช้น้ำก๊อก

จากห้องพักเดินไปประมาณ 10 กว่าก้าวก็ลงทะเลได้เลย ที่บังกะโลมีเสื้อชูชีพให้ยืม มีเรือคายัคให้พายด้วย บริเวณชายหาดมีเก้าอี้ให้นอนเล่น มีชิงช้าเชือกผูกใต้ต้นไม้ ที่นี่น่าจะเป็นสวรรค์ของคนรักทะเลเลยก็ว่าได้

ชายหาดของนิธิพรบังกะโลจะอยู่ติดกับ Blue sky เลย อ่าวแม่ม่ายบริเวณนี้เป็นจุดที่น้ำใส และสะอาดที่สุด เพราะเป็นหาดส่วนตัว ในตอนเช้ามีคนของ Blue sky และ นิธิพรบังกะโล คอยเก็บขยะเศษใบไม้หน้าหาด หาดใครหาดมัน

น้ำทะเลใสสีออกฟ้านิดๆ พอมาเจอทรายสีเหลืองเลยดูเหมือนจะอมเขียวนิดๆ หาดบริเวณนี้กว้างสามารถเล่นน้ำได้ เป็นส่วนตัว ไม่มีเรือเข้ามากวนใจ

ความใสของน้ำทะเลถือว่าใสในระดับนึง แต่จะเทียบกับทะเลกระบี่ ภูเก็ตไม่ได้ เกาะพยามอยู่ใกล้ปากน้ำด้วย เลยมีเลนและดินตะกอนอยู่

นั่งพักในบังกะโลจนหายเหนื่อย เริ่มอยากไปเที่ยวรอบเกาะแล้ว ตั้งใจว่าจะไปหาเช่าจักรยานขี่ชมเกาะไปเรื่อยๆ ท่องเที่ยวแบบ slow life ไม่รีบเร่ง อยากแวะตรงไหนก็แวะ เดินออกจากนิธิพรบังกะโลไปยังท่าเรือเพื่อหาร้านเช่าจักรยาน

ชาวบ้านเกาะพยามเลี้ยงลูกที่ศาลาริมทะเล

เดินไปเรื่อยๆ เจอกับต้นกาหยู หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกดกเต็มต้น มีผลร่วงอยู่เต็มพื้นดิน

เกาะพยามแหล่งปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์

บนเกาะพยามมีต้นกาหยูอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ขึ้นชื่อว่าได้ผลผลิตที่ดี แห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีสภาพดินและอากาศที่เหมาะสม เม็ดมะม่วงหิมพานต์จะเป็นเม็ดด้านล่าง ตัวผลที่สุกแล้วจะมีสีเหลือง-แดง มีกลิ่นหอม รสฝาด สามารถเอาไปต้มจิ้มกับน้ำพริกได้แต่คนไม่ค่อยนิยมรับประทาน การทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะต้องเด็ดเม็ดด้านล่างออกจากผลแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปต้มแล้วค่อยทำการกระเทาะเปลือกออก การกระเทาะเปลือกเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เม็ดมะม่วงหิมพานต์จะขายได้ราคาดีก็ต่อเมื่อเป็นเม็ดสวยงาม ไม่แตกออกจากกัน จากนั้นก็นำไปอบให้แห้งเพื่อให้เก็บรักษาได้นาน ไม่เกิดเชื้อรา ขั้นตอนสุดท้ายคือการลอกเปลือกบางๆ ออก จากนั้นก็แยกขนาดลงบรรจุภัณฑ์

ปัจจุบันการปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์น้อยลงกว่าเดิม ชาวบ้านบางคนโค่นต้นกาหยูทิ้งเป็นร้อยๆ ไร่ แล้วหันไปปลูกยางพาราแทน เพราะดูแลง่าย และให้ราคาดีกว่า

เดินถามหาจักรยานให้เช่าอยู่หลายร้าน ส่วนมากจะบอกว่าฝรั่งยืมไปยังไม่คืน บางคนยืมยาวเป็นเดือน สรุปว่าหาเช่าจักรยานไม่ได้เลย

เดินมาจนถึงร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ “สวัสดี” ที่อยู่บริเวณท่าเรือ เจอเจ้าของร้านที่เป็นผู้หญิงพูดจาค่อนข้างดี บอกว่ามีมอเตอร์ไซค์เหลืออยู่ 1 คัน สนใจไหม เป็นรถมอเตอร์ไซค์เกียร์ออโต้ค่าเช่าวันละ 200 บาท เราเช่า 2 วัน เป็นเงิน 400 บาท ปกติแล้วการนับเวลาการเช่ารถจะนับ 24 ชั่วโมงเป็น 1 วัน เช่นเช่าตอนบ่ายวันนี้ คืนบ่ายพรุ่งนี้จะนับเป็น 1 วัน เช่ารถที่ร้านนี้มีสัญญาเช่าชัดเจนเซ็นเอกสาร 2 หน้า มีราคาบอกด้วยว่าค่าเสียหายของแต่ละชิ้นเป็นเท่าไหร่ และต้องมัดจำด้วยบัตรประชาชน แต่บางร้านที่ให้เช่าง่ายๆ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็มีครับ

หลักจากเซ็นสัญญาเสร็จเราก็จัดแจงถ่ายรูปรถมอเตอร์ไซค์รอบคันเลย เพราะรถเป็นรอยอยู่แล้วหลายจุด จะได้เป็นหลักฐานได้ว่ารอยพวกนี้มีอยู่แต่แรกแล้ว

เจ้าของร้านผู้ชายถามว่าจะเอาน้ำมันกี่ลิตรดี 3 ลิตรเลยไหม? เค้าขายให้ลิตรละ 50 บาท รถมอเตอร์ไซค์ออโต้ แบบที่ซดหนักๆ ยังไงก็วิ่งได้ 30 กิโลเมตร / ลิตร ขึ้นไปอยู่แล้ว เลยเอาแค่ 2 ลิตรพอ หมดค่าน้ำมันไปอีก 100 บาท

มอเตอร์ไซค์เช่าคันนี้ครับ Yamaha Mio รถแรงอยู่ แต่เสียงท่อดังมาก ข้อห้ามหลักๆ ของมอเตอร์ไซค์เช่าคือห้ามนำไปขี่ที่ชายหาด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว

สถานที่แรกที่ไปเป็นวัดเกาะพยาม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ ใกล้กับท่าเรือ มีถนนคอนกรีตถึงตัววัด ขี่มอเตอร์ไซค์ไปง่าย จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่โบสถ์กลางน้ำรูปทรงกลมมีกลีบด้านข้างคล้ายดอกบัว ที่ด้านบนโบสถ์มีพระพุทธรูปปางลีลาหันหน้าออกทะเล

ในโบสถ์กลางน้ำมีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน สามารถเข้าไปข้างในได้

พื้นที่บริเวณวัดเกาะพยาม เป็นเขตอภัยทานมีปู ปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะมีคนเคยให้อาหาร ปลาเลยมาอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะปลาสลิดหินลายเสือ ในรูปด้านล่างเป็นปูทะเลที่ชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหิน ก้อนหินนี้มีหอยนางรมเกาะอยู่หลายตัว

เลยจากวัดเกาะพยามขึ้นไปทางทิศเหนือจะเป็นอ่าวหินขาว มีหินสีขาวก้อนใหญ่อยู่กลางทะเล และเป็นที่ตั้งของศาลพ่อตาหินขาว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเกาะพยามนับถือ

ศาลากลางน้ำ กับ ตัววัดจะอยู่คนละฝั่งโดยมีถนนเล็กๆ คั่นกลาง จากบันไดพญานาคขึ้นไปด้านบนจะเป็นพระพุทธรูป

จากวัดเกาะพยาม เราย้อนลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของอ่าวใหญ่ ซึ่งเป็นอ่าวขนาดใหญ่สมกับชื่อ มีชายหาดยาวถึง 3 กิโลเมตร ระยะทางจากท่าเรือไปยังอ่าวใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตรขี่มอเตอร์ไซค์ไปประมาณ 10 – 15 นาทีก็ถึง ทางไปบนถนนคอนกรีต ทางดี ขี่ง่าย ระหว่างทางเป็นบ้านคน สวนกาหยู สวนยาง บรรยากาศร่มรื่น

อ่าวใหญ่

เป็นชายหาดที่มีคลื่นแรง นักท่องเที่ยวชอบมาเล่นก๊ฬาทางน้ำที่หาดนี้ เช่นพายเรือ surfboard ที่ชายหาดเป็นทรายปนเลน เมื่อมีคลื่นซัดเข้ามาจะเห็นเป็นริ้วรอยที่ชายหาด ดูสวยงาม น้ำทะเลที่หาดนี้ไม่ใสเหมือนหาดอื่นเนื่องจากเป็นเลน พื้นบริเวณชายหาดค่อยๆ ลาดลงทะเลน้ำไม่ลึก บริเวณชายหาดค่อนข้างเงียบและเป็นส่วนตัว มีรีสอร์ทติดหาดหลายรีสอร์ทแต่สร้างห่างกัน ในตอนเย็นคนจะนิยมมาดูพระอาทิตย์ตกดินที่อ่าวใหญ่

อ่าวใหญ่ เกาะพยาม

พายเรือ โต้คลื่น

นักท่องเที่ยวที่อ่าวใหญ่ส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติ

เราอยู่ที่อ่าวใหญ่ถึงบ่าย 3 รู้สึกเพลียแดดบวกกับการที่ตื่นแต่เช้าเลยขี่มอเตอร์ไซค์กลับที่พัก ไปนั่งเล่นริมชายหาดที่บังกะโลเอา

บริเวณชายหาดหน้านิธิพรบังกะโล – บลูสกายรีสอร์ท ตอนเย็นๆ จะมีคนมาพายเรือคายัค เล่นน้ำกัน มองดูเค้าพายเรือกันก็เพลินดีเหมือนกัน ช่วงหลังจากเที่ยงไปแล้วหาดแม่ม่ายจะสวยที่สุดพระอาทิตย์จะอยู่ฝั่งหาดทราย ถ้าถ่ายรูปทะเลจะได้รูปท้องฟ้าสีฟ้า น้ำทะเลใส

เดินไปสำรวจเพื่อนบ้าน Blue sky resort ซะหน่อย บริเวณนี้เป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ไม่ได้พักที่นี่ก็สามารถมาทานข้าวที่นี่ได้ ราคาอาหารแพงกว่าร้านอื่นไม่มาก ในโซนที่พักเค้าห้ามคนนอกเค้าไป แต่ก็สามารถมองเห็นจากด้านนอกได้

เปลต้นมะพร้าวมุมถ่ายรูปยอดนิยมของ Blue sky resort

เดินออกไปเรื่อยๆ ถ่ายรูปชายหาดด้านหน้า Blue sky ตรงนี้มีสะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่เชื่อมกับทะเล ไหลผ่านหน้าที่พักของ Blue sky คลองเส้นนี้มีระยะทางเพียง 500 เมตรเท่านั้น ที่ปลายคลองเป็นป่าชายเลน

สำหรับมื้อเย็นเราฝากท้องไว้ที่ร้าน เกาะพยามซีฟู๊ด เป็นร้านอาหารที่อยู่ติดทะเล ใกล้กับท่าเรือ เป็นร้านขายอาหารตามสั่ง อาหารทะเล ราคาอาหารจานเดียวเริ่มต้นที่ 80 บาท จานใหญ่ และปริมาณค่อนข้างเยอะ รสชาติใช้ได้ด้วย อาหารทะเลสด ร้านนี้มีพนักงานเป็นคนพม่า เวลาสั่งอาหารจะต้องค่อยๆ พูดกลัวเค้าฟังไม่ออก จำไม่ได้

ราดหน้าทะเล 80 บาท

ข้าวผัดทะเล 80 บาท

ทานข้าวเสร็จนั่งเล่นหน้าที่พัก ที่นี่ไฟจะมาเวลา 18.30 น. เวลาไม่มีไฟฟ้าใจแทบขาด Iphone ที่แบตเกือบจะหมดเกลี้ยง อากาศในห้องก็ร้อนจนอยากจะเปิดพัดลม พอไฟมาปุ๊ปเหมือนสวรรค์ขึ้นมาทันที หลังจากช่วงเย็นไปแล้วจะมีลมทะเลพัดขึ้นฝั่งมา ลมแรงมากๆ ผิดกับตอนกลางวันที่ไม่มีลมพัดเข้ามาเลย

คืนนี้นอนแต่หัวค่ำ นอนฟังเสียงคลื่นทั้งคืน เหมือนเสียงกล่อมของธรรมชาติ เผลอหลับไปอย่างอ่อนเพลีย ตั้งใจไว้ว่าจะตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หาดที่อยู่ข้างๆ ห้อง

วันที่ 2 : ขี่มอเตอร์ไซค์รอบเกาะพยาม

6.30 น. ตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะสายไปนิดหน่อย พระอาทิตย์เริ่มขึ้นมาแล้ว แสงสีส้มของพระอาทิตย์ กับแนวภูเขาที่อยู่เบื้องหน้า แสงสวยๆ แบบนี้เป็นรางวัลให้กับคนที่ตื่นเช้า หลังจากถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นเสร็จแล้ว เจอกับแม่บ้านชาวพม่า บอกว่ามีกาแฟ ขนมปังของบังกะโลไปทานได้เลย

เดินเข้าไปดูก็มีกาแฟ โอวันติน ขนมปัง เนย แยม

มื้อเช้าเราขี่มอเตอร์ไซค์ไปทานข้าวที่ร้านข้าวแกงบริเวณท่าเรือ ร้านนี้ไม่มีชื่อ ถ้ามาจากท่าเรือให้เลี้ยวซ้ายเดินไปประมาณ 15 ก้าว มีข้าวแกงประมาณ 5 อย่าง หรือจะสั่งอาหารตามสั่งก็ได้ ข้าวแกงร้านนี้ขายดีที่สุดในเกาะพยามแล้ว มีลูกค้าทั้งชาวไทย ฝรั่ง และชาวเกาะ ข้าวราด 2 อย่างประมาณ 40 บาท ราคาไม่แพง รสชาติใช้ได้ มีพนักงานเป็นชาวพม่า เจ้าของร้านเป็นคนไทย อัธยาศัยดีทั้งร้าน

โปรแกรมเที่ยวในวันนี้จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเที่ยว 2 อ่าว ได้แก่อ่าวกวางปีป และ อ่าวเขาควายการเดินทางก็เริ่มต้นจากท่าเรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปตรงกลางเกาะจะมีทางแยกไปยังอ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย, อ่าวกวางปีป มีป้ายบอกชัดเจนไม่ต้องกลัวหลง

สถานที่แรกที่จะไปเป็นอ่าวกวางปีป ระหว่างทางเจอกับสวนยาง ปลูกเป็นแนวสวยงาม เลยจอดแวะถ่ายรูป

ทางแยกไปยังอ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย, อ่าวกวางปีป สำหรับอ่าวกวางปีปขี่มอเตอร์ไซค์ตรงไปยาวๆ เลย ระยะทางจากท่าเรือไปยังอ่าวกวางปีปประมาณ 3.9 กิโลเมตร ช่วง 300 เมตรสุดท้ายก่อนถึงอ่าวกวางปีปจะเป็นทางลูกรัง ขึ้นลงเนินเล็กๆ สามารถขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจก็จอดรถแล้วเดินต่อไปยังหาด

ทางเดินลงอ่าวกวางปีปมีต้นไม้ใหญ่อยู่ตลอดสองข้างทาง มีบรรยากาศแบบป่า มีเสียงนกร้อง เหยี่ยว และ นกเงือกสามารถหาชมได้ที่เกาะพยามแบบไม่ยาก ธรรมชาติที่นี่ยังสมบูรณ์อยู่ครับ

ก่อนที่จะถึงอ่าวกวางปีปจะต้องผ่านกวางปีป เบย์รีสอร์ท (Kwang peep Bay resort) ไม่มีทางลงอื่น ต้องผ่านรีสอร์ทนี้เท่านั้น รีสอร์ทนี้เป็นรีสอร์ทเดียวที่อ่าวกวางปีป ใครชอบธรรมชาติแบบเงียบๆ น้ำทะเลใสๆ เป็นส่วนตัวแนะนำที่นี่เลย

อ่าวกวางปีป

เป็นหาดที่สวยที่สุดในเกาะพยาม อยู่ทางทิศเหนือของเกาะ น้ำทะเลใส ทรายละเอียด คลื่นไม่แรง สามารถลงเล่นน้ำได้ ห่างจากหาดไปไม่ไกลเป็นจุดดำน้ำ ดูปะการัง หาดกวางปีปเป็นหาดสั้นๆ ยาวเพียง 300 เมตรเท่านั้น บริเวณชายหาดทางทิศตะวันตกมีโขดหินอยู่เป็นจำนวนมาก ช่วยเสริมความสวยไม่ให้ชาดหาดโล่งจนเกินไป

เนื่องจากว่าอ่าวกวางปีปเป็นหาดที่ไกลกว่าหาดอื่น และมีที่พักอยู่ที่เดียว หาดนี้ค่อนข้างสะอาด มีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก มีปูลมตามชายหาดค่อนข้างเยอะ

