กาดกองต้า ลำปาง

 ลำปาง / กาดกองต้า

กาดกองต้า (ตลาดกองต้า) หรือ ตลาดจีน เป็นตลาดโบราณของเมืองลำปาง ตั้งอยู่ขนาบแม่น้ำวัง เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2420 (สมัยรัชกาลที่5) ความสำคัญในอดีตเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าทางภาคเหนือและเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ ซึ่งมีพ่อค้าหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็น พม่า จีน และชาวตะวันตก ที่ได้ชื่อตลาดจีน มาจากพ่อค้าส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน ซึ่งบางส่วนเริ่มต้นโดยการมาขายแรงงานที่นี่ และได้พัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นพ่อค้าของตลาด ความน่าสนใจของกาดกองต้านั้น เน้นไปทางสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ได้แก่ แบบไทยภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนพม่า เรือนแบบจีน และเรือนขนมปังขิงแบบฝรั่งเศส

ปัจจุบันกาดกองต้า ได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนที่ช่วยกันอนุรักษ์และบูรณะฟื้นฟู อาคาร ร้านค้า บ้านเรือน ในอดีตให้ยังคงคุณค่าของสถาปัตยกรรมไว้

ถนนคนเดินกาดกองต้า

ช่วงวันเสาร์ – วันอาทิตย์ พ่อค้าแม่ค้า จะนำสินค้ามาวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น อาหารและขนมอีกนานาชนิด รวมทั้งสินค้าทำมือ เสื้อผ้า ตุ๊กตา รองเท้า กระเป๋า กรอบรูป ของที่ระลึก ฯลฯ

เรือนแถวไม้โบราณ กาดกองต้า

กลุ่มอาคารเก่า

อาคารฟองหลี

อาคารฟองหลี สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแบบขนมปังขิง สร้างโดยชาวจีน ในปี พ.ศ.2434 – 2444 อาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันอาคารฟองหลีเปิดให้บริการเป็นร้านกาแฟและโฮสเทล ชื่อว่า เดอะพริ้ง Cafe’ & Hostel

อาคารเยียนซีไท้ลีกี

อาคารเยียนซีไท้ลีกี สถาปัตยกรรมแบบตึกฝรั่ง สร้างโดยชาวจีน นายจิ้น เหยียน ในปี พ.ศ.2456 เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดจีน

บ้านหม่องโง่ยซิน (รูปบน) เป็นบ้านชาวพม่า สร้างในปี พ.ศ. 2451 รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเรือนขนมปังขิง หลังคาทรงมะลิลา มีลวดลายฉลุไม้สวยงาม ปัจจุบันเปิดเป็นร้านกาแฟ อาคารแห่งนี้เป็นอาคารขนมปังขิงที่สวยงามที่สุดในไทย

บ้านคมสัน สร้างในปี พ.ศ. 2460 ปีเดียวกับสะพานรัษฎาภิเศก สถาปัตยกรรมเรือนปั้นหยา ริมรั้มปลูกดอกพวงแสด ช่วงหน้าหนาวจะออกดอกบานสะพรั่ง

ร้านวันวาน และ ขนม@ลำปาง อยู่ในอาคารกาญจนวงศ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารขนมปังขิงสองชั้น สร้างเป็นที่พักอาศัยและร้านเย็บผ้า

หอศิลป์ลำปาง พื้นที่จัดกิจกรรม ผลงานศิลปะ และ นิทรรศการ

บ้านทนายความ (รูปบน) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 เป็นบ้านไม้ ด้านหน้าเรือนเป็นบานเกล็ดไม้ ตามแบบบ้านตะวันตก หน้าจั่ว เรือนประดับ เสากลึงตามแบบบ้านทางภาคเหนือ

บ้านแม่แดง เป็นอาคารปูนสถาปัตยกรรมผสมระหว่างตะวันตกกับจีน เจ้าของคือนายเกา แซ่แห่ว และ แม่แดง พานิชพันธ์ เดิมเป็นร้านขายสินค้าจากกรุงเทพฯ และนำเข้าจากต่างประเทศ

จุดสิ้นสุดกาดกองต้า ที่สะพานรัษฎาภิเศก (สะพานขาว) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2460

สะพานรัษฎา

สะพานรัษฎาภิเศก เป็นสะพานเก่าแก่ข้ามแม่น้ำวัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมทีเป็นสะพานไม้คอนกรีตเสริมเหล็ก ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 สะพานพังลงจึงได้สร้างสะพานใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่หัวสะพานมีรูปไก่ขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง สะพานแห่งนี้ผ่านสงครามโลกมาแล้ว 2 สมัย รอดพ้นจากการทิ้งระเบิด อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

แม่น้ำวัง

แม่น้ำวัง แม่น้ำสายหลักของลำปาง

การเข้าชม
เวลาทำการ : สามารถเดินชมตึกสถาปัตยกรรมบ้านเรือนเก่าได้ทุกวัน  ส่วนถนนคนเดิน  เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น.
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี
ที่ตั้ง – กาดกองต้า
ที่อยู่ :
ถนนตลาดเก่า ตั้งแต่ฝั่งถนนสวนดอก จนถึงสะพานรัษฏาภิเศก ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง  52000
เบอร์โทรศัพท์ :
เวบไซต์ : https://www.facebook.com/kardkongta

แผนที่กาดกองต้า

การเดินทาง
รถยนต์ : จากตัวเมืองลำปางไปยังถนนรัษฎา จากนั้นข้ามสะพานรัษฎาภิเศกเข้าสู่กาดกองต้า
รถโดยสาร : โบกสองแถวจากในเมือง ราคาตามแต่จะตกลงกัน
ที่พักลำปาง
โรงแรมบีทู ลำปาง

โรงแรมราคาประหยัด จำนวนห้องพัก 61 ห้อง ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น ห้องพักสะอาด ใกล้ห้างเซ็นทรัล เดินไปประมาณ 10 นาที อยู่ติดถนนพหลโยธิน ที่จอดรถกว้างขวาง

ฮ็อป อิน ลำปาง

เป็นโรงแรมราคาประหยัด ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้ห้างเซ็นทรัล เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สะดวก โรงแรมไม่มีอาหารเช้าให้ แต่มีบริการกาแฟ ช่วง 6-11 โมงเช้า มีไมโครเวฟให้อุ่นอาหารได้

เดอะ ริเวอร์ไซด์ เกสต์เฮ้าส์

เป็นบ้านไม้เก่า ที่นำมาปรับปรุงใหม่ ตกแต่งสวยงาม ใกล้กับถนนคนเดิน ประมาณ 200 เมตร ทำเลติดแม่น้ำวัง บรรยากาศดี อาหารเช้าอร่อย พนักงานบริการดีเป็นกันเอง มีจักรยานและ มอเตอร์ไซต์ให้เช่า

โรงแรมเวียงลคอร

โรงแรมตกแต่งสวยงามสไตล์ล้านนา อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก พนักงานบริการดี สิ่งอำนวยความสะดวกครบ สามารถเดินไปเซ็นทรัล ประมาณ 10 นาที ที่จอดรถกว้างขวาง

ดูโรงแรมใน ลำปาง ทั้งหมด คลิ๊ก

Post Views 11864

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *