รีวิวเที่ยวญี่ปุ่น 11 วัน บิน A380 การบินไทย นั่งรถไฟจากสนามบิน Narita เข้า Tokyo
ผมมีความคิดที่อยากจะไปเที่ยวญี่ปุ่นมาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้ติดเรื่องค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวญี่ปุ่นค่อนข้างสูง บวกกับไม่สามารถลางานได้หลายวัน ก็เลยได้แต่เลื่อนมาเรื่อยๆ จนมาถึงปีนี้คิดว่าอะไรหลายๆ อย่างน่าจะลงตัวแล้ว เลยเริ่มวางแผนตั้งแต่ช่วงกลางปีว่าจะไปญี่ปุ่นช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในปีนี้ให้ได้ หาข้อมูลทำ VISA และเริ่มเตรียมเอกสาร แต่สุดท้ายก็มีข่าวดีออกมาว่าญี่ปุ่นยกเว้น VISA ให้กับคนไทยแล้ว งานนี้เลยสบายเลยครับ ไม่ต้องเตรียมเอกสาร ไม่ต้องเสียค่าทำ VISA
รายละเอียดการยกเว้น VISA เข้าญี่ปุ่นให้กับคนไทย
1. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ.2556
2. สำหรับการอยู่ในญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน หากนานมากกว่านี้ต้องขอ VISA ตามปกติครับ
3. การเข้าประเทศได้ขึ้นกับการพิจารณาของ ตม.ญี่ปุ่น แต่ถ้าเรามีเจตนาไปเที่ยวจริง ไม่ได้หนีเข้าไปทำงานไม่ต้องกลัวครับ ผมยังไม่เคยเห็นนักท่องเที่ยวไทยถูกส่งกลับเลยแม้แต่คนเดียวตั้งแต่มีการยกเว้น VISA เข้าญี่ปุ่นให้กับคนไทย
4. มีข่าวลือว่าปีหน้า (2557) จะมีการยกเลิกการยกเว้น VISA ข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริงครับ ทางสถานทูตญี่ปุ่นชี้แจงมาเองเลย ตามรายละเอียดใน link นี้ครับ www.th.emb-japan.go.jp/th/consular/visaindex.htm
เที่ยวญี่ปุ่นไปเองหรือไปกับทัวร์ดี
คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตก ไม่มีคำตอบไหนถูกที่สุด ควรดูความเหมาะสมของตัวเราเองดีกว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เที่ยวง่ายรถไฟครอบคลุมทั้งประเทศ การคมนาคมดีมาก ผู้คนนิสัยดีมีน้ำใจ สิ่งที่ยากในการไปเที่ยวญี่ปุ่นคือป้ายบอกทางในญี่ปุ่นบางที่ไม่มีภาษาอังกฤษ เส้นทางรถไฟที่ซับซ้อน แต่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยการทำการบ้าน หาข้อมูลเยอะๆ ก่อนเดินทาง หลักที่ควรพิจารณาว่าควรไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองหรือไปกับทัวร์มีดังนี้ครับ
1. ถ้าชอบวางแผน วางโปรแกรมเที่ยวเอง = ควรไปเอง
2. ถ้างบประมาณมีจำกัด แต่อยากไปเที่ยวหลายที่ = ควรไปเอง
3. ถ้าชอบเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ ไม่ชอบชะโงกทัวร์ = ควรไปเอง
4. ต้องการไปเที่ยวแบบยืดหยุ่น ปรับแผนการเดินทางได้ตลอด = ควรไปเอง (เช่นแผนตอนแรกว่าจะไปดูภูเขาไฟฟูจิพรุ่งนี้ ตื่นเช้ามาดูพยากรณ์อากาศบอกที่โน่นฝนตก ก็สลับโปรแกรมเป็นชอปปิ้งในโตเกียวแทนได้)
5. ถ้ามีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ที่ไม่ค่อยสะดวกเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ = ควรไปกับทัวร์
6. ถ้าไม่มีเวลาวางแผนเลย แต่อยากจะไปหลายที่ = ควรไปกับทัวร์
วางแผนเที่ยว
โดยปกติแล้วการไปเที่ยวญี่ปุ่นควรมีเวลาอย่างน้อย 5 วัน เพื่อที่จะได้คุ้มค่าตั๋วเครื่องบิน, เวลาเดินทาง และญี่ปุ่นก็มีที่เที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม วัด ศาลเจ้า ชอปปิ้ง ภูมิภาคที่คนนิยมไปเที่ยวนั้นก็มีอยู่ 3 ภูมิภาคหลัก ได้แก่
1. ฮอกไกโด อยู่ตอนเหนือของญี่ปุ่น มีเมืองซัปโปโรเป็นเมืองหลวง คนนิยมไปเล่นหิมะ ดูทุ่งดอกไม้ ดอกลาเวนเดอร์ บ้านเรือนในเขตนี้มีกลิ่นอายความเป็นยุโรปผสมอยู่
2. คันโต อยู่ตอนกลางของประเทศ เมืองหลักของย่านนี้คือโตเกียว ถ้าเป็นช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน คนจะนิยมมาดูซากุระกันที่นี่
3. คันไซ อยู่ด้านใต้ของญี่ปุ่น เมืองที่อยู่ในภูมิภาคนี้ก็มีโอซาก้า เกียวโต นารา โกเบ โซนนี้เด่นเรื่องวัดเก่าแก่ ศาลเจ้า และใบไม้เปลี่ยนสี ภูมิภาคนี้ค่าครองชีพไม่แพงเมื่อเทียบกับฮอกไกโดและคันโต
โดยปกติแล้ว 1 ภูมิภาคควรมีเวลาเที่ยวอย่างน้อย 4 วัน ถ้ามีเวลาน้อยกว่านี้ผมมองว่าไม่คุ้มที่จะข้ามภูมิภาคเที่ยว เพราะเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก
เนื่องจากว่าทริปนี้เป็นการไปญี่ปุ่นครั้งแรกของผม เลยอยากไปให้เต็มอิ่มเลยจัดไปถึง 11 วันครับ โดยไปเที่ยว 2 ภูมิภาค คันโต และ คันไซ โดยปกติแล้วถ้าไปเที่ยว 2 ภูมิภาคนี้คนจะนิยมบินมาลงที่โตเกียว (Narita airport) และกลับทางโอซาก้า (Kansai Airport) หรือ บินลงโอซาก้า แล้วกลับไทยทางโตเกียว เพราะจะได้ไม่ต้องกลับไปกลับมา แต่ผมลองเช็คราคาตั๋วเครื่องบินดูแล้วถ้าบิน Bangkok <–> Narita (Tokyo) จะราคาถูกกว่า Bangkok –> Narita (Tokyo), Osaka –>Bangkok ก็เลยยอมเอา Bangkok <–> Narita ก็ได้ ซึ่งมันก็มีข้อดีอีกอย่างคือเมื่อผมถึงโตเกียวแล้วผมเอากระเป๋าเดินทางฝากไว้ที่โตเกียวเลย แล้วเอาเสื้อผ้าที่ต้องใช้แพคใส่เป้าไปโอซาก้า มันสะดวกตรงที่ไม่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ไปมา
แผนการเดินทางทั้ง 11 วันของผมเป็นดังนี้ครับ
วันที่ 1 : เดินทางกรุงเทพฯ – โตเกียว นอนโตเกียว Candeo Hotel
วันที่ 2 : ฝากสัมภาระไว้ที่โรงแรมในคืนที่ 1 แล้วนั่ง Shinkansen ไปโอซาก้า เที่ยวโอซาก้า นอนโอซาก้า Hotel Consort
วันที่ 3 : เที่ยวนารา นอนโอซาก้า Hotel Consort
วันที่ 4 : เที่ยวเกียวโต นอนโอซาก้า Hotel Consort
วันที่ 5 : เที่ยวเกียวโต นอนโอซาก้า Hotel Consort
วันที่ 6 : นั่ง Shinkansen กลับโตเกียว เที่ยวโอไดบะ โตเกียว นอนโตเกียว Candeo Hotel นอนโรงแรมเดียวกันคืนที่ 1 เพราะฝากสัมภาระกับเค้าไว้
วันที่ 7 : เที่ยว Kawaguchiko ดูภูเขาไฟฟูจิ นอนโตเกียว Candeo Hotel
วันที่ 8 : เที่ยว Nikko นอนโตเกียว Hotel Empire In Shinjuku
วันที่ 9 : เที่ยว Mitake นอนโตเกียว Hotel Empire In Shinjuku
วันที่ 10 : เที่ยวโตเกียว ฮาราจูกุ ศาลเจ้าเมจิ , ดูใบแปะก๊วยสีเหลือง Tokyo University (Todai) , วัดเซ็นโซจิ Asakusa นอนโตเกียว Hotel Empire In Shinjuku
วันที่ 11 : เที่ยวโตเกียว ชิบูย่า บินกลับไทย
สำหรับค่าใช้จ่ายของทริปนี้ ไม่แพงอย่างที่คิด ตกคนละประมาณ 52,000 บาทเท่านั้น ดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายได้ในหน้านี้ครับ –> สรุปค่าใช้จ่าย เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง 11 วัน ช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
เลือกสายการบิน
หลังจากที่วางแผนเที่ยวแล้ว ขั้นต่อไปคือการจองตั๋วเครื่องบิน ขั้นตอนนี้ผมตัดสินใจอยู่หลายวันเหมือนกันว่าจะบินตรง หรือต่อเครื่องดี ถ้าเอาบินตรง Bangkok – Narita (Tokyo) ก็มี 3 สายการบินที่คนนิยมดังนี้ครับ ราคาด้านล่างเป็นราคาช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อน – หน้าฝนก็จะราคาถูกกว่านี้ แต่ช่วงเดือนเมษายน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงที่ตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นแพงที่สุดเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวของคนไทยและเป็นช่วงซากุระบาน
– Delta Airlines เป็นสายการบินของอเมริกา ราคาประมาณ 18,000-19,000 บาท
– United Airlines เป็นสายการบินของอเมริกา ราคาประมาณ 18,000-19,000 บาท
– การบินไทย ราคาประมาณ 19,500-21,000 บาท ให้บริการด้วยเครื่องบินลำใหม่เกือบทั้งหมด ที่น่าสนใจก็ A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำใหม่ที่การบินไทยเพิ่งจะได้มาไม่นาน และเครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินพานิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยครับ รูทไปญี่ปุ่นนั้นเป็นหัวใจหลักของการบินไทยเลยก็ว่าได้ ความสะดวกสบายและการบริการก็ไม่น้อยหน้าสายการบินไหน และที่สำคัญให้บริการด้วยลูกเรือคนไทยมันอุ่นใจตรงนี้ครับ
ส่วนสายการบินที่ต้องต่อเครื่องที่คนนิยมมีดังนี้
– Cathay Pacific เป็นสายการบินฮ่องกง ต้องต่อเครื่องที่ฮ่องกง สายการบินนี้เป็นสายการบินที่เป็นสายการบินที่ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพและการบริการ ข้อดีของการไปต่อเครื่องฮ่องกงคือสามารถออกไปชอปปิ้งที่ Citygate outlets หรือจิมซาจุ่ยได้ ถ้ามีเวลาต่อเครื่องมากกว่า 4 ชั่วโมง ส่วนข้อเสียของสายการบินนี้ ตั๋ว class ราคาถูกไม่สามารถระบุที่นั่งได้เลย ต้องทำ web check-in ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือไปเลือกที่นั่งตอนเช็คอินที่สนามบิน ซึ่งโอกาสจะได้นั่งติดกันก็มีน้อย ราคาประมาณ 16,000-17,000 บาท
– China Eastern สายการบินจีน ต่อเครื่องที่เซี่ยงไห้ จีน ราคาประมาณ 16,000-17,000 บาท
– Air Macau สายการบินมาเก๊า ต่อเครื่องที่มาเก๊า สามารออกไปเดินเล่นในมาเก๊าได้ถ้ามีเวลามากพอ ราคาประมาณ 15,000-16,000 บาท
จากข้อมูลด้านบนจะเห็นว่าถ้าต่อเครื่องจะประหยัดได้ 3,000-5,000 บาท / คนเลยทีเดียว แต่ก็ต้องแลกกับการเสียเวลาและเหนื่อยมากกว่าบินการตรง เส้นทาง Bangkok – Narita (Tokyo) ถ้าบินตรงใช้เวลาบิน 6-7 ชั่วโมง ถ้าต่อเครื่องก็ใช้เวลาอย่างน้อย 9 ชั่วโมง
สรุปว่าเราตัดสินใจที่จะบินตรงครับ เลือกใช้บริการการบินไทย บินกับการบินไทยก็อุ่นใจกว่า อยากนั่งเครื่องใหม่ A380 ด้วย
จองตั๋วเครื่องบิน
การจองตั๋วเครื่องบิน โดยทั่วไปจะจองตรงกับทางสายการบิน กับจองผ่าน Agency แล้วจะเลือกจองกับใครดี? ถ้าราคาเท่ากันหรือไม่ต่างกันมาก จองตรงกับสายการบินเลยจะมั่นใจได้มากกว่า แต่ถ้าราคาของ Agency ถูกกว่า 2,000 บาทขึ้นไป/คน ก็จองกับ Agency จะประหยัดกว่า
การจองกับ Agency นั้นขอให้จองกับเจ้าใหญ่ ที่มีชื่อ ทำมานานแล้วอย่างเช่น kmt.co.th, cheaptickets.co.th, his-bkk.com ที่แนะนำมานี้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียนะครับ ทริปนี้ออกเงินตัวเองทั้งหมด ผมเลือกจองกับ kmt.co.th คลิกดูราคาแล้วจองผ่านทางหน้าเวบ จากนั้นระบบจะส่งรายละเอียดการเดินทางและจำนวนยอดที่ต้องชำระมาให้เรา เราก็โอนเงินเข้าบัญชีบริษัท แล้วทางบริษัทก็จะส่ง E-Ticket หน้าตาดังรูปมาให้เราครับ ซึ่ง E-Ticket เราสามารถ print เป็นกระดาษ A4 ยื่นให้กับพนักงานที่ Counter check in ที่สนามบินได้เลย
จองที่พัก
ทริปนี้จองที่พักล่วงหน้า 4 เดือนทำให้มีโรงแรมราคาดีๆ หลายโรงแรมให้เลือก เราพักทั้งหมด 3 โรงแรม ในโอซาก้า 1 โรงแรม ส่วนที่โตเกียวนอนย่านอุเอะโนะ (Ueno) และ ชินจุกุ (Shinjuku) หลายคนอาจจะคิดว่าโตเกียวเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงอันดับต้นๆ ของโลก ที่พักคงจะมีราคาแพงมาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่พักในโตเกียวระดับโรงแรม 3 ดาว ราคาเริ่มต้นที่ 2 พันกว่าบาท / คืน เท่านั้น
เที่ยวโตเกียวพักที่ไหนดี ?
สำหรับมือใหม่หัดเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำให้พักใกล้กับสถานีรถไฟใหญ่ เช่น Ueno, Shinjuku ส่วนที่พักราคาประหยัดประเภทโฮสเทลจะอยู่ย่าน Asakasa สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกที่พักควรดูด้วยว่าเราเดินทางด้วยรถไฟ JR หรือ Subway เช่นถ้ามี JR Pass อยู่แล้วก็ควรที่จะพักในย่าน JR Yamanote line จะได้ไม่ต้องเสียค่ารถไฟ Subway เพิ่ม
เที่ยวโอซาก้า เกียวโต นารา โกเบ พักที่ไหนดี ?
การย้ายโรงแรมไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องสนุก ถ้าเที่ยวในย่านนี้แนะนำให้พักย่าน JR Shin-Osaka เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวภูมิภาคนี้ สามารถนั่งรถไฟไปเกียวโต นารา โกเบ แบบเช้าไปเย็นกลับได้สบาย
Japan Rail Pass (JR Pass)
จากแผนการเที่ยวของผมถึง 11 วัน ข้ามภูมิภาคไปมาระหว่าง โตเกียว – โอซาก้า เฉพาะค่ารถไฟ Shinkansen ก็ขาละ 13,750 เยนแล้ว ไปกลับก็ 27,500 เยน งานนี้ซื้อตั๋วเป็นเที่ยวๆ แพงแน่นอน ตัวช่วยของผมคือ JR Pass แบบ 7 วัน ราคา 28,300 เยน หรือประมาณ 9,100 บาท ซึ่ง JR Pass ผมสามารถนั่งรถไฟของ JR ไปไหนก็ได้ใน 7 วัน ครอบคลุมทั้งรถไฟ JR ท้องถิ่นใน โตเกียว เกียวโต โอซาก้า นารา, เมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น และยังสามารถนั่ง Shinkansen ได้อีกด้วย แต่มีข้อยกเว้นคือขบวน Nozomi, Mizuho ไม่สามารถนั่งได้เลย ถ้าจะนั่งต้องเสียค่าตั๋วเต็มๆ ไม่มีส่วนลดใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราก็สามารถนั่ง Shinkansen ขบวนอื่นแทน 2 ขบวนต้องห้ามได้เช่น Hikari, Sakura, Kodama
ใครที่ลังเลว่าจะซื้อ JR Pass ดีหรือไม่ ให้ลองคำนวนค่ารถไฟดูครับ ถ้าจ่ายมากกว่า JR Pass ก็ซื้อ JR Pass ไปเลย ค่ารถไฟสามารถคำนวนได้โดยการใส่สถานีต้นทาง และปลายทางลงไปในเวบนี้ครับ www.hyperdia.com สำหรับผมแล้วแค่ไปกลับ โตเกียว <–> โอซาก้า ก็จะเท่าราคา JR Pass แล้วครับ ที่เหลือก็เป็นกำไรไป
JR Pass เป็นสิทธิพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น คนญี่ปุ่นก็ไม่สามารถซื้อได้ และต้องซื้อจากไทยไปเท่านั้น ไปซื้อที่ญี่ปุ่นไม่ได้ครับ ผมแนะนำให้ซื้อจากตัวแทนที่ได้รับสิทธิในการขาย JR Pass อย่างถูกต้องเท่านั้น ค่าตั๋ว JR Pass ก็ไม่ใช่ถูกๆ เน้นชัวร์ดีกว่า ของผมไปซื้อที่ บ. H.I.S ซึ่งเป็น บ. ญี่ปุ่น มีชื่อเสียงเรื่องทัวร์ญี่ปุ่น ราคา JR Pass 7 วันอยู่ที่ 9,100 บาท (ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเรทค่าเงินเยน)
ซื้อ JR Pass Online
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แนะนำให้ซื้อ Online ทางเวบ KLOOK ราคาถูกกว่าด้วย ซื้อ JR Pass Online คลิ๊ก
เราสามารถซื้อ JR Pass ล่วงหน้าได้ 90 วัน ขั้นตอนการซื้อก็แจ้งชื่อ – นามสกุล หมายเลข Passport ทุกอย่างต้องตรงกันเป๊ะเท่านั้นครับ ผมแนะนำให้นำสำเนาหรือถ่ายรูปหน้า Passport ให้พนักงานขาย JR เลย จะได้หมดปัญหาเรื่องการสะกดผิด
JR Pass ที่เราซื้อมาจะเป็น Exchange Order เราต้องเอาไปเปลี่ยนเป็น JR Pass ตัวจริงที่ญี่ปุ่นอีกรอบครับ
สภาพอากาศ อุณหภูมิช่วงใบไม้เปลี่ยนสี กลางเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม และ การแต่งตัว
อากาศในช่วงนี้ถือเป็นหน้าหนาวของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ในภูมิภาคคันโต (โตเกียวและเมืองรอบๆ) และ คันไซ (โอซาก้า เกียวโต นารา โกเบ) อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 8-12 องศา การแต่งตัวใส่เสื้อยืด 1 ตัว ทับด้วยเสื้อยืดแขนยาวอีก 1 ตัว แล้วปิดท้ายด้วยเสื้อกันหนาวแบบบั้งอีก 1 ตัว ท่อนล่างก็กางเกงยีนส์รองเท้าผ้าใบ ก็อุ่นสบายๆ แล้ว อุณหภูมิเท่านี้ลองจอนไม่จำเป็นนะครับ ใส่แล้วจะรำคาญเปล่าๆ สำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นนิยมใส่รองเท้าบูท ถุงน่องสีดำ คู่กับกางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสั้น
ระบบไฟฟ้า
ญี่ปุ่นใช้ไฟ 100 VAC 50-60 Hz ถึงแม้ไฟจะน้อยกว่าบ้านเรา แต่อุปกรณ์ไฟฟ้าเกือบทุกชนิดทำมารองรับไฟตั้งแต่ 100-240 VAC อยู่แล้ว จึงใช้ได้อย่างไม่มีปัญหา รูปลั๊กไฟมาตราฐานญี่ปุ่นเป็นแบบ 2 ขาแบบ ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พกพาไปด้วยเป็นแบบขาแบนก็สามารถเสียบได้เลย เช่นสายชาร์จ Iphone แต่ถ้าเป็นแบบขากลมจำเป็นต้องมีตัวแปลง (Adaptor) จากขากลมให้เป็นขาแบนเสียก่อน Adaptor ควรหาซื้อจากไทยไปเลย เพราะที่ญี่ปุ่นหาซื้อยากมาก แม้แต่ห้างใหญ่ๆ ก็ไม่มีขาย หรืออาจจะใช้วิธีขอยืมโรงแรมเอาก็ได้
ใช้ Internet ที่ญี่ปุ่น
ใน ประเทศญี่ปุ่นมีฟรี wifi อยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นสนามบินนาริตะ, สนามบินคันไซ, และตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ เช่น JR Tokyo, JR Akihabara, JR Ueno, JR Ikebukuro, JR Shinjuku, JR Harajuku, JR Shibuya, JR Shin-Osaka, JR Kyoto และสถานีอื่นๆ อีกมากมาก
แต่ถ้าต้องการใช้ Internet ตลอดการเดินทาง สามารถซื้อ Internet Sim หรือ เช่า Pocket wifi เอาก็ได้ โดยจะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
1. Internet Sim เจ้าที่นิยมสุดจะเป็น B-mobile มีให้เลือกแบบ 1GB Prepaid และ 14 days Prepaid ราคา 3,980 เยน ถ้ารับซิมที่สนามบินบวกเพิ่ม 210 เยน ซิมเจ้านี้รองรับ smart phone ได้หลายรุ่น เพื่อความชัวร์ลองตรวจสอบรุ่นก่อนสั่งซื้อ www.bmobile.ne.jp/english
2. Pocket wifi เป็นกล่องกระจายสัญญาณ wifi ขนาดพอๆ กับฝ่ามือ หรือเล็กกว่า สามารถปล่อยใช้งานได้สูงสุด 10 เครื่อง เหมาะสำหรับการเดินทางหลายคน แชร์กันใช้งาน ค่าเช่าใช้งานประมาณวันละ 150-270 บาท ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรับและคืนเครื่องในไทยแล้ว
แลกเงินเยน JPY
ญี่ปุ่นจะใช้เงินสกุล JPY (Japanese yen) หรือที่เราเรียกกันว่าเงินเยน คนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้โชคดีมากครับเรทเงินเยนตกลงมาจาก 1 เยน : 0.4x บาท เหลือ 1 เยน : 0.31 – 0.32 บาท สำหรับสถานที่แลกเงินผมแนะนำที่ร้าน superich จะเขียวหรือส้มก็แล้วแต่เรทว่าอันไหนดีกว่า โดยปกติจะแทบไม่ต่างกัน และอีกที่คือ ธ.กสิกรไทย เรทค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ
ผมไปแลกที่ ธ.กสิกรไทย ทยอยแลก 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 195,000 เยน ใช้เงิน 63,247 บาท เรทอยู่ที่ 1 เยน : 0.3243 บาท ถ้าไปแลกที่ superich จะได้เรทดีกว่านี้นิดนึงครับ
หลังจากขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้น คราวนี้ก็รอเวลาไปเที่ยวแล้ว ระหว่างรอวันเดินทางก็อ่านรีวิวใน pantip มาหลายรีวิวมาก เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ
ตัดมาที่วันเดินทางเลย ขาไปเป็นเที่ยวบิน TG676 เครื่องออกเวลา 8.00 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ Air Asia ย้ายมาอยู่ที่ดอนเมืองผมเพิ่งจะมาสุวรรณภูมิก็ครั้งนี้แหล่ะครับ รู้สึกว่าสนามบินสุวรรณภูมิคนโล่งกว่าเดิมเยอะเลย
ผมมาถึงสนามบินประมาณตี 5 ทริปนี้ไปกัน 2 คน 11 วัน ใช้กระเป๋าเดินทาง ขนาด 24 นิ้ว 2 ใบ และใส่กระเป๋าเป้ และถุงผ้าไปในกระเป๋าเดินทางด้วย เอาไว้แยกส่วนไปโอซาก้า และเผื่อซื้อของฝากมาเยอะจะได้ถือขึ้นเครื่องได้
สำหรับน้ำหนักสัมภาระของ economy การบินไทยให้โควต้า 20 กิโลกรัม / คนสามารถรวมน้ำหนักกันได้ เช่นคนนึง 25 กิโลกรัม อีกคน 15 กิโลกรัม (ข้อมูลอัพเดท 2559 การบินไทยชั้น economy ให้โควต้าน้ำหนัก 30 กิโลกรัม)
น้ำหนักที่ได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเดินทางหลายวัน และยังมีของฝาก ของช๊อปปิ้งที่ต้องซื้อกลับมาด้วย วิธีการแก้ปัญหาให้หาซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง ติดไปด้วย จัดกระเป๋าเดินทางให้เต็ม 20 กรัม และส่วนที่เหลือก็แบ่งเป็นสัมภาระถือขึ้นเครื่อง
Counter check in ของการบินไทยจะอยู่ที่แถว J ซึ่งจะแบ่งเป็นในประเทศ (Domestic) และระหว่างประเทศ (International) มี counter ปกติ และ counter สำหรับผู้โดยสารที่ทำ internet check in มาแล้ว เดี๋ยวนี้แทบจะทุกสายการบินจะมีให้ทำ check in ทางเวบ 24 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ซึ่งตรงนี้มีประโยชน์มากๆ ครับ เพราะเค้าจะมีแถวสำหรับคนทำ check in ทางเวบมาแล้ว ซึ่งแถวจะสั้น ไม่มีคิวเลย ไม่ว่าจะบินกับสายการบินไหน ผมแนะนำให้ทำ internet check in มาก่อนเลยครับ
อย่างของการบินไทย ก็เข้าไปที่เวบการบินไทย กดตรง icheck in กรอก Booking Reference แล้วติ๊กชื่อผู้โดยสาร กดตกลงเท่านี้ก็เสร็จแล้วครับ ใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาทีด้วยซ้ำ
ผมใช้เวลาที่ counter check in ไม่นาน กระเป๋าโหลดไปแล้วก็ไปหาข้าวเช้าทานก่อนขึ้นเครื่อง ทานที่ Magic Foodpoint ศูนย์อาหารราคาประหยัดของสนามบินสุวรรณภูมิ
เช็คดูซักหน่อยเครื่องบินตามเวลาปกติ ไม่ delay ใช่ไหม
หลังจากนั้นก็ผ่าน ตม. ไทย เดี๋ยวนี้ช่องคนไทยใช้ Auto gate หมดแล้วครับ สะดวก และรวดเร็ว แต่จะไม่มีตราประทับลง Passport
TG676 Gate ขึ้นเครื่องอยู่ที่ C3 สงสัยจะไปถึงเร็วไปหน่อย Gate ยังไม่เปิดเลย
Airbus A380 จอดรอเทียบงวงแล้วครับ ลำใหญ่มาก กำลังทยอดโหลดสัมภาระขึ้นเครื่อง
พอใกล้เวลา Boarding Time คนเยอะมากครับ ก็จะไม่เยอะได้ยังไง ในเมื่อ A380 จุผู้โดยสารได้ถึง 508 ที่นั่ง ตอนแรกผมคิดว่าการบอร์ดผู้โดยสารขึ้นเครื่องจะวุ่นวาย เพราะคนเยอะมาก แต่พอถึงเวลาขึ้นเครื่องเค้าจะเรียกผู้โดยสารขึ้นเป็นชุดๆ ครับ โดยเริ่มจาก Royal first class ก่อน ตามด้วย Royal silk สำหรับผู้โดยสาร economy ก็จะเรียกตามลำดับแถว ก็ใช้เวลาไม่นานและไม่วุ่นวายอย่างที่คิด
A380 จะมีที่นั่งอยู่ด้วยกัน 2 ชั้นครับ ชั้นบน (Upper Deck) สำหรับ Royal first, Royal silk และ economy ไม่กี่ที่นั่ง ส่วนชั้นล่าง (Lowwer Deck) จะเป็นของ economy ทั้งหมด การจัดวางที่นั่งจะเป็นแบบ 3-4-3 ABC-DEFG-HJK ส่วน I หายไปไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน
Seat pitch ของ economy จะมีระยะห่างที่ 31-32 นิ้ว ซึ่งก็ถือว่ากว้าง นั่งสบาย ใครที่อยากรู้ว่ารูปแบบที่นั่งว่าจัดวางในรูปแบบไหนแนะนำให้ไปดูที่เวบนี้เลยครับ www.seatguru.com ใส่สายการบิน เที่ยวบิน ก็จะมี Layout ให้เห็นทุกที่นั่งเลย ใครไม่อยากนั่งติดปีก ไม่อยากนั่งใกล้ห้องน้ำเลือกดูเอาได้เลยครับ
