วัดนันเซนจิ เกียวโต Nanzenji Temple
ญี่ปุ่น / เกียวโต / วัดนันเซนจิ
วัดนันเซนจิ (Nanzenji Temple : 南禅寺) เป็นวัดนิกายเซน (Rinzai) ที่สำคัญของเกียวโต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณตีนเขาฮิกาชิยามา เดินทางสะดวกไปได้ทั้งรถบัส และ รถไฟ บริเวณนี้มีวัดและศาลเจ้าดังๆ หลายแห่งที่สามารถเดินต่อถึงกันได้ เช่นศาลเจ้าเฮอัน (Heian Shrine), วัดอีคันโดะ (Eikan-do Temple) และ ทางเดินสายปรัชญา (Philosopher’s walk) ความสำคัญของวัดนี้นอกจากด้านศาสนาแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยงามในเกียวโต
ภายในวัด Nanzenji แบ่งเป็นวัดย่อยอีก 3 วัดได้แก่ Nanzenin Temple, Konchi-in Temple และ Tenjuan Temple ในแต่ละวัดย่อยก็มีการเก็บค่าเข้าแยกกันไปอีก แต่ในพื้นที่ส่วนกลางรวมไปถึงท่อส่งน้ำโบราณไม่เสียค่าเข้า
วัดนันเซนจิ สร้างขึ้นในช่วงปีคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในยุคเฮอัน โดยจักรพรรดิ์คาเมะยามา (Emperor Kameyama) โดยตอนแรกจะสร้างเป็นที่อาศัยหลังจากสละราชสมบัติ แต่ต่อมาจักรพรรดิ์เกิดความเลื่อมใสในนิกายเซน จึงได้อุทิศให้เป็นวัดนิกายเซน ตัวอาคารของวัดเคยได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้และสงครามระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ในช่วงปี ค.ศ. 1333-1573 หลังจากเหตุการณ์สงบลงจึงได้มีการสร้างอาคารของวัดขึ้นมาใหม่
ภายในวัดนันเซนจิ (Nanzenji Temple) มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง แบ่งออกเป็นสถานที่สำคัญ และวัดย่อยๆ เช่น โฮโจ (Hojo), ประตูซันมอน (Sanmon Gate), สะพานส่งน้ำ, วัดนันเซนิง (Nanzenin Temple), วัดคงจิอิน (Konchi-in Temple), วัดเทงจุอัง (Tenjuan Temple) การชมให้ทั่วทั้งวัดต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน และ ต้องเสียค่าเข้าวัดย่อยต่างๆ ดังนั้นควรเลือกเข้าชมส่วนที่สนใจ
1. ประตูซันมอน (Sanmon Gate) เป็นประตูไม้ขนาดใหญ่ที่ทางเข้าวัด สร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1628 มีความสูง 22 เมตร ด้านบนเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นชม เมื่ออยู่ด้านบนจะมองเห็นวิวเมืองเกียวโต ภูเขา และต้นไม้รอบๆ มีค่าขึ้นไปด้านบนประตูอยู่ที่คนละ 600 เยน (เดินผ่านประตูด้านล่าง ไม่เสียเงิน)
ประตูซันมอน (Sanmon Gate) วัดนันเซนจิ
ประตูซันมอน (Sanmon Gate) วัดนันเซนจิ
ใบไม้เปลี่ยนสี ด้านหน้าประตูซันมอน
เข้ามาด้านในจะเป็นวิหาร Hatto เป็นอาคารสีเหลือง ใช้ประกอบพิธีของวัด