โขดหินริมชายหาด

ปูทะเลสีสวยๆ ที่ชายหาด

ชายหาดน้ำใส คลื่นไม่แรง ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว

ชิงช้าใต้ร่มไม้

ในบรรดาหาดทั้งหมดที่ไปมาผมชอบหาดนี้ที่สุดเลย ทั้งเป็นธรรมชาติ ไม่ค่อยมีคน หาดสวย น้ำใส แนะนำว่าถ้าไปเกาะพยามไม่ควรพลาดหาดนี้

จากอ่าวกวางปีป เราจะไปต่อที่อ่าวเขาควาย อ่าวเขาควายเป็นอ่าวที่ใหญ่มาก พอๆ กับอ่าวใหญ่เลย

อ่าวเขาควาย

เป็นอ่าวทางทิศตะวันตกของเกาะ มีชายหาดยาวประมาณ 3 กิโลเมตรกว่า ถ้าจะแบ่งตามลักษณะชายหาด อ่าวเขาควายจะแบ่งได้เป็น 3 แบบ อ่าวเขาควายเหนือ อ่าวเขาควายตอนกลาง และอ่าวเขาควายใต้ สามารถเดินเลียบชายหาดจากเขาควายเหนือไปยังเขาควายใต้ได้ หรือถ้าจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปก็ได้เช่นเดียวกันแต่จะอ้อมหน่อย เพราะถนนไม่ได้ทำเลียบชายหาด

ถ้ามาจากอ่าวกวางปีป ขี่มอเตอร์ไซค์ลงมาด้านล่างก็จะเจอกับอ่าวเขาควายเหนือก่อน ชาวบ้านเรียกอ่าวเขาควายตรงนี้ว่าอ่าวเขาควาย ตาเหงี่ยม ทางลงหาดจะอยู่ที่ Banana resort พอมาถึงรีสอร์ทก็มีป้ายห้ามคนภายนอกที่ไม่ได้พักเข้า ต้องหาทางเลี่ยงไป เลี่ยงมา ปัญหาของการเที่ยวเกาะพยามมันอยู่ตรงนี้ครับ ไม่มีทางลงสาธารณะ รีสอร์ทปิดทางลงหาดไว้หมด แล้วนักท่องเที่ยวเค้าจะลงหาดยังไงกัน

อ่าวเขาควาย (ตาเหงี่ยม)

เป็นบริเวณที่สวยที่สุดของอ่าวเขาควาย ทรายละเอียด หาดสะอาด น้ำใส อมสีเขียว ไม่ค่อยมีคลื่น เรือประมงและเรือยอร์ชชอบมาจอดหลบคลื่นที่บริเวณนี้ มีบังกะโลและที่พักประมาณ 10 ที่ในบริเวณอ่าวเขาควายตอนเหนือ ที่มาของชื่อ “ตาเหงี่ยม” ห้อยท้ายมาจากตาเหงี่ยมซึ่งเป็นชาวบ้านชาวมอแกน ที่หากิน ตั้งรกรากอยู่ที่นี่มานานจนได้ครอบครองผืนดินบริเวณนี้

ช่วงเวลาก่อนเที่ยง เป็นช่วงเวลาที่อ่าวเขาควายสวย เนื่องจากไม่ย้อนแสง เวลาถ่ายรูปจะเห็นน้ำทะเลใส ฟ้าสวย

นักท่องเที่ยวที่อ่าวเขาควายตอนเหนือ มีไม่มาก เป็นทำเลที่น่าพักทำเลหนึ่งของเกาะพยาม

เรือประมง เรือยอร์ชจอดลอยลำ ค้างคืนที่อ่าวเขาควาย

อ่าวเขาควายช่วงกลาง

จากอ่าวเขาควาย (ตาเหงี่ยม) ให้ขี่มอเตอร์ไซค์ลงมาทางทิศใต้ จนเจอทางแยกที่ไปอ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย ให้เลี้ยวขวาเข้าไป วิ่งตามทางไประมาณ 1 กิโลเมตร จะเจอกับป้าย Do Not Drive Motorcycle on the beach! ทางขวามือให้เลี้ยวขวาขับตรงไปจนสุดจะเจอกับทางลงอ่าวเขาควาย เป็นทางลงสาธารณะไม่ผ่านรีสอร์ท

อ่าวเขาควายช่วงกลางมีแนวโขดหินขนาดใหญ่ เป็นจุดที่คนมาเที่ยวเกาะพยามต้องมาถ่ายรูปที่นี่ โขดหินที่นี่มีรูทะลุ คล้ายซุ้มประตู เหมือนกับที่เกาะไข่ จ.สตูล