เที่ยวบิน TG676 เครื่องออกเวลา 8.00 น. ถึงสนามบินนาริตะ โตเกียว เวลา 15.30 น (เวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น เร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง 50 นาที ถ้าอยากเห็นวิวภูเขาไฟฟูจิจากบนเครื่องบินให้นั่งฝั่งซ้าย กัปตันจะประกาศบอกตอนผ่านภูเขาไฟฟูจิ แต่สำหรับผมแล้วบินนานขนาดนี้ขอที่นั่งติดทางเดินดีกว่า เวลาเมื่อยยังพอลุกไปเข้าห้องน้ำได้สะดวก
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นั่ง A380 เครื่องใหม่ พร้อม PTV ทุกที่นั่ง บินนิ่มมากครับ Take off ยังไม่รู้สึกเลย ไม่สั่น หูก็ไม่ค่อยอื้อ ไม่มีอาการเวียนหัวเลยแม้แต่นิดครับ เสียงเครื่องยนต์ก็เงียบ ไม่ได้ยินเสียงเลย
พอเครื่องบินได้ระดับก็เริ่มสำรวจที่นั่ง อุปกรณ์ต่างๆ
ของที่การบินไทยมีให้ก็จะมีหูฟัง อันนี้ห้ามเอากลับนะครับ ผมเคยนั่ง Swiss Air สายการบินนี้ให้เอากลับได้ด้วย แต่ผมว่ามันก็ไม่น่าเอากลับไปหรอก หูฟังเป็นแบบ 2 รู จะไปเสียบกับอะไรได้ แถมเสียงก็ไม่ได้ดีอะไร นอกจากนั้นก็มีหมอนกับผ้าห่ม
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในเที่ยวบินนี้ก็เจ้านี่ครับ PTV พร้อมสิ่งบันเทิงในนี้มากมาย
หน้าจอเป็นแบบ Touch screen ขนาดจอ 10.6 นิ้ว สามารถใช้งานได้ทั้ง Touch screen และ Joy stick ด้านล่างขวาของจอเป็นช่องเสียบชาร์ตแบบ USB เราสามารถเสียบชาร์ต Ipad, Iphone โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ได้
เมนูหลักก็จะมีบันเทิง, ข้อมูล, รายการเด็ก, การบริการบนเครื่อง, ประตูสู่เมืองไทย
ภาพยนต์
รายการเพลง
แผนที่การบิน
ที่เมนูบันเทิงก็มีหนังอยู่หลายเรื่องทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง ที่สำคัญพากย์ไทยด้วยครับ หนังมีทั้งหมด 9 หน้า หน้าละ 16 เรื่อง ก็ทั้งหมด 144 เรื่อง หนังใหม่ๆ ก็มีหลายเรื่องนะครับ แบบเพิ่งออกจากโรงไม่เกิน 6 เดือน Fast & Furious 6, Now you see me ก็มี หนังไทยก็มีองค์บาก 3, ATM เออรัก เออเร่อ, หนีตามกาลิเลโอ ฯลฯ เยอะมากดูกันไม่หมด
นอกจากนั้นก็มีเพลงไทย เพลงสากล เกม ข้อมูลการบินว่าเราอยู่ตรงไหนแล้ว ความเร็วเท่าไหร่ มีโปรแกรมแชทกับที่นั่งอื่นๆ บนเครื่องได้ด้วย เยี่ยมมากๆ ครับ In-flight entertainment A380 ของการบินไทย ทำให้เวลา 5 ชั่วโมง 50 นาที เป็นอะไรที่ไม่น่าเบื่อเลย ส่วน wifi บนเครื่องตอนนี้ยังไม่สามารถใช้ได้นะครับ แต่ก็มีข่าวว่าจะใช้งานได้ในช่วงเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ค่าใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 3 MB 4.50 $ และ 10 MB 14 $ จากราคานี้น่าจะเหมาะกับนักธุรกิจที่ต้องการเช็คเมล ติดต่องานเร่งด่วน
ประมาณ 9 โมง ลูกเรือก็เริ่มแจกอาหาร ลูกเรือของการบินไทยนี่อายุดูจะเยอะกว่าสายการบินอื่น ลูกเรือผู้ชายจะดูหน้าตาออกใจดี ใจเย็น บริการดีครับ อาหารมื้อเช้าจะเป็นออมเล็ตกับไส้กรอก มัน ครัวซอง โยเกิร์ต ส่วนอีกชุดนึงจะเป็นข้าวต้มกุ้ง รสชาติอาหารก็ใช้ได้นะครับ
เครื่องดื่มก็จะมีชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ในช่วงเช้าจะไม่เสริฟแอลกอฮอลนะครับ แต่จะเสริฟ flight เย็น
ทานข้าวเสร็จลูกเรือก็มาเดินแจกใบ ตม. ญี่ปุ่น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือขาเข้า และ ขาออก เหมือนประเทศอื่นๆ การกรอกใบ ตม. ก็จะเหมือนๆ กันเกือบทุกประเทศครับ เช่นชื่อ นามสกุล สัญชาติ เพศ อายุ อาชีพ ที่อยู่ในญี่ปุ่น อยู่นานกี่วัน
นอกจากใบ ตม แล้วก็มีใบศุลกากร ก็จะถามว่าเรามีของต้องห้ามเข้ามาไหม เช่นเหล้า บุหรี่ เอามาเกินโควต้าไหม พกพกเงินเข้าเกิน 1,000,000 เยนไหม ใบศุลกากรจะให้กรอกครอบครัวละใบนะครับเช่น มา 2 คนกับแฟนก็กรอกใบเดียวพอ หรือมา 4 คนพ่อ แม่ ลูก ก็กรอกแค่ 1 ใบเหมือนกัน
สำหรับคนที่กังวลว่าจะกรอกใบ ตม. ญี่ปุ่น ใบศุลกากร ไม่ถูก ให้เปิดดูคำแปล การกรอกข้อมูลได้ในหน้านี้ครับ –> รายละเอียดการกรอกใบ ตม. ใบศุลกากร ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากกรอกเอกสารเสร็จก็ดูหนังยาวๆ กันไป หรือจะนอนไปเลยก็ได้
14.30 น. ก่อนเครื่องลงจอด ลูกเรือแจกของว่างเป็นแซนวิช ก่อนลงจากเครื่องอย่าลืมปรับเวลาให้เป็นเวลาของประเทศญี่ปุ่นด้วยนะครับ ซึ่งจะเร็วกว่าเวลาบ้านเรา 2 ชั่วโมง เช่นถ้าเวลาบ้านเราเที่ยง ญี่ปุ่นจะเป็นบ่าย 2
15.30 น. เครื่องลงจอดที่สนามบินนาริตะ โตเกียว Terminal 1 เครื่อง Landing ได้นิ่มนวลไม่แพ้ Take off เลยครับ เครื่องนิ่ม กัปตันเก่ง
ลงจากเครื่องมาแล้วก็เดินตามป้าย Arrivals มาเลย ไกลเหมือนกันครับ
ตม. ญี่ปุ่น
และแล้วก็ถึงขั้นตอนที่บีบหัวใจใครหลายๆ คน ก็คือ ตม. ที่นี่จะมีแถวสำหรับนักท่องเที่ยวและแถวสำหรับชาวญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้ว่าให้ไปต่อแถวไหน ช่วยตรวจเอกสารให้ว่ากรอกครบไหม การจัดการดีมากๆ ครับ ตม. ญี่ปุ่น จะแต่งตัวเหมือนพนักงานบริษัทคือใส่เสื้อเชิ้ต ผูกไทต์ ดูไม่น่ากลัวเลยซักคนครับ ผมยืนดูอยู่หลายคนที่เข้าไปก็ไม่มีใครโดนถามแบบน่ากลัว ไม่มีใครถูกเชิญเข้าห้องเย็น ใครที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกแบบไม่ต้องใช้ VISA ไม่ต้องกังวลนะครับ พยายามแต่งตัวให้ดูดีแบบนักท่องเที่ยว พกแผนการเดินทาง ใบจองโรงแรม ตั๋วขากลับ เงินก็เอาไปตามสมควร เท่านี้ก็พอแล้วครับ
พอถึงคิวผมก็ยื่น passport ให้ เจ้าหน้าที่ก็เปิดดู แล้วให้มองกล้อง จากนั้นก็ให้เอานิ้วชี้ 2 ข้างวางทาบเครื่องเพื่อสแกนลายนิ้วมือ ทุกขั้นตอนมีภาษาไทยบอกด้วย จากนั้นจากหน้าที่ก็คืน passport พร้อมขอบคุณเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ไม่ได้ถามอะไรซักคำครับ ง่ายและรวดเร็วมาก
ขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปมานะครับ ตามหลักสากลแล้วบริเวณนี้ห้ามถ่ายรูป
หลังจากรับกระเป๋าเสร็จ ก็รีบหาทางขึ้นรถไฟเข้าเมืองเลย ทางไปสถานีรถไฟในสนามบินให้ลงบันไดเลื่อนตามป้าย Railways เลยครับ ทั้งรถไฟของ JR และ Keisei
เมื่อลงมาด้านล่างก็จะเจอกับ JR EAST Travel Service Center ใครที่ซื้อ JR Pass (Exchange Order) มาจากไทย สามารถไปแลกเป็น JR Pass ตัวจริงได้ที่นี่เลยครับ
ขั้นตอนมีดังนี้
1. ยื่น Exchange Order ให้เจ้าหน้าที่พร้อม Passport
2. กรอกแบบฟอร์มการใช้งาน พร้อมระบุวันที่จะใช้งานวันแรก
3. หลังจากนั้นจะได้ JR Pass ตัวจริงมา ขนาดประมาณ Passport
JR Pass ตัวจริงจะมีระบุวันที่ใช้งาน ต้องเก็บไว้ดีๆ นะครับ ถ้าหายไม่สามารถทำใหม่ได้
จากนั้นเราก็เข้าโตเกียวกันครับ
จากสนามบินนาริตะ เราสามารถเข้าโตเกียวได้ 3 วิธี
1. รถไฟ ค่อนข้างสะดวก มีตั้งแต่ราคาถูกจนราคาแพง หรูหราจนถึงธรรมดา เอาเฉพาะขบวนยอดนิยมละกัน ขบวน Local ไม่เอามาพูดถึงเพราะวิ่งช้า ไม่ควรนั่งครับ
– 1.1 JR Narita Express (NEX) เป็นรถไฟหรู นั่งสบายจากค่าย JR ใช้เวลาเดินทาง 60 นาทีถึงสถานีโตเกียว ค่าโดยสาร 2,940 เยนสำหรับตู้ธรรมดา และ 4,430 เยนสำหรับ Green Cars (first class) สามารถใช้ JR Pass ขึ้นได้ ต้องมีการจองที่นั่งก่อนขึ้นเท่านั้น
– 1.2 JR Narita Rapid Airport ขบวนรถเร็ว Sobu line ใช้เวลาเดินทาง 80 นาทีถึงสถานีโตเกียว ค่าโดยสาร 1,280 เยน
– 1.3 Keisei Skyliner (เคย์เซย์ สกายไลเนอร์) เป็นรถไฟหรู นั่งสบายจากค่าย Keisei ใช้เวลาเดินทางถึงสถานี Ueno เพียง 41 นาทีเท่านั้น ค่าโดยสาร 2,400 เยน
– 1.4 Keisei Limited Express (เคย์เซย์ ลิมิเต็ด เอ็กเพรส) ขบวนรถราคาประหยัดจากค่าย Keisei ใช้เวลาเดินทางถึงสถานี Ueno 75 นาทีเท่านั้น รถไฟออกทุก 30 นาที ค่าโดยสาร 1,000 เยน
2. รถบัส Airport Limousine Bus ราคาประมาณ 1,000-3,000 เยน ถ้าเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนอาจจะเสียเวลารถติด
3. Taxi ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะค่าโดยสารราคาแพงมาก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,000-7,000 บาท / คัน
จากข้อมูลด้านบนหลายคนอาจจะงงว่าควรนั่งขบวนไหนเข้าโตเกียวดี เพราะมีให้เลือกเยอะ ผมฟันธงให้แบบง่ายๆ ถ้าเปิดใช้ JR Pass เลยก็นั่ง NEX ไป แต่ถ้าเสียเงินเองก็นั่ง Keisei Limited Express เพราะราคาเพียง 1,000 เยนเท่านั้น
หลังจากเลือกรถไฟเข้าเมืองได้แล้วก็ซื้อตั๋วกันครับ สำหรับ Keisei ก็ซื้อที่ Counter นี้
รถไฟ JR ก็ Counter สีแดง ในรูปด้านล่าง
เราสามารถซื้อตั๋วแบบเป็นเที่ยวๆ หรือจะซื้อบัตรเติมเงินแล้วให้ตัดเงินจากบัตรเป็นค่ารถไฟก็ได้ครับ บัตรเติมเงินจะได้ความสะดวก ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าโดยสาร
สำหรับบัตรเติมเงิน (IC Card) จะมีอยู่ 2 ชนิด
1. Suica เป็นบัตรของค่าย JR East ซื้อบัตรใหม่ 2,000 เยน เป็นค่ามัดจำ 500 เยน และเงินในบัตรอีก 1,500 เยน เติมเงินขั้นต่ำครั้งละ 1,000 เยน
2. Pasmo เป็นบัตรของค่าย Tokyo Metro มีค่ามัดจำ 500 เยน เติมเงินขั้นต่ำครั้งละ 1,000 เยน
บัตรเติมเงินนอกจากจะใช้ขึ้นรถไฟได้แล้วยังสามารถชำระเงินตามมินิมาร์ท ร้านค้า ตู้ขายของ และขึ้นรถเมล์ได้อีกด้วย โดยดูได้จากสัญลักษณ์บัตร Suica และ Pasmo ของผู้ให้บริการ ลักษณะบัตรจะเป็นบัตร RFID แบบไม่สัมผัสเหมือนรถไฟฟ้าบ้านเรา บางทีเค้าก็เรียกบัตรเติมเงินว่า IC Card ดังนั้นถ้าเห็นคำว่า IC Card ที่ประตูทางเข้ารถไฟฟ้านั่นหมายความว่าให้เอาการ์ดไปแตะตรงนั้น
เนื่องจากว่าการเดินทางของผมค่อนข้างเยอะ เลยคิดว่าซื้อเป็นบัตรเติมเงิน Suica ไปน่าจะสะดวกกว่า ผมจะใช้บริการ Keisei Limited Express เข้าโตเกียว เพราะเป็นรถไฟที่ราคาไม่แพง แต่ก็ไม่ช้าเหมือนรถไฟสาย Local ไม่ได้จอดทุกสถานี เดี๋ยวผมจะใช้บัตร Suica นั่งรถไฟ Keisei เลย
การขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ยากครับ ดูป้ายเอาว่า Keisei Limited Express จอดที่ชานชาลา (Track) ไหนแล้วก็ไปขึ้นตามเวลา และชานชาลาที่ป้ายบอก ที่ตัวรถไฟก็จะมีบอกอีกว่ารถไฟคันนี้มุ่งหน้าไปไหน ถ้าเช็คทุกอย่างตามที่ว่ามานี้ยังไงก็ไม่มีผิดขบวนแน่นอนครับ
เดินไป track ที่ Keisei Limited Express จอดอยู่ พบว่ารถไฟมาจอดรออยู่แล้ว ลากกระเป๋าขึ้นรถไฟได้เลย
ภายในรถไฟจะจัดที่นั่งขนานไปกับตัวรถ คล้ายกับ BTS, MRT บ้านเรา จะนั่งตรงไหนก็ได้ครับ ส่วนกระเป๋าเดินทางก็วางไว้หน้าเราได้เลย ที่สถานี Narita คนจะยังขึ้นไม่เยอะ แต่พอแล่นไปเรื่อยๆ จอดตามสถานีต่างๆ คนก็ขึ้นมาเรื่อยๆ สำหรับคนที่จองโรงแรม ที่พักในวงของ JR Yamanote line มี 2 สถานีให้เลือกลงได้แก่ Nippori และ Ueno โดย 2 สถานีนี้สามารถเชื่อมกับ JR Yamanote line ได้ สถานี Nippori จะถึงก่อน และ Ueno เป็นสถานีสุดท้าย รวมใช้เวลาจากสนามบิน Narita มาถึง Ueno ประมาณ 75 นาทีครับ
ออกจากสถานี Keisei Ueno ก็ลากกระเป๋าเดินตามป้าย JR Ueno พอออกจากสถานีก็รับรู้ได้ถึงความหนาวของโตเกียวอุณหภูมิประมาณ 10 องศา ก็ถือว่าหนาวแล้วสำหรับคนไทย
ที่พักของผมคืนนี้พักที่ Candeo Hotel Ueno-koen ซึ่งจะอยู่ใกล้สถานี JR Uguisudani เป็นสถานีที่ถัดจาก JR Ueno สถานีเดียว
เส้นทางของรถไฟ JR Yamanote line จะวิ่งเป็นวงกลม มีทั้งวนตามเข็ม และวนทวนเข็มนาฬิกา ผ่านสถานีใหญ่ และสถานที่สำคัญหลายแห่งเช่น Shinjuku, Harajuku, Tokyo, Akihabara, Ueno ก่อนที่จะขึ้นรถไฟลองนับสถานีดูก่อนครับว่าวนไปทางไหนจะใกล้กว่า
ผมนั่งรถไฟไปลงที่ JR Uguisudani แล้วออกทาง South Exit โรงแรมอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟมาก สามารถมองเห็นตัวโรงแรมได้จากสถานีเลย การเดินทางไปโรงแรม Candeo Hotel Ueno-koen เมื่อออกทาง South Exit แล้วให้เดินไปทางซ้ายข้ามสะพานทางรถไฟเดินตรงไปจนเจอ 3 แยก ให้เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปอีกประมาณ 100 เมตรจะเจอ โรงแรม Candeo Hotel Ueno-koen อยู่ทางซ้ายมือมีป้ายบอกชัดเจน
Candeo Hotel Ueno-koen
เป็น Business hotel ระดับ 3 ดาว มีห้องพักทั้งหมด 268 ห้อง อยู่ในทำเล Ueno ไปไหนมาไหนสะดวก ราคาห้องพักในคืนแรก 2,407 บาท จองผ่าน agoda ตัวโรงแรมตกแต่งสวย เพิ่งจะเปิดไม่นาน ยังดูใหม่อยู่เลยครับ ทัวร์ดังๆ หลายที่ก็นิยมมาพักที่โรงแรมนี้
Link. เช็คราคาโรงแรม Candeo Hotel Ueno-koen , รีวิวโรงแรม Candeo
Lobby ของโรงแรมจะอยู่ที่ชั้น 2
การ check in ก็เพียงยื่น Hotel Voucher พร้อม Passport ให้พนักงาน แล้วก็เซ็นเอกสารการเข้าพักอีกนิดหน่อย เท่านี้ก็เสร็จ ไม่มีค่ามัดจำ
บริเวณ Lobby สามารถเล่น wifi ได้ฟรี สามารถขอ Password ได้กับพนักงาน แต่ในส่วนของห้องพัก wifi ไปไม่ถึง แต่เห็นเค้ามีสาย LAN ให้บนโต๊ะทำงาน แสดงว่าใช้สาย LAN เล่นได้
พนักงานบอกกับเราว่าของตรงนี้ให้หยิบไปได้เลย ฟรี ก็มีชาเขียว ยางรัดผม คอตตอนบัด ใยขัดตัว หวี มีดโกนหนวด
ทางเดินหน้าห้องก็ทำดูดี ใหม่สะอาด
พวงกุญแจห้องต้องนำไปเสียบแบบนี้ครับ ไฟถึงจะติด
เข้ามาในห้อง ขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ มีโต๊ะทำงาน สาย LAN โทรศัพท์ TV กาต้มน้ำ ไดร์เป่าผม และตู้เย็น
ในห้องมีเครื่องปรับอากาศที่เป็นได้ทั้ง Air และ Heater ในตัวเดียวกัน ญี่ปุ่นหน้าร้อนก็ร้อนเหมือนบ้านเราครับ แต่เวลาหนาวก็หนาว หิมะตกเลยทีเดียว เลยจำเป็นต้องมีทั้ง Air และ Heater
ในตู้เย็นว่างเปล่า ไม่มีน้ำให้ คนญี่ปุ่นเค้าดื่มน้ำจากก๊อกเอาครับ แต่คนบ้านเราไม่คุ้น ยังไงก็ขอกินน้ำดื่มเป็นขวดดีกว่า
ในห้องจะไม่มีตู้เสื้อผ้า แต่จะมีที่แขวนผ้าให้แทน
เข้ามาดูในห้องน้ำกันบ้าง สภาพใหม่มากๆ ห้องน้ำในญี่ปุ่นเหมือนเค้าจะยกชุดมาวางเลย ตั้งแต่ฝาผนัง อ่างล้างหน้า ชักโครก อ่างอาบน้ำ ไม่ได้ใช้กระเบื้องปูเหมือนบ้านเรา ผมคิดว่าค่าแรงเค้าคงแพง และแบบนี้ดูแล ทำความสะอาดง่ายกว่าปูกระเบื้อง สร้างได้เร็วกว่า
ชักโครกอัตโนมัติแบบญี่ปุ่น
ในห้องน้ำก็จะมีอ่างล้างหน้า โฟมล้างมือ แก้วน้ำ 2 ใบ อ่างอาบน้ำ และที่ชอบสุดๆ คือชักโครกอัตโนมัติตัวนี้ครับ ทันทีที่เรานั่งลงไปชักโครกจะปล่อยน้ำมาล้างชักโครกให้ก่อนทีนึง
สำหรับปุ่มต่างๆ ทำหน้าที่ดังนี้ครับ โดยเริ่มจากซ้ายก่อน
– ลูกบิดวงกลม ไว้ปรับความแรงของน้ำ
– ปุ่มสีชมพู สำหรับคุณผู้หญิงเวลาปัสสาวะเสร็จ กดทีเดียวจะปล่อยน้ำค้างไว้ตลอด
– ปุ่มสีฟ้า ใช้ล้างก้นหลังจากถ่ายหนักเสร็จ กดทีเดียวจะปล่อยน้ำค้างไว้ตลอด
– ปุ่มสีส้ม กดหยุดน้ำ
จากที่ได้ลองใช้งานดู พบว่ามัน work มากๆ ครับฉีดตรงตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ดีกว่าสายชำระแบบบ้านเรา ห้องน้ำไม่เลอะเทอะ บางรุ่นมีระบบน้ำร้อน น้ำเย็น มีอุ่นฝารองนั่งให้ด้วย ญี่ปุ่นเค้าช่างคิดจริงๆ
ที่อ่างอาบน้ำก็มีแชมพูสระผม Conditioner สบู่อาบน้ำ ของที่ใช้ก็คุณภาพดีนะครับ
ถ้าอยากดูรีวิวโรงแรม Candeo แบบเต็มๆ คลิกดูต่อที่หน้านี้เลยครับ รีวิวโรงแรม Candeo
เก็บของเสร็จ ก็มืดแล้ว ญี่ปุ่นในช่วงหน้าหนาวมืดเร็วครับ พระอาทิตย์ตกดินตอน 16.30 น.
ที่ชั้นล่างของโรงแรมเป็นซุปเปอร์มาเก็ต แม่บ้านญี่ปุ่นนิยมมาซื้อของกันครับ ของที่ขายก็เน้นไปทางวัตถุดิบมากกว่า เช่นเครื่องปรุง เส้น ข้าวสาร พวกเครื่องดื่มเหล้า เบียร์ ก็มีขาย หลากหลายด้วย คนญี่ปุ่นเค้าก็ชอบดื่มเบียร์กันครับ
มื้อแรกที่ญี่ปุ่นกินราเมงไป กินง่ายๆ จะได้กลับมาแพคกระเป๋าไปโอซาก้าในวันรุ่งขึ้น ชามนี้ 490 เยนเท่านั้น หรือตีเป็นเงินไทย 157 บาท ค่าอาหารญี่ปุ่นไม่ได้แพงอย่างที่คิด แต่ที่แพงมากๆ ก็จะเป็นค่าเดินทาง คืนแรกในญี่ปุ่นจะจบเพียงเท่านี้ครับ เดี๋ยวตอนต่อไป จะพานั่ง Shinkansen รถไฟความเร็วสูงไปเที่ยวโอซาก้ากัน
อ่านตอนต่อไป –> นั่ง Shinkansen เที่ยวโอซาก้า ปราสาทโอซาก้า ป้ายไฟกูลิโก๊ะ โดทงโบริ
Post Views 98919
ตอบคุณ lucky_kade
โปรแกรม ok แล้วครับ วันที่ไป Kawaguchiko ลองเช็คสภาพอากาศก่อนนะครับ อากาศดีค่อยไป อาจจะวางโปรแกรมยืดหยุ่นไปวันที่ 2 หรือ 3
เขียนได้ละเอียดจิงๆคะ เข้าใจง่าย ขอบคุนมากๆที่นำมาเล่า มาบอกต่อ ให้กับนักเดินทางมือใหม่ เพราะกำลังชั่งใจว่าจะไปทัวร์ หรือ ไปเองดี ตอนนี้ได้คำตอบในใจแล้วคะ
มีคำถามอีกนิดนะคะ ตอนที่เราฝากกระเป๋าไว้ โรงแรมแรก คือเราต้องเสียค่าที่พักวันที่ 2-5 ไว้แบบนี้หรือคะ เพราะคืนที่2-5 เราไมได้นอนที่นี่
ตอบคุณ mai
วันที่ 2-5 ไม่ต้องเสียค่าฝากกระเป๋า และไม่ต้องจ่ายค่าห้องให้กับโรงแรมที่รับฝากครับ เพราะวันที่ 6 เราก็กลับมานอนที่เดิมครับ
กำลังจะไปช่วงปลายเมษา ตั้งแต่หาข้อมูลมา อันนี้เป้นการรีวิวที่ละเอียดสุดๆ แล้วครับ ขอบคุณมากเลยครับ
ตอบคุณ joke attaphol
ขอบคุณสำหรับคำชม และกำลังใจครับ
เที่ยวโอซาก้า เกียวโต นารา นอนแถวนัมบะหรือชินโอซาก้า ดีคะ
ไปญี่ปุ่นเองครั้งแรก รบกวนสอบถามแอดมินนะคะ วางแผนไปญี่ปุ่น 8 วัน (นอนโอซาก้าตลอดทริป) ขออธิบายตามนี้เลยนะคะ
คืนแรกนอนสนามบินคันไซ เพราะไปถึงก็ดึกแล้ว เช้าฝากของที่โรงแรม (ไม่แน่ใจว่าจะพักย่านนัมบะหรือชินโอซาก้าดี) เดินทางไปเที่ยวต่อ (อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเที่ยวโซนไหนก่อนดี ที่ไม่เสียเวลาจากการฝากของ เที่ยว นารา 1 วัน/ เกียวโต 2วัน/ universal 1วัน / นอกนั่นก็โอซาก้า รบกวนแอดมินช่วยแนะนำหน่อยนะคะว่าจะเริ่มจากไหนยังงัยดี หรือมีอะไรเพิ่มเติม เพราะกลัววางแผนแล้วเสียเวลาเองและควรใช้บัตรในการเดินทางแบบไหนถึงจะเหมาะสม
ขอบคุณมากนะคะ
ตอบคุณ Aim
แนะนำ Namba หรือ Umeda ครับ ส่วน Shin Osaka เหมาะกับคนที่มีพาสนั่ง shinkansen ได้ครับ
ตอบคุณ Aimmy
เที่ยววันแรกควรเที่ยวใน Osaka ครับ ถ้าเที่ยวหลายที่ก็ใช้ Osaka Amazing pass พาสนี้ใช้นั่งรถไฟได้ ส่วนจะไปไหนบ้าง ลองดูในรีวิวเป็นไอเดียครับ
วางแผนการเดินทางให้นำชื่อไป search ใน google map แล้วเราจะรู้ว่าอะไรอยู่ใกล้กัน ควรไปที่ไหนก่อน-หลังครับ
ขอบคุณมากค่ะสำหรับรีวิว อ่านเข้าใจง่าย ขอเรียนสอบถามและขอคำแนะนำด้วยค่ะ ดิฉันวางแผนเที่ยวเองระหว่าง 2-12 พย. 61 นี้ ซึ่งทั้งไป-กลับ ต้องขึ้นเครื่องที่สนามบินนาริตะ การเที่ยวเน้นสบายๆไม่เร่งรีบและไม่จำเป็นต้องเที่ยวทุกจุด เนื่องจากเราอายุไม่น่อยกันแล้วค่ะ แผนคร่าวๆดังนี้
วันที่ 1 ถึงโตเกียวนาริตะ ซื้อ Keisei Limited Express ซื้อตั๋วขาเดียว – เชคอินโรงแรมย่าน Ueno
วันที่ 2 โตเกียว – Azakusa วัด Sensoji Tokyo Tower , ศาลเจ้าเมจิ / เดินเล่นย่าน Harajuku แล้วกลับมาดูพิธีชงชา
SeiSei An ( สถานี Akasaka-Mitsuke G05 , M13 ) พักที่เดิม
วันที่ 3 เดินทางจาก Tokyo ไป Kawaguchiko ดู Mt.Fuji โดยเปิดใช้ JR Pass พักที่ Kawaguchiko 1 คืน
วันที่ 4 เช้าเที่ยวรอบๆ Kawaguchiko แล้วเดินทางกลับ Tokyo โดยใช้ JR Pass
*** พักโรงแรมเดิมที่ โตเกียว
วันที่ 5 เดินทางไป Osaka โดยนั่ง Shinkansen ใช้ JR Pass ฝากกระเป๋าที่โรงแรม แล้วเที่ยวปราสาทโอซาก้า เดินย่านนัมบะ
วันที่ 6 Kyoto วันแรก ลอกแผนของ admin (นอน Osaka )
*** Osaka – Kyoto ใช้ JR Pass
*** Kyoto ซื้อ Kyoto Citi Bus one Day 500 เยน
วันที่ 7 Kyoto วันที่สอง ลอกแผนของ admin ( นอน Osaka )
วันที่ 8 ช่วงเช้าเที่ยวใน Osaka shopping ดงทงโบริ นัมบะ บ่ายเดินทางกลับจาก Osaka เข้า Tokyo
โดยใช้ JR Pass
วันที่ 9 Tokyo เที่ยวชม Ueno Park เดินซื้อของ shibuya เยี่ยมฮาจิโกะ (ใช้ JR Pass ได้วันสุดท้าย)
วันที่ 10 เดินทางเข้า สนามบินนาริตะ โดยซื้อ Keisei Limited Express
คำถาม :
1. ดิฉันซื้อ JR Pass 7 วัน ควรเปิดใช้วันที่เดินทางเข้า Kawaguchiko ใช่หรือไม่คะ หรือแนะนำอย่างไรคะ
( ดิฉันวางแผนใช้ JR Pass 7 วัน เดินทางไปกลับ Tokyo-Osaka-Tokyo ด้วยค่ะ)
2. ระหว่างที่อยู่ในโตเกียว วันที่ 1-2 ควรซื้อ pass Tokyo Subway 2 Day หรือไม่คะ (วันแรกถึงโตเกียว ช่วง 15.30 น.) หรือว่าวันที่ 2 เปิดใช้ JR Pass เลย แล้วใช้ suica จ่ายค่า subway เป็นรอบๆไป
3. วันที่ 7-8 ในเกียวโต และนอนทีโอซาก้า ควรซื้อตั๋วแบบไหนดีคะ
4. อื่นๆ ที่ admin จะแนะนำได้ ยินดีค่ะ และขอขอบคุณล่วงหน้านะคะสำหรับคำตอบ
ตอบคุณ Washington DC
1. ดิฉันซื้อ JR Pass 7 วัน ควรเปิดใช้วันที่เดินทางเข้า Kawaguchiko ใช่หรือไม่คะ หรือแนะนำอย่างไรคะ
– ตาม Plan ได้เลยครับ คุ้มสุดแล้วครับ
2. ระหว่างที่อยู่ในโตเกียว วันที่ 1-2 ควรซื้อ pass Tokyo Subway 2 Day หรือไม่คะ (วันแรกถึงโตเกียว ช่วง 15.30 น.) หรือว่าวันที่ 2 เปิดใช้ JR Pass เลย แล้วใช้ suica จ่ายค่า subway เป็นรอบๆไป
– ต้องลองคำนวณค่ารถไฟดูนะครับ แต่จะเลือกแบบไหนก็ไม่ได้ประหยัดต่างกันมากครับ
3. วันที่ 7-8 ในเกียวโต และนอนทีโอซาก้า ควรซื้อตั๋วแบบไหนดีคะ
– ในเกียวโต ซื้อตั๋วรถบัส One day pass ก็ได้ครับ
4. อื่นๆ ที่ admin จะแนะนำได้ ยินดีค่ะ และขอขอบคุณล่วงหน้านะคะสำหรับคำตอบ
– โปรแกรมโอเคแล้วครับ 🙂
ขอบคุณมากค่ะ