2. ท่อส่งน้ำ (aqueduct) มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่าโซซุย (Sosui) อยู่ถัดจากประตูซันมอนไปไม่ไกล บริเวณเป็นดงเมเปิ้ลและท่อส่งน้ำ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของวัดไม่เสียค่าเข้าชม ท่อส่งน้ำอันนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัด สร้างขึ้นในสมัยเมจิ ปี ค.ศ. 1881-1890 ใช้เป็นทางผ่านของน้ำจากทะเลสาบบิวะ (Biwa) กับเกียวโต ปัจจุบันก็ยังใช้งานได้อยู่ ในสภาพแข็งแรง ที่น่าทึ่งมันอยู่ตรงที่เป็นท่อส่งน้ำแบบลอยฟ้า และยังสร้างได้สวยงาม มีส่วนโค้งคล้ายกับซุ้มประตูโรมัน ผู้สนใจสามารถขึ้นไปด้านบนท่อส่งน้ำได้ฟรี ในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี (ปลายเดือน พ.ย.) ใบเมเปิ้ลจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง – ส้ม สวยงาม
ท่อส่งน้ำ วัดนันเซนจิ
ใบเมเปิ้ล ใบไม้เปลี่ยนสี
ท่อส่งน้ำ วัดนันเซนจิ
ด้านล่างท่อส่งน้ำ
ด้านบนท่อส่งน้ำ จะเห็นน้ำไหลผ่านไปตามท่อ
3. วัดนันเซนิง (Nanzenin Temple) เป็นวัดย่อยของวัดนันเซนจิ อยู่ถัดจากท่อส่งน้ำ ภายในวัดมีอาคารที่จักรพรรดิ์คาเมะยามา (Emperor Kameyama) สร้างเป็นที่อาศัยหลังจากสละราชสมบัติ, หลุมศพจักรพรรดิ์, ตัวอาคารของวัด และมีสวนญี่ปุ่น ที่เหมาะกับการมาชมช่วงใบไม้เปลี่ยนสี การเข้าชมในวัดนันเซนิงมีค่าเข้าชมคนละ 400 เยน พื้นที่ด้านในไม่กว้างมากใช้เวลาชมประมาณ 15 นาที
วัดนันเซนิง
สวนใบไม้เปลี่ยนสีภายในวัด
ปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่สวยที่สุดของวัดนี้
สวนญี่ปุ่น
น้ำตกเล็กๆ
4. โฮโจ (Hojo) เป็นที่พักของอดีตเจ้าอาวาส จากห้องโถงมองเห็นสวนหิน ซึ่งการเรียงของก้อนหิน มีลักษณะคล้ายกับเสือโคร่ง และ ลูก กำลังข้ามน้ำ และมีภาพวาดบนประตูบานเลื่อน (fusuma) เป็นภาพเสือบนใบไม้สีทอง
การมาเที่ยววัด Nanzen-ji แนะนำให้จัดโปรแกรมเที่ยวคู่กับวัด Eikan-dō เนื่องจากเป็นวัดใกล้กัน ห่างกันเพียง 350 เมตร และถ้ามาถึงวัดประมาณเที่ยง ให้หาซื้ออาหารเที่ยงแบบทานง่ายๆ ติดตัวมาด้วย เช่นข้าวปั้น แซนวิช แฮมเบอร์เกอร์ เพราะแถวนี้ไม่ค่อยมีร้านอาหาร หาทานยาก
การเข้าชม |
ประตูซันมอน: | 8:40 – 17:00 น. ค่าเข้าชม 600 เยน* | |
โฮโจ : | 8:40 – 17:00 น. ค่าเข้าชม 600 เยน* | |
วัดนันเซนิง : | 8:40 – 17:00 น. ค่าเข้าชม 400 เยน* | |
วัดเทงจุอัง : | 8:40 – 17:00 น. ค่าเข้าชม 500 เยน | |
วัดคงจิอิน : | 8:40 – 17:00 น. ค่าเข้าชม 400 เยน | |
* ปิด 28 – 31 ธันวาคม |
การเดินทาง |
รถประจำทาง : | มีรถหมายเลข 5 ผ่านเพียงสายเดียว ลงที่ป้าย Nanzenji, Eikando-michi ผู้มี Kyoto bus One day pass ไม่เสียค่ารถ | |
รถไฟ : | ลงสถานี Keage Station (T09) เดินขึ้นไปทางทิศเหนือฝั่งเดียวกับสถานี ถัดจากสถานีไปไม่กี่สิบเก้า จะมีทางเข้าไปวัดอยู่ด้านขวามือ เป็นอุโมงค์อิฐลอดใต้ทางรถไฟ |
Post Views 3426