ซุ้มประตูหินมีอยู่ด้วยกันประมาณ 3-4 ซุ้ม เป็นรูหินขนาดใหญ่ สามารถเดินลอดได้ ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากก้อนหินที่ถูกน้ำทะเล และคลื่นเซาะ ใช้เวลาหลายสิบปีจนกลายเป็นหินทะลุ

ซุ้มประตูหิน อ่าวเขาควายช่วงกลาง

อ่าวเขาควายบริเวณนี้มีหินตามชายหาดค่อนข้างเยอะ หาดทรายปนเลน ไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นน้ำ แต่เหมาะกับการมาถ่ายรูป

ช่วงน้ำลงจะมีปูมาขุดรูอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นปฏิมากรรมบนกองทราย

จากจุดนี้ถ้าใครขยันเดินก็สามารถเดินไปถึงเขาควายใต้ได้เลย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร

เศษหิน และเปลือกหอยสวยๆ มีอยู่เยอะมาก

จากอ่าวเขาควายช่วงกลาง ขี่มอเตอร์ไซค์ตามถนนไปต่อทางทิศตะวันตก จะมีทางไปอ่าวเขาควายใต้ ทางเดียวกับ Vijit Bangalows ขี่มอเตอร์ไซค์ไปประมาณ 5 นาทีก็ถึง

ทางลงหาดจะเป็นทรายต้องเอามอเตอร์ไซค์จอดไว้แล้วเดินลงหาด

อ่าวเขาควายใต้

เป็นหาดแบบชายเลน มีระบบนิเวศน์คล้ายป่าชายเลน แต่ต้นไม้ไม่หนาแน่นเท่าป่าชายเลน มีต้นโกงกางขึ้นเป็นกลุ่มๆ บริเวณหาดมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นปลาตีน หอย ปู นก อ่าวเขาควายใต้มีลักษณะคล้ายปากน้ำมีคลองเข้าไปสู่กลางเกาะเป็นคลองสายสั้นๆ ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ อ่าวเขาควายบริเวณนี้มีหาดที่แตกต่างไปกับอ่าวเขาควายช่วงกลาง และเหนืออยู่มาก เป็นความแตกต่างที่ทำให้อ่าวเขาควายเป็นอ่าวเดียวที่มีความหลายหลายของชายหาดมากที่สุด

ต้นโกงกาง ที่หาดชายเลน

ปลาตีน ปลาที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน สามารถพบเห็นได้ง่าย ช่วงน้ำลง

อ่าวเขาควายใต้เป็นหาดที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว บรรยากาศเงียบสงบ

เปลือกหอยทับทิมนับล้านๆ ตัวตลอดแนวชายหาด บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวเขาควายได้เป็นอย่างดี ในสมัยก่อนบางแสน พัทยาก็มีเปลือกหอยทับทิมเป็นจำนวนมากถูกเก็บไปร้อยสร้อยคอก็เยอะ ถูกนักท่องเที่ยวโกยกลับบ้านก็ไม่น้อย เดี๋ยวนี้หาเปลือกหอยทับทิมตามชายหาดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ ไม่ได้แล้ว

ต้นไม้ป่าชายเลนที่กำลังจะขึ้นใหม่

ใกล้ๆ กับอ่าวเขาควายใต้ มีแหลมที่ยื่นไปในทะเล เป็นที่อยู่ของชาวมอแกนบนเกาะพยาม ที่ใช้นามสกุลว่า “ทะเลลึก” ไปค่อนข้างยากครับ ถนนไปไม่ถึง ไม่มีทางบอก อาจจะต้องไปทางเรือหรือไม่ก็ลัดเลาะไปตามทางลูกรัง ชาวมอแกนหลายคนนับถือศาสนาคริสต์จากการที่มีมิชชั่นนารีมาเผยแพร่ศาสนา ในวันอาทิตย์จะได้ยินเสียงเพลงจากโบสถ์คริสต์ดังก้องออกมาถึงอ่าวเขาควายใต้

วันนี้เราไปกันแค่ 2 หาดครับ เท่านี้ก็หมดเวลาไปครึ่งวันเช้าแล้ว ทริปนี้ขอเที่ยวแบบ slow life ไปนอนเล่นที่ชายหาด อ่านหนังสือใต้ต้นไม้ ชิลๆ ไปครับ

ช่วงเย็น แดดร่ม ลมตกแล้ว เดินสำรวจอ่าวแม่ม่ายตั้งแต่หน้าที่พักนิธิพรบังกะโลไปจนสุดหาดที่แหลมหิน

ตั้งแต่นิธิพรบังกะโลเดินออกไปจะเจอเศษหินเล็กๆ ตามชายหาดค่อนข้างเยอะ ชายหาดค่อนข้างเปลี่ยวบริเวณปลายหาดไม่ค่อยมีที่พักแล้ว มีซากต้นไม้ที่ตายล้มมาที่ชายหาด มีขยะตามชายหาดบ้าง เห็นฝรั่งคนนึงนั่งอยู่บนผ้าริมชายหาด คล้ายกับคนติดเกาะเลย ตัวผอม โทรม

สุดหาดแม่ม่ายเป็นแหลมหินน้ำทะเลสีส้ม เกิดจากการพัดผ่านหินและดินแดง

จากหาดแหลมหินมองย้อนกลับไป หาดบริเวณนี้สงบมากครับ ใครที่อยากจะนอนกางเต๊นท์ริมชายหาด ตรงนี้สามารถกางได้ แต่ค่อนข้างเปลี่ยว เหมาะกับกลุ่มผู้ชายมากกว่า

เย็นนี้กลับไปกินข้าวที่ร้านเดิม เกาะพยามซีฟู๊ด เตรียมเก็บของลงกระเป๋า พรุ่งนี้ต้องกลับระนองแล้ว

วันที่ 3 : กลับระนอง

เช้านี้ก็จะออกจากเกาะพยามแล้ว จากนั้นจะเที่ยวระนองต่ออีก 1 วัน ค้างที่ระนอง เรือที่กลับเป็นเรือ speed boat รอบ 9 โมง มื้อเช้าฝากท้องที่ร้านข้าวแกงใกล้กับท่าเรือ วันนี้เป็นวันจันทร์นักท่องเที่ยวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนมากมีแต่ชาวต่างชาติ

มื้อนี้หมดไปร้อยกว่าบาท อิ่ม อร่อยครับ

ช่วงเวลา 7.30-8.00 น. มีพระจากวัดเกาะพยามมาบิณฑบาตรผ่านหน้าร้านด้วย เราสามารถซื้ออาหารใส่บาตรกับทางร้านได้ครับ

8.30 น. ไปนั่งรอเรือที่ท่าเรือ ในรูปด้านล่างเป็นเรือช้ารอบ 8.30 น เรือรอบนี้จะนั่งสบายเพราะไม่มีของที่จะขนไปฝั่งระนองมากมายเท่าไหร่ อย่างมากก็มีแค่ถังแก๊สเปล่า ลังผลไม้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่ถ้าเป็นขาที่มาจากระนองไปยังเกาะพยามอันนี้ขนของเต็มเรือเลย เหมือนเป็นเรือขนของมากกว่าเรือโดยสาร

เรือลำนี้เป็น speed boat ที่จะพาเรากลับระนอง เป็น speed boat ขนาดกลาง 2 เครื่องยนต์ รองรับผู้โดยสารประมาณ 30 กว่าคน ลูกเรือ 2 กัปตัน 1

สภาพในเรือครับ นั่งสบายกว่าเรือใหญ่เยอะ มีเสื้อชูชีพอยู่ใต้เบาะฝั่งตรงข้ามคนขับ แต่มัดติดกันไว้หมด ราวกับว่าไม่อยากให้หยิบไปใช้ แต่ถ้าอยากจะใส่ชูชีพจริงๆ ก็แกะออกมาได้ครับ มีป้าคนนึงหยิบมาใส่เหมือนกัน เจอลูกเรือแซวว่าไม่จมหรอกป้า จริงๆ แล้วความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ อุบัติเหตุสามารถเกิดได้โดยไม่เลือกเวลา

บรรยากาศภายในเรือ แน่นไปด้วยกระเป๋าเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนมากเป็น Backpacker ทั้งนั้น

เรือขับดี เร็ว คลื่นไม่ค่อยมีด้วย ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีก็มาถึงท่าเรือเทศบาลตำบลปากน้ำแล้ว ใครที่จะไปสนามบินระนอง เข้าเมือง มีรถตู้มาถือป้ายเรียกลูกค้าที่ท่าเรือเลย

หลังจากถึงฝั่งระนองแล้ว เดี๋ยวเราจะเที่ยวในตัวเมืองระนองต่อแบบ One day trip ด้วยการเช่ารถพร้อมคนขับทั้งวัน และพักค้างคืนที่ระนอง 1 คืน สำหรับรีวิวระนองติดตามได้ในตอนต่อไปครับ

อ่านตอนต่อไป –> เที่ยวเมืองระนอง น้ำพุร้อนรักษะวาริน พระราชวังรัตนรังสรรค์ จวนเจ้าเมืองระนอง ภูเขาหญ้า

สรุปโดยรวมเกาะพยาม

เป็นเกาะที่มีจุดเด่นที่ความเป็นธรรมชาติบนเกาะ ไม่มีผับ เทค ไม่มีรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกมากเท่าไหร่ คนบนเกาะมีทั้งคนไทยและคนพม่า นิสัยดีเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว ทะเลที่เกาะพยามมีอยู่หลายหาด หาดดังๆ ก็จะเป็นอ่าวแม่ม่าย, อ่าวใหญ่, อ่าวเขาควาย และอ่าวกวางปีป หาดทรายไม่ถึงกับสวยมาก น้ำยังใสสู้เกาะแถวกระบี่ ภูเก็ตไม่ได้ แต่เป็นธรรมชาติ และมีหาดหลายแบบทั้งหาดชายเลน หาดหิน หาดทราย

ค่าครองชีพบนเกาะไม่แพงเท่าไหร่ที่พักหลักร้อยหาได้ทั่วทั้งเกาะ ข้าวราดแกงจานละ 40-50 บาท อาหารตามสั่งจานละ 80 บาท มีร้านสะดวกซื้อ โดยรวมแล้วค่ากิน-อยู่ถูกกว่าเกาะเสม็ดเสียอีก การไปเที่ยวรอบเกาะวิธีที่สะดวกที่สุดคือเช่ามอเตอร์ไซค์ ค่าเช่าวันละ 150-200 บาท น้ำมันต่างหาก ลิตรละ 50 บาท

เกาะพยามเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติ รักความสงบ ทนลำบากได้นิดๆ ที่พักส่วนมากราคาไม่แพง ถ้าชอบหรูๆ สะดวกหน่อยก็มี Blue sky resort

ค่าใช้จ่ายเกาะพยาม 3 วัน 2 คืน ของ 2 คน (ไม่รวมค่าเครื่องบิน)

– ค่ารถจากสนามบินระนองไปท่าเรือ 200 x 2 = 400 บาท

– ค่าเรือ (ช้า) ระนอง – เกาะพยาม 200 x 2 = 400 บาท

– ที่พักเกาะพยาม นิธิพร บังกะโล 2 คืน 1,560 บาท

– เช่ามอเตอร์ไซค์ 2 คืน + น้ำมัน = 400 + 100 = 500 บาท

– ค่าเรือ (เร็ว) เกาะพยาม – ระนอง 350 x 2 = 700 บาท

– ค่ากิน 7 มื้อ 250 x7 = 1,750 บาท

: : รวม 5,310 บาท หรือเฉลี่ยคนละ 2,655 บาท

Link. เช็คราคา นิธิพร บังกะโล รับประกันราคาถูกสุด , รีวิวนิธิพร บังกะโล

ตารางเวลาเรือเกาะพยาม

ระนอง –> เกาะพยาม

เรือโดยสาร : 9.30 น, 14.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมงครึ่ง (200 บาท)

เรือสปีดโบ๊ท : 9.50 น, 13.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 35-45 นาที (350 บาท)

เกาะพยาม –> ระนอง

เรือโดยสาร : 8.30 น, 14.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมงครึ่ง (200 บาท)

เรือสปีดโบ๊ท : 9.00 น, 14.30 น. ใช้เวลาเดินทาง 35-45 นาที (350 บาท)

กิจกรรมบนเกาะพยาม

บนเกาะพยามมีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง เช่นขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะ ว่ายน้ำ พายเรือ เตะฟุตบอลที่ชายหาด ดูนกเงือก เหยี่ยว เหมาเรือไปเที่ยวเกาะช้าง เกาะกำใหญ่ และ ดำน้ำ (สน๊อกเกิ้ล) รอบเกาะ

ราคาเรือนำเที่ยวดำน้ำ ชมปะการัง รอบเกาะพยามอยู่ที่คนละ 550 บาท มีเครื่องดื่มและอุปกรณ์ดำน้ำให้ฟรี จุดชมปะการังมีอยู่ด้วยกัน 5 จุด ได้แก่ 1. อ่าวคอกิ่ว 2. เกาะเสาธง 3. แหลมไฟแว้ป (อ่าวใหญ่) 4. อ่าวเขาควาย 5. กวางปีป

Post Views 90009

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *