รีวิวมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เที่ยวได้ใน 1 วัน

หลายคนอาจจะทำงานจันทร์ – เสาร์ ไม่มีเวลาไปเที่ยวไกลๆ ในเมื่อเวลามีน้อยเราก็ไปเที่ยวใกล้ๆ ก็ได้ครับ ในกรุงเทพฯ มีที่เที่ยวอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ในรีวิวนี้จะพาไปเที่ยวที่ “มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” เป็นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ที่กระตุกต่อมความคิด ชวนให้ค้นหา ตอบข้อสงสัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถไปได้ใน 1 วัน ใช้เวลาเดินทางไม่นาน

มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรก ที่สร้างความแปลกใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีการจัดแสดงเรื่องราวผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้ดูน่าสนใจและเข้าถึงกับผู้เข้าชม มีเทคนิคในการเล่าเรื่องพร้อมกับตั้งคำถามชวนสงสัยกลับมายังผู้เข้าชม เช่น “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร” หรือ “สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหนกันแน่”

ที่ตั้งของมิวเซียมสยาม

อยู่ใกล้กับวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม), วัดพระแก้ว สามารถเดินทางมาได้หลายทางไม่ว่าจะเป็นทางรถ ทางเรือ หรือจะนั่งรถไฟฟ้า MRT มาลงที่หัวลำโพง แล้วต่อ Taxi อีก 15 นาทีก็ถึงแล้ว

ค่าเข้าชมมิวเซียมสยาม

นักเรียน นักศึกษา 50 บาท
ผู้ใหญ่ 100 บาท
ชาวต่างชาติ 300 บาท

*ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

** เข้าชมแบบกลุ่ม 5 คนขึ้นไปลด 50%

จากเรทราคาเข้ามิวเซียมสยามก็ดูไม่แพงใช่ไหมครับ แต่ถ้าต้องการความคุ้มค่ามากกว่านั้น แนะนำให้ซื้อ MUSE Pass ราคา 199 บาท เที่ยวฟรี 20 พิพิธภัณฑ์ (มูลค่า 630 บาท) แค่ใช้เข้ามิวเซียมสยาม กับ พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ก็เท่าทุนไปแล้วครับ ที่เหลือก็คือกำไร

MUSE Pass สามารถซื้อได้ตรงที่ขายบัตรมิวเซียมสยามเลยครับ

หลังจากชำระค่าเข้าชมแล้ว พนักงานจะให้เอกสารการเข้าชม และป้ายแขวนคอมาให้ คนละอัน

การเข้าชมในมิวเซียมสยาม จะแบ่งเป็นห้อง มีทั้งหมด 17 ห้อง ใช้วิธีการเดินเข้าชมทีละห้อง ในแต่ละห้องจะมีหัวข้อแตกต่างกันออกไป

  • ห้องที่ 1 เบิกโรง

เป็นห้องที่อยู่ติดกับที่ขายบัตรเข้าชม อยู่ชั้น 1 เป็นห้องฉาย VDO มีการฉายเป็นรอบ ถ้าไปวันธรรมดาคนมาชมน้อย ก็ต้องรอรอบ รอคนดู รอไม่นานครับประมาณ 5 นาทีได้

VDO ที่ฉายจะเป็นตัวละครทั้ง 7 ในแต่ละอาชีพ แต่ละวัย พาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดจากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศ ถึงประเทศไทย เพื่อหาคำตอบว่าเราคือใคร และ อะไรคือไทย ใช้เวลาในการชมเกือบ 10 นาที VDO ทำได้ดีครับ แต่ดูแล้วงงๆ เหมือนกัน เหมือนตัดไปตัดมาเป็นคนๆ ไม่ได้เป็นเรื่องราว

  • ห้องที่ 2 ไทยแท้

เป็นห้องที่ตั้งคำถามกลับมายังผู้เข้าชมว่า “ไทยแท้แท้คืออะไร” ภายในห้องนี้มีรถตุ๊กๆ ครึ่งคัน แผงส้มตำไก่ย่าง มีรูปปั้นนางกวักอยู่ด้านบน แม่ค้าหาบเร่ขายผลไม้ ทั้งหมดนี้เป็นฉากให้เราถ่ายรูปได้ครับ แม้ว่าห้องนี้จะไม่ได้ให้คำตอบเป็นตัวหนังสือ แต่การจัดแสดงสามารถบ่งบอกถึงความเป็นไทยแท้ได้อย่างชัดเจน

ป้ายคำถามชวนให้คิด

บรรยากาศจำลองแบบไทยๆ ร้านส้มตำรถเข็น แม่ค้าหาบเร่ขายผลไม้

รถตุ๊กๆ เข้าไปนั่งถ่ายรูปได้ มีฉากหลังเป็นเวทีราชดำเนิน ถนนเยาวราช

  • ห้องที่ 3 เปิดตำนานสุวรรณภูมิ

ห้องนี้ต้องเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น 3 แสดงเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิ ดินแดงแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน บรรพบุรุษคือใคร วิวัฒนาการสังคมก่อนที่จะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ มีข้อมูลให้อ่านอยู่เยอะครับ ได้ความรู้ดี

ย้อนรอยสุวรรณภูมิ

กำเนิดสุวรรณภูมิ

  • ห้องที่ 4 สุวรรณภูมิ

เป็นห้องที่อยู่ติดกับห้องที่ 3 ทำความรู้จักกับสุวรรณภูมิแบบเจาะลึก ในด้านการเกษตร การค้าในแผ่นดินทอง กำเนิดบ้านเมือง รัฐ ความเชื่อทางด้าน ผี พราหมณ์ พุทธ ที่ผสมผสานเป็นความเชื่อของคนไทย ที่กลางห้องมีจอขนาดใหญ่อธิบายในรูปแบบภูมิศาสตร์

การแลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยสุวรรณภูมิ สมัยนั้นยังไม่มีเงินเป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยน

  • ห้องที่ 5 พุทธิปัญญา

เป็นห้องขนาดเล็กที่ค่อนข้างมืด อธิบายถึงพุทธศาสนาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา

  • ห้องที่ 6 กำเนิดสยามประเทศ

เริ่มตั้งแต่ก่อนเป็นสยามประเทศ ละโว้-สุวรรณภูมิ สู่กรุงศรีอยุธยา จากแค้วนต่างๆ กลายเป็นรัฐ แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

  • ห้องที่ 7 สยามประเทศ

เรื่องราวในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ การค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา สินค้าต้องห้ามที่ผู้ขาดโดยรัฐ สินค้ายอดนิยม สินค้าส่งออก มีแบบจำลองพระเมรุ เรือสำเภา เรือพระที่นั่งในสมัยนั้น แขวนประดับไว้กลางห้อง

เรือพระที่นั่งรูปแบบต่างๆ

แบบจำลองพระเมรุสมัยกรุงศรีอยุธยา

  • ห้องที่ 8 สยามยุทธ์

เรื่องราวสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีมูลเหตุใหญ่ๆ มาจากความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ เพื่อสู้รบกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และเพื่อต้องการกวาดต้อนแรงงาน นอกจากนี้ยังมีมูลเหตุมาจากการต้องการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐนั้น

ในสถานที่จริงจะมืดกว่ารูปที่ถ่ายมา หุ่นทหารเสื้อแดงจะมีการบอกว่าเป็นทหารในระดับไหน เช่น พลเดินเท้า

  • ห้องที่ 9 แผนที่ ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ

ห้องนี้ต้องเดินลงมาที่ชั้น 2 ผ่านบันไดไม้แบบโบราณ ในสมัยก่อนไม่มีการทำแผนที่กันอย่างจริงจัง ผู้คนอยู่กันอย่างเบาบางบนพื้นที่มหาศาลจึงไม่มีการทำแผนที่หรือแบ่งอาณาเขต และอีกสาเหตหนึ่งที่ไม่มีการทำแผนที่ เพราะไม่มีคนที่จะเดินทางไปยังที่ต่างๆ แล้วรวบรวมมาทำแผนที่

  • ห้องที่ 10 กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก ก็มีการสร้างเมืองใหม่ที่ “บางกอก” โดยมีแนวคิดและวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา มาผสมผสาน คนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในปัจจุบันก็เป็นคนจากหลายท้องที่ทั้งเมืองรอบๆ อย่างอยุธยา อ่างทอง และยังมีคนเขมร คนลาว ที่มารับจ้างก่อสร้าง จนกลายเป็นคนกรุงเทพฯ

  • ห้องที่ 11 ชีวิตนอกกรุงเทพฯ

เป็นชีวิตนอกกรุงเทพฯ ที่บอกถึงว่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การคมนาคม สื่อสาร ไม่สะดวก ต้องอยู่กับธรรมชาติ ทำไร่ ทำนา อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลี้ยงชีพ

  • ห้องที่ 12 แปลงโฉมสยามประเทศ

การติดต่อกับโลกตะวันตกทำให้ประเทศมีความเจริญขึ้น มีการสร้างถนน การคมนาคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า พักลม โทรศัพท์ เสื้อผ้าแบบสากล สูท หมวก

เครื่องใช้ไฟฟ้าในสมัยแปลงโฉมสยามประเทศ

เสื้อผ้า หมวก สามารถสวมถ่ายรูปได้ตามสะดวกครับ (เจ้าหน้าที่บอกมา)

ตู้ไปรษณีย์แรกของสยาม (ตู้จำลอง) ของจริงทำจากโละหล่อ รัฐบาลเยอรมณีเป็นผู้มอบให้ในตอนที่สยามประเทศเปิดกิจการไปรษณีย์ ในปี พ.ศ. 2426

  • ห้องที่ 13 กำเนิดประเทศไทย

จากสยาม ทำไมกลายเป็นไทย พร้อมบทความจากหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อน การเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย มีสถานีโทรทัศน์จำลองให้ใครๆ ก็เป็นผู้ประกาศข่าวได้

วันที่ไปมีเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษาพอดี เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีประโยชน์ไม่แพ้การเรียนในตำรา

สถานีโทรทัศน์จำลอง

  • ห้องที่ 14 สีสันตะวันตก

หลังจากสิ้นสงครามโลก มีความเจริญ และสิ่งบันเทิงมากขึ้น มีไนท์คลับ มีนักร้อง นักแสดงเกิดขึ้นใหม่มากมาย

ห้องนี้มีที่ถ่ายรูปหลายมุมไม่ว่าจะเป็นรถโบราณ ในร้านอาหาร

  • ห้องที่ 15 เมืองไทยวันนี้

เป็นห้องที่ค่อนข้างมืด ทางเดินทำคล้ายอุโมงค์มีทีวีจอเล็กๆ ติดเต็มไปหมด ห้องนี้สื่อถึงสิ่งที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในช่วงเวลา 3,000 ปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือน DNA ของความเป็นไทย มีสิ่งใดบ้างที่ยังเหลืออยู่ และสิ่งใดที่หายไปแล้ว

  • ห้องที่ 16 มองไปข้างหน้า

ห้องนี้เป็นห้องโล่ง ฉายโปรเจคเตอร์ไปที่ฝาผนัง เป็นห้องที่ตอกย้ำว่า “วันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้”

  • ห้องที่ 17 ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่มาของมิวเซียมสยาม

วันที่ไปห้องนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่อ่านในฝบรายละเอียดบอกว่าห้องนี้ ความเป็นมาและการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นมิวเซียมสยาม ตัวอาคารที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ในอดีตเคยเป็น “อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์” ซึ่งเป็นอาคารเก่า สร้างขึ้นในสมัย ร.6

ชมในอาคารมิวเซียมสยาม เสร็จแล้วก็เดินรอบๆ ตัวอาคาร มีร้านอาหาร MUSE kitchen ใครหิวข้าว หิวกาแฟ เมื่อยขาก็พักเหนื่อยกันได้ที่ร้านนี้ครับ

สรุปโดยรวม

มิวเซียมสยาม เป็นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ มีการให้ข้อมูล และถามกลับไปยังผู้เข้าชมด้วยคำถามชวนให้คิด ก่อให้เกิดความสงสัย และการค้นหา รูปแบบการนำเสนอทำได้ดี มีการใช้สื่อที่จับต้องได้ เช่นคอมพิวเตอร์จอทัชสกรีน โมเดลจำลอง การให้แสงสว่างก็ทำได้สวยงาม มีทั้งมืดและสว่าง ตัวอาคารภายนอกสวย มีการดูแลอย่างดี

ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ที่เที่ยวหลายแห่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ชมมิวเซียมสยามเสร็จแล้วสามารถเที่ยวต่อได้อีกหลายที่ เช่นวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับค่าเข้าชมเพียง 100 บาท ถือว่าคุ้มมากๆ ได้ความรู้ มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เหมาะสำหรับทริปเที่ยวกรุงเทพฯ ใน 1 วัน

ข้อมูลการเยี่ยมชม
เวลาให้บริการ :
วันอังคาร – อาทิตย์ 10.00 – 18.00 น.
สอบถามข้อมูล : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ? 10200

เบอร์โทรศัพท์ : 02-225-2777
เวบไซต์ : www.museumsiam.com
เฟสบุ๊ค : www.facebook.com/museumsiamfan

แผนที่มิวเซียมสยามและสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ

Post Views 169020

